ผู้ออกเสียงชาวฝรั่งเศสไปใช้สิทธิกันคึกคักในวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างรอบสอง หรือรอบตัดสิน ซึ่งจะชี้ขาดว่าพรรคขวาจัดจะสามารถกวาดเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ หรือแดนน้ำหอมจะเผชิญภาวะไร้ผู้กุมอำนาจเด็ดขาดชัดเจนในฝ่ายนิติบัญญัติ
ตามตัวเลขของกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส เมื่อถึงช่วงเที่ยงวัน ได้มีผู้ออกมาใช้สิทธิแล้วราว 26.63% ถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา
ขณะที่อารมณ์ความรู้สึกในฝรั่งเศสอยู่ในภาวะตึงเครียด โดยที่ตำรวจระดมกำลังกันเป็นจำนวนราว 30,000 คนเข้ารักษาการณ์เตรียมพร้อมเผชิญความยุ่งยากต่างๆ ส่วนผู้ออกเสียงก็กระวนกระวายเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งอาจเป็นเสมือนแผ่นดินไหวที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไปอย่างมโหฬาร
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ประกาศจัดการเลือกตั้งสภาล่างของประเทศหรือที่เรียกกันว่าสมัชชาแห่งชาติ ก่อนกำหนดถึง 3 ปีภายหลังแนวร่วมทางการเมืองที่เป็นฝ่ายสายกลางของเขาพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้กลายเป็นเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูงลิ่ว รวมทั้งสร้างความไม่พอใจกันมากในหมู่พวกผู้สนับสนุนและพันธมิตรของเขา ซึ่งเห็นกันว่ายังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม
ปรากฏว่า ในการเลือกตั้งรอบแรกที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พรรคเนชันแนล แรลลี (อาร์เอ็น) พรรคขวาจัดซึ่งมี มารีน เลอ เปน เป็นผู้นำและมีแนวทางต่อต้านสหภาพยุโรปและต่อต้านผู้อพยพ เป็นผู้ชนะได้รับเสียงมากที่สุด อย่างไรก็ดี มีเขตเลือกตั้งมากกว่า 2 ใน 3 ที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนถึงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ดังนั้นจึงต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองในวันอาทิตย์ (7) คราวนี้ โดยนำผู้ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 ตลอดจนผู้สมัครคนอื่นๆ ซึ่งได้คะแนนถึง 12.5% ในรอบแรกมาแข่งกันอีกครั้ง และครั้งนี้ใครได้ที่ 1 ก็ถือว่าได้ชัยไปเลย ทั้งนี้ อาร์เอ็นอยู่ในฐานะได้เปรียบ โดยมีผู้สมัครได้สิทธิลงแข่งรอบสองมากกว่าพรรคอื่นๆ
ท่ามกลางความหวาดผวาทางการเมืองที่อาจจะได้เห็นฝ่ายขวาจัดได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สัปดาห์ที่แล้ว แคนดิเดตกว่า 200 คนจากแนวร่วมฝ่ายซ้ายและแนวร่วมสายกลางได้ทำข้อตกลงการลงคะแนนเสียงเชิงกลยุทธ์เพื่อขัดขวางไม่ให้อาร์เอ็นได้เสียงข้างมากในสภา เป็นต้นว่า ผู้ที่ได้คะแนนอันดับรองๆ ลงมาจากรอบแรกจะไม่ลงแข่งรอบสอง และบอกให้ผู้ออกเสียงโหวตให้แก่ผู้มีหวังชนะผู้สมัครของอาร์เอ็นมากที่สุด
ภายหลังข้อตกลงดังกล่าว ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า อาร์เอ็นอาจไม่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 289 ที่นั่งสำหรับการครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติซึ่งมีทั้งหมด 577 ที่นั่ง แม้ยังคงเป็นพรรคซึ่งได้ที่นั่งสูงที่สุด
สถานการณ์ดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้มาครงรวบรวมแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเกเบรียล อัตตาล จากแนวร่วมของเขายังคงได้ปฏิบัติหน้าที่ต่ออย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว
ทว่า ในภาวะดังกล่าว ซึ่งหมายถึงรัฐบาลมีเสียงข้างน้อยในสภา อาจทำให้การเมืองฝรั่งเศสเป็นอัมพาตไปอีกนาน ขณะที่กำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิกที่จะเริ่มต้นในวันที่ 26 นี้
อัตตาลเตือนระหว่างให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ (5) ว่า อันตรายในขณะนี้คือพรรคขวาจัดได้เสียงข้างมากในสภาซึ่งหมายถึงหายนะ
โพลในช่วงโค้งสุดท้ายที่ 2 สำนักเผยแพร่เมื่อวันศุกร์คาดการณ์ว่า อาร์เอ็นจะกวาดที่นั่งในสภา 170-210 ที่นั่ง ตามด้วยนิว ป็อปปูลาร์ ฟรอนต์ (เอ็นเอฟพี) ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายซ้าย 145-185 ที่นั่ง และแนวร่วมสายกลางของมาครง 118-150 ที่นั่ง
ทางด้านสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในยุโรป เตือนว่า ฝรั่งเศสกำลังจะเผชิญแผ่นดินไหวทางการเมือง และแม้มาครงควบคุมรัฐบาลได้ภายหลังการเลือกตั้ง แต่ยังต้องเผชิญการติดขัดในการออกกฎหมาย ซึ่งจะบั่นทอนอิทธิพลของฝรั่งเศสในยุโรปและในเวทีโลก
ในส่วนมาครงนั้นประกาศว่า จะบริหารประเทศจนครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในปี 2027 ขณะที่ เลอ เปน บอกว่า ช่วงเวลานั้นคือโอกาสเหมาะที่สุดที่ตนเองจะคว้าชัยชนะเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นความพยายามครั้งที่ 4 ของเธอ
เลอ เปนประณามวิสัยทัศน์ “หนึ่งพรรค” ของมาครงที่ครอบคลุมทั้งพรรคฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่ตัดอาร์เอ็นออก รวมทั้งประณามว่า ชนชั้นสูงของฝรั่งเศสสมรู้ร่วมคิดกับมาครง
อย่างไรก็ตาม หลังจากประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งรอบแรก ทว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย พรรคขวาจัดแห่งนี้เผชิญเรื่องอื้อฉาวหลายระลอกจากบรรดาผู้สมัครของตน ซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ภาพผู้สมัครคนหนึ่งสวมหมวกทหารนาซี
ทั้งนี้ หลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 20.00 น. (ตีหนึ่งวันจันทร์ตามเวลาไทย) คาดว่าจะมีผลการคาดการณ์คะแนนเลือกตั้งที่ใกล้เคียงกับผลลัพธ์จริงมากตามมาในไม่ช้า
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ผู้สมัครและนักเคลื่อนไหวในแคมเปญหาเสียงกว่า 50 คนถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการหาเสียง 4 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาหาเสียงสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, วิกิพีเดีย)