ฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศสเมื่อวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) มองถึงโอกาสประวัติศาสตร์ในการจัดตั้งรัฐบาลและยึดครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังคว้าชัยศึกเลือกตั้งรัฐสภารอบแรก ในขณะที่ขุมกำลังฝ่ายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง มาเป็นอันดับ 3 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคเนชันแนล แรลรี (อาร์เอ็น) พรรคขวาจัดของมารีน เลอ แปง จะครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดได้หรือไม่ ในเก้าอี้สมัชชาแห่งชาติ ในศึกเลือกตั้งรอบ 2 วันที่ 7 กรกฎาคม ที่พวกเขาจำเป็นต้องได้มาเพื่อก้าวเข้าสู่อำนาจอย่างแน่นอน
มาครง สร้างความตกตะลึงไปทั่วประเทศ และก่อความงงงวยไม่เว้นกับพันธมิตรบางส่วน ด้วยการประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังจากพรรคอาร์เอ็น ขุมกำลังฝ่ายกลางของเขาปราศรัยในศึกเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
แต่เดิมพันครั้งนี้เสี่ยงเจอไฟย้อนศร ด้วยเวลานี้คาดหมายว่าพันธมิตรของมาครง จะได้คว้าเก้าอี้ได้ในสัดส่วนที่เล็กน้อยมากในรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีรายนี้มีอำนาจน้อยลงกว่าเดิมมากในช่วงเวลาอีก 3 ปีที่เหลือของวาระดำรงตำแหน่ง
จากการประมาณการของบริษัทจัดทำโพลชื่อดังทั้งหลายของฝรั่งเศส คาดการณ์ว่าพรรคอาร์เอ็นจะได้คะแนนโหวต 34.5% ส่วนพันธมิตรนิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ พรรคฝ่ายซ้าย ได้คะแนนเสียงราว 28.5%-29.1% และขุมกำลังฝ่ายกลางของมาครง ได้คะแนนเสียงประมาณ 20.5%-21.5%
สำนักโพลต่างๆ คาดหมายว่าผลดังกล่าวจะเปิดทางให้พรรคอาร์เอ็น ครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติที่มีทั้งหมด 577 ที่นั่ง หลังศึกเลือกตั้งรอบ 2 แต่ไม่ชัดเจนว่าพวกเขาจะได้คว้าเก้าอี้ได้เพียงพอ 289 ที่นั่ง ที่จำเป็นสำหรับครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดหรือไม่
ทั้งนี้ การคาดการณ์ของโพลต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในประเด็นนี้ โดยทาง Ipsos ประมาณการว่าพรรคอาร์เอ็นจะได้คะแนนเสียงราว 230-280 ที่นั่ง โพล Ifop คาดหมายว่าจะได้ 240-270 ที่นั่ง และ Elabe เป็นเพียงสำนักเดียวที่คาดหมายว่าพรรคอาร์เอ็นจะสามารถครองเสียงข้างมากได้อย่างเด็ดขาด ในระดับ 260-310 ที่นั่ง
มาครง ระบุในถ้อยแถลง เรียกร้องพันธมิตรในวงกว้างต่อต้านพวกฝ่ายขวาจัดในศึกเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะเห็นการชิงชัยลงคะแนนแบบตัดเชือกในเขตที่ยังไม่มีผู้คว้าชัยชนะอย่างเด็ดขาดในรอบแรก
พันธมิตรฝ่ายซ้ายและขุมกำลังของประธานาธิบดี คาดหวังว่าการโหวตแบบมียุทธวิธีจะช่วยขัดขวางบรรดาผู้สมัครจากพรรคอาร์เอ็นจากการคว้าชัยชนะ และจะทำให้พรรคอาร์เอ็นพลาดเป้าจากการครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติอย่างเด็ดขาด
ด้วยฝรั่งเศสกำลังเผชิญการเลือกตั้งครั้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากสุดในประวัติศาสตร์เร็วๆ นี้ พบว่ามีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก โดยทางองค์กร Elabe คาดหมายว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิขั้นสุดท้าย 67.5% ถือว่าสูงสุดในรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติปกติทั่วไปในฝรั่งเศส นับตั้งแต่ปี 1981 ขณะที่การเลือกตั้งรอบสุดท้ายหนล่าสุดเมื่อปี 2022 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 47.5%
มาครง บอกว่าตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิในระดับสูงในรอบแรก "เป็นการเน้นย้ำว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญสำหรับเพื่อนผู้ร่วมชาติของเราทุกคน และปรารถนาเห็นความชัดเจนในสถานการณ์ทางการเมือง"
ท่ามกลางสงครามรัสเซียในยูเครน เข้าสู่ปีที่ 3 และราคาพลังงานกับอาหารพุ่งสูงอย่างมาก เสียงสนับสนุนที่มีต่อการต่อต้านคนเข้าเมืองและความเคลือบแคลงต่ออียู ทางพรรคอาร์เอ็นผงาดขึ้นมา แม้ มาครง ให้คำสัญญาว่าจะขัดขวางทุกวิถีทาง
ศึกเลือกตั้งรอบ 2 อาจนำพาฝ่ายขวาขัดก้าวเข้าสู่อำนาจในฝรั่งเศส เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกนาซียึดครองในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดทางให้จอร์แดน บาร์เดลลา หัวหน้าพรรคอาร์เอ็นวัย 28 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในอุปถัมภ์มาช้านานของ มารีน เลอ แปง มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล
"ยังไม่ชนะอะไรและรอบ 2 จะเป็นตัวตัดสินชี้ขาด" เลอ แปง บอกกับผู้สนับสนุน "เราจำเป็นต้องครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด เพื่อที่ จอร์แดน บาร์เดลลา จะได้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเอ็มมานูเอล มาครง ใน 8 วัน"
ส่วน บาร์เดลลา บอกว่าเขาต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสทุกคน
ความเป็นไปได้ของการก้าวสู่อำนาจของพรรคอาร์เอ็น จะก่อช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดกับ มาครง ซึ่งประกาศว่าจะดำรงตำแหน่งไปจนสิ้นสุดวาระในปี 2027 ในขณะที่ บาร์เดลลา บอกว่าเขาจะจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อพรรคอาร์เอ็นคว้าชัยชนะอย่างเด็ดขาดในศึกเลือกตั้ง
ทางเลือกอื่นคือการอยู่ในอัมพาตทางการเมืองเป็นเวลาหลายเดือน ใช้เวลาเจรจาเพื่อหาทางออกสำหรับจัดตั้งรัฐบาลที่ยั่งยืน ที่สามารถรอดพ้นจากการลงมติไม่ไห้วางใจ
การตัดสินใจยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ของมาครง ฉุดประเทศเข้าสู่ความยุ่งเหยิงทางการเมือง และโหมกระพือความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยุโรปแห่งนี้
ตลาดหลักทรัพย์เผชิญกับการดิ่งลงรายเดือนครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปีในเดือนมิถุนายน ปรับลดลงมาถึง 6.4% จากข้อมูลที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (28 มิ.ย.)
(ที่มา : เอเอฟพี)