พรรคเนชันแนล แรลลี จะขัดขวางการส่งทหารแดนน้ำหอมเข้าประจำการในยูเครน และห้ามเคียฟใช้อาวุธที่ทางฝรั่งเศสจัดหาให้โจมตีใส่แผ่นดินรัสเซีย หากว่าพวกเขาคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งรัฐสภารอบชี้ขาด และคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของประเทศมาครอง จากคำประกาศของมารีน เลอ แปน อดีตผู้นำพรรค
ความเห็นของเธอเป็นการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนหน้าศึกเลือกตั้งรอบ 2 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) ทั้งนี้ เลอ แปน บ่งชี้ว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการประจำการทหารฝรั่งเศสในยูเครน จะขึ้นอยู่กับนายกรัฐมมนตรี และท่าทีของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะไม่มีความสำคัญใดๆ ในกรณีดังกล่าว แม้ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มาครง พูดซ้ำๆ ว่ากำลังขบคิดเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่เขาใช้ถ้อยคำชวนทะเลาะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องความขัดแย้งยูเครน
"ถ้า เอ็มมานูเอล มาครง ต้องการส่งทหารไปยังยูเครน แต่นายกรัฐมนตรีคัดค้าน เมื่อนั้นก็จะไม่มีทหารถูกส่งไปยังยูเครน นายกรัฐมตรีจะเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย" เลอ แปน กล่าว
เลอ แปน ระบุต่อว่าถ้าพรรคของเธอก้าวเข้าสู่อำนาจ จะมีการห้ามเคียฟจากการใช้อาวุธที่จัดหาให้โดยฝรั่งเศส โจมตีผืนแผ่นดินรัสเซียเช่นกัน โดยอ้างว่าการอนุญาตดังกล่าวจะทำให้ปารีสกลายเป็นผู้ร่วมสงครามในความขัดแย้งนี้
ท่าทีของพรรคแนชันแนล แรลลี แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากบรรดาชาติตะวันตกส่วนใหญ่ ซึ่งอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธของพวกเขาโจมตีลักษณะดังกล่าว โดยอ้างว่ามันจะไม่ทำให้ประเทศของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นปรปักษ์
รัสเซียส่งเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปยังตะวันตกร่วม ต่อการจัดหาอาวุธที่ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ แก่ยูเครน พร้อมเน้นย้ำว่าความคริงคือบรรดาผู้สนับสนุนของยูเครน เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมานานแล้ว และมองว่ามันคือการทำ "สงครามตัวแทน" กับรัสเซีย
คำประกาศของเลอ แปน ก่อความกังวลว่าพรรคของเธออาจใช้มาตรการแบบสุดขั้ว นั่นคือหยุดการสนับสนุนทั้งหมดที่มอบแก่ยูเครน หรือกระทั่งถอนฝรั่งเศสออกจากพันธมิตรทหารนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ ขณะที่สำนักข่าว Euractiv รายงานอ้างแหล่งข่าวนักการทูตหลายคนที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่าความวิตกดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้นในช่วงไม่นานที่ผ่านมา
พรรคเนชันแนล แรลลี (อาร์เอ็น) นำมาเป็นอันดับ 1 ในศึกเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศส คว้าคะแนนเสียงได้ 33% ในศึกเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการยุบสภาของมาครง หลังจากพรรคของเขาประสบความพ่ายแพ้แก่พรรคเนชันแนล แรลลี ในศึกเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว
ทาง Ensemble พรรคสายกลางของมาครง ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ในศึกเลือกตั้งรอบแรก โดยรั้งอันดับ 3 ด้วยคะแนนเสียง 20% ส่วนอันดับ 2 เป็นของพันธมิตรฝ่ายซ้าย ซึ่งกำลังเร่งรีบระดมเสียงสนับสนุนก่อนถึงศึกเลือกตั้งรอบตัดสิน ท่ามกลางผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลบางแห่งที่คาดหมายว่าพรรคอาร์เอ็น จะกวาดเก้าอี้มาได้ทั้งหมด 280 ที่นั่ง จากทั้งหมด 577 ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติ
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น/อาร์ทีนิวส์)