xs
xsm
sm
md
lg

ล้มเหลวไม่เป็นท่า‘แผนยูเครน-ตะวันตก’จัดประชุมสันติภาพที่สวิส แต่ไม่เชิญ‘รัสเซีย’ หวังสร้างมติโลกมาใช้บีบบังคับมอสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สเตฟาน วูลฟ์ และ เทตยานา มัลยาเรนโก


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน พูดถึงแผนการสู่สันติภาพของเขา ต่อที่ประชุมระดับจำกัดวง ระหว่างการประชุมซัมมิตสันติภาพในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา (ภาพถ่ายและเผยแพร่โดยสำนักประธานาธิบดียูเครน)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ukraine summit fails to provide coherent path to peace
By STEFAN WOLFF AND TATYANA MALYARENKO
19/06/2024

พิจารณาจากแง่มุมต่างๆ แทบทั้งหมดแล้ว ผลลัพธ์ของการประชุมซัมมิตสันติภาพยูเครนที่สวิตเซอร์แลนด์คราวนี้คือความน่าผิดหวัง เริ่มตั้งแต่การเข้าร่วมของนานาชาติ อยู่ในลักษณะกะปลกกะเปลี้ยขาดไร้สง่าราศี โดยที่มีรัฐและองค์การระหว่างประเทศเพียง 92 ราย จากที่มีรายงานกันว่าได้เชื้อเชิญไปรวมทั้งหมด 160 รายเท่านั้นซึ่งมาปรากฏตัวเข้าร่วม ขณะที่แถลงการณ์สุดท้ายที่ออกมาก็อยู่ห่างไกลจากความคาดหวังของยูเครนและฝ่ายตะวันตก ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระและในแง่ของผู้ที่ร่วมลงนาม

การประชุมที่เรียกกันว่า “การประชุมซัมมิตว่าด้วยสันติภาพในยูเครน” (Summit on Peace in Ukraine) [1] ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 15 ถึง 16 มิถุนายนที่ผ่านมา คือความล้มเหลวใช่หรือไม่? มันไม่ใช่อย่างแน่นอน ถ้าหากคุณดูที่ปฏิกิริยา [2] ของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน และพวกผู้หนุนหลังจากฝ่ายตะวันตกของเขา ซึ่งยังคงมีน้ำเสียงแห่งความยินดีมีความหวังอย่างชัดเจน นอกจากนั้นเราย่อมสมควรคำนึงถึงอย่างเป็นธรรมด้วยว่า การประชุมซัมมิตครั้งนี้ถึงอย่างไรก็ทำให้ เซเลนสกี สามารถที่จะประคับประคองเรื่องสงครามรัสเซียสู้รบโจมตียูเครน ให้คงอยู่ในลำดับสูงๆ ของวาระระดับระหว่างประเทศเอาไว้ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแง่มุมอื่นๆ แทบทั้งหมดแล้ว ผลลัพธ์ของการประชุมซัมมิตคราวนี้คือความน่าผิดหวัง เริ่มตั้งแต่การเข้าร่วมของนานาชาติ [3] อยู่ในลักษณะกะปลกกะเปลี้ยขาดไร้สง่าราศี โดยที่มีรัฐและองค์การระหว่างประเทศเพียง 92 ราย จากที่มีรายงานกันว่าได้เชื้อเชิญไปรวมทั้งหมด 160 รายเท่านั้นซึ่งมาปรากฏตัวเข้าร่วม ขณะที่แถลงการณ์สุดท้าย [4] ที่ออกมาก็อยู่ห่างไกลจากความคาดหวังของยูเครนและฝ่ายตะวันตก ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระและในแง่ของผู้ที่ร่วมลงนาม

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอย่างจริงจัง เกี่ยวกับอนาคตของการดำเนินกระบวนการสันติภาพโดยที่ปราศจากรัสเซียเข้าร่วมด้วยเช่นนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ซัมมิตครั้งนี้ยังไร้การออกมามีบทบาทของจีนซึ่งขาดหายไม่ได้ปรากฏตัวเลยในสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดจนพวกประเทศสำคัญๆ รายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถึงแม้พวกเขา เหล่านี้ทั้งหมดต่างเข้าร่วมการประชุมก็จริง ทว่าไม่ได้ลงนามในแถลงการณ์สุดท้ายกันทั้งนั้น

วาระการประชุมที่อยู่ในลักษณะจำกัด

ในวาระของการประชุมคราวนี้ มีอยู่ 3 ประเด็นที่เป็นการตอบรับกับสิ่งที่ระบุเอาไว้ในแผนสันติภาพปี 2022 ของประธานาธิบดียูเครน [5] ได้แก่เรื่องความปลอดภัยทางนิวเคลียร์, ความมั่นคงทางด้านอาหาร, และประเด็นด้านมนุษยธรรม ทว่าในแถลงการณ์สุดท้าย [6] ไม่ได้มีการเอ่ยถึงแผนสันติภาพของเซเลนสกีดังกล่าวนี้เลย โดยยังไม่ต้องไปพูดถึงข้อเรียกร้องหลักที่สำคัญที่สุดของเขาในเรื่องให้ทหารรัสเซียถอนออกไปอย่างสมบูรณ์ กระนั้นก็ยังคงสามารถเรียกร้องความสนับสนุนร่วมลงนามจากคณะผู้แทนซึ่งเข้าประชุมได้เป็นจำนวน 84 ราย ห่างไกลจากการก่อให้เกิดเป็นฉันทามติ แล้วบางทีจุดที่กระทั่งน่าจะสำคัญยิ่งกว่านี้เสียอีก ก็คือว่า ไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ในเรื่องที่ว่าจะจัดการประชุมอีกครั้งเพื่อติดตามผลขึ้นมาเมื่อใด

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวการณ์เช่นนี้ขึ้นมา น่าจะเป็นการที่ทั้งเคียฟและพวกพันธมิตรตะวันตกของยูเครนต่างยืนกรานเสียงแข็งว่า แผนการของเซเลนสกีคือแผนสันติภาพอันเดียวเท่านั้นที่วางแบอยู่บนโต๊ะให้พิจารณากัน จากการตั้งข้อกำหนดอย่างตายตัวเช่นนี้ มันก็กลายเป็นการกีดขวางไม่ให้มีการอภิปรายหารือใดๆ เกี่ยวกับข้อเสนออื่นๆ จากฝ่ายที่สาม ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจนถึงตอนนี้ได้มีการเสนอออกมาแล้วถึง 7 รายด้วยกัน

ข้อเสนออื่นๆ ที่ว่านี้ ได้แก่แผนการที่อุปถัมภ์โดย จีน [7], บราซิล [8], อินโดนีเซีย [9], และสำนักวาติกัน [10] นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอที่เผยแพร่ออกมาในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วโดยกลุ่มรัฐในแอฟริกากลุ่มหนึ่ง [11] นำโดยแอฟริกาใต้ เช่นเดียวกับดีลที่หนุนหลังโดยซาอุดีอาระเบีย [12] ซึ่งเสนอเอาไว้ในเดือนสิงหาคม 2023 รวมทั้งข้อเสนอร่วมของจีนกับบราซิล [13] ซึ่งประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ก็ไม่ได้รับการนำมาขบคิดพิจารณากันแต่อย่างไร

ข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมดต่างเป็นแผนการริเริ่มจากฝ่ายที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก โดยจุดโฟกัสสำคัญที่สุดอยู่ที่การหาทางให้บรรลุการตกลงหยุดยิงกัน ทว่าการกระทำเช่นนี้ยังคงถูกยูเครนและประดาหุ้นส่วนฝ่ายตะวันตกของเคียฟมองว่าคือการเอนเอียงเข้าข้างรัสเซีย ทั้งนี้การตกลงหยุดยิงใดๆ ย่อมจะมีผลเป็นการแช่แข็งสงครามครั้งนี้เอาไว้ ณ เส้นแนวหน้าปัจจุบันของมัน และจะกลายเป็นการยอมรับ –อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการชั่วคราว-- ดอกผลทางดินแดนที่รัสเซียยึดเอาไว้ได้ในสมรภูมิ อันรวมไปถึงการที่พวกเขาเข้าผนวกคาบสมุทรไครเมียอย่างผิดกฎหมายในปี 2014 ด้วย

รัสเซียยืนกรานฐานะความได้เปรียบของตน

เวลาเดียวกันนี้เอง วลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกมาเน้นย้ำอย่างหนักแน่น [14] ถึงข้อเรียกร้องต้องการในเรื่องดินแดนของเขา ขณะที่พวกผู้แทนทั้งหลายกำลังเดินทางไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเข้าร่วมการประชุมสันติภาพคราวนี้อยู่นั้น ประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้ก็ได้เผยแพร่ข้อเรียกร้องชุดหนึ่งซึ่งอยู่ในลักษณะที่เรียกร้องต้องการอะไรเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เคียฟไม่เพียงต้องยอมสละดินแดนทั้งหมดที่ถูกกองทหารรัสเซียในยูเครนยึดครองเอาไว้ในเวลานี้เท่านั้น แต่ต้องยอมทิ้งดินแดนทั้งหมดของ 4 แคว้นที่รัสเซียประกาศผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนในเดือนกันยายน 2022 เมื่อตอนที่พวกเขาจัดการลงประชามติแบบลวงโลก [15] ขึ้นใน โดเนตสก์ (Donetsk), ลูฮันสก์ (Luhansk), เคียร์ซอน (Kherson), และ ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) และแน่นอนว่า ตามฉากทัศน์ที่ ปูติน ประกาศออกมาคราวนี้ รัสเซียยังจะได้ไครเมียไปครอบครองอีกด้วย

นี่เป็นสิ่งที่ห่างไกลอย่างสุดกู่จากจุดสำคัญที่สุดในแผนการสันติภาพดั้งเดิมของเซเลนสกี [16] และจากญัตติสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2022 [17] ซึ่งเรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกไปอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เวลานี้ชาวยูเครนประมาณ 58% ยังคงสนับสนุน [18] ให้ปฏิเสธไม่ยอมรับการประนีประนอมใดๆ ในประเด็นนี้ ถึงแม้สัดส่วนนี้มันจะต่ำลงมาแล้วจากแรงสนับสนุนอันน่าประทับใจ นั่นก็คือ กว่า 80% จากผลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2023

แถลงการณ์สุดท้ายของการประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ [19] มีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นการสะท้อนจุดยืนทำนองเดียวกัน ทว่าจากสิ่งที่ปรากฏออกมาจริงๆ อย่างดีที่สุดก็เรียกได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นที่เจือจางคลายความเข้มข้นลงมาอย่างมาก โดยที่มีการอ้างอิงถึงกฎบัตรสหประชาติ และหลักการว่าด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของทุกๆ รัฐ รวมทั้งยูเครนด้วย

การที่แถลงการณ์สุดท้ายไม่มีการตั้งข้อเรียกร้องอย่างเปิดเผยชัดเจนให้รัสเซียถอนทหารออกไป ตลอดจนการอ้างอิงถึงหลักการทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องนี้อาจหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่า ยูเครนและพวกหุ้นส่วนชาติตะวันตกของเคียฟพยายามที่จะทำให้คำประกาศตอนสิ้นสุดการประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์นี้ อยู่ในสภาพซึ่งน่าพึงพอใจมากขึ้นสำหรับให้ฝ่ายอื่นๆ ยอมรับและยอมสนับสนุน

ถ้อยคำเช่นนี้ทำให้มีช่องทางกว้างขวางขึ้นอีกสำหรับการประนีประนอมกันในการเจรจาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมทั้งไม่มีการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงในเรื่องที่เคียฟอาจจะยอมสละดินแดน

ทว่ากระทั่งเวอร์ชั่นที่เจือจางลงไปมากแล้วเช่นนี้ ก็ยังคงไม่สามารถดึงดูดความสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ของพวกคณะผู้แทนที่กำลังเข้าร่วมประชุมทั้ง 100 ราย [20] ได้ เหตุผลสำหรับความล้มเหลวครั้งนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ฝ่ายตะวันตกโดยรวม –ซึ่งที่สำคัญคือ กลุ่มจี7, นาโต้, และอียู— จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ยังคงยืนหยัดมั่นคงเหนียวแน่นในการให้ความสนับสนุนยูเครนและแผนการสันติภาพของเซเลนสกี และยอมรับเพียงเฉพาะแผนการสันติภาพของเซเลนสกีเท่านั้น

ความสนับสนุนของตะวันตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่อเนื่อง

ความสนับสนุนเช่นว่านี้ ได้รับการย้ำยืนยืนหนล่าสุดในแถลงการณ์ของบรรดาผู้นำ [21] ณ การประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 ซึ่งจัดขึ้นที่แคว้นปุลยา (Puglia) ทางภาคใต้ของอิตาลี ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายนที่ผ่านมา

แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวนี้ระบุว่า กลุ่ม จี7 ร่วมมือร่วมใจกัน “สนับสนุนหลักการและวัตถุประสงค์สำคัญๆ ของสูตรมุ่งไปสู่สันติภาพของประธานาธิบดีเซเลนสกี” อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้กลับบ่งบอกให้เห็นว่า ฝ่ายตะวันตกกำลังส่งข้อความที่น้ำหนักอ่อนปวกลงมา เมื่อเปรียบเทียบกับคำแถลงของระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม จี7 [22] ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ซึ่งมีการพูดชัดๆ ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสันติภาพขึ้น หากปราศจากการที่รัสเซียถอนทหารออกไปอย่างไม่มีเงื่อนไข

แต่จะยังไงก็ตามที วิธีการในปัจจุบันที่ยูเครนและฝ่ายตะวันตกใช้อยู่ อย่างดีที่สุดน่าจะเป็นการเดินหน้าไปตามความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงใหม่ที่เกิดขึ้น สำหรับในตอนนี้ จุดยืนของรัสเซีย [23] ในสมรภูมิ และภายในแวดวงการทูตระหว่างประเทศ ต้องถือว่ามีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะต้านทานการเรียกร้องให้ยุติสงครามบนเงื่อนไขของฝ่ายตะวันตกและฝ่ายยูเครน

อย่างเลวร้ายที่สุด วิธีการในปัจจุบันก็อาจจะนำพายูเครนไปสู่ทางตัน ในท่ามกลางความสนับสนุนของฝ่ายตะวันตก ซึ่งยังคงอยู่ในลักษณะถ้อยคำโวหารมากกว่าความเป็นจริงที่จับต้องได้ กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ยังไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์ด้วย ทั้งๆ ที่ในช่วงใกล้ๆ นั้นเอง เขาไปยุโรปเพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิต จี7 ข้อเท็จจริงก็คือ นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดา เป็นผู้นำ จี7 เพียงคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ตลอด 2 วันของการประชุมครั้งนี้ [24]

เวลาเดียวกัน โมเมนตัมในหมู่ประเทศอื่นๆ ของโลก ดูเหมือน [25] กำลังรวมตัวกันอยู่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอสันติภาพร่วมของจีน-บราซิลที่ประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้

บางทีเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใดก็คือ ยูเครนยังคงกำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ในสมรภูมิ ฝีก้าวอันล่าช้าของการจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารของฝ่ายตะวันตก และการมีเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ติดมากับความช่วยเหลือเหล่านี้ ยังคงกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้น [26] ความสามารถในการป้องกันของฝ่ายยูเครน

แล้วกฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับแก้ไขปรับปรูงใหม่ของยูเครน ยังกำลังก่อให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศอย่างล้ำลึก [27] และได้รับความสนับสนุน [28] จากประชากรน้อยกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศซึ่งอยู่ในสภาพมีกำลังทหารไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันนั้น โครงข่ายกระแสไฟฟ้าของยูเครนยังกำลังได้รับความเสียหายหนักหน่วง [29] จากการโจมตีของรัสเซีย

ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์ของการประชุมซัมมิตที่สวิส จึงยากที่จะเป็นเครื่องหนุนส่งเพิ่มพูนขวัญกำลังใจอย่างที่ชาวยูเครนต้องการอยู่ในเวลานี้ ตรงกันข้าม มันควรที่จะถูกพิจารณากันทั้งในเคียฟและตามเมืองหลวงของชาติตะวันตกอื่นๆ ว่า นี่คือสัญญาณอย่างหนึ่งซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ปัจจุบันของพวกเขาไม่ได้เสนอหนทางที่ชัดเจนใดๆ สำหรับการมุ่งไปสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและมีความมั่นคง โดยที่ –ในปัจจุบัน— ดูแล้ว คือเป็นสิ่งที่ยูเครนจะบรรลุถึงได้ก็ด้วยผ่านการสู้รบในสมรภูมิ

สเตฟาน วูลฟ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม, สหราชอาณาจักร ขณะที่ เทตยานา มัลยาเรนโก เป็นศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงของยุโรป ฌอง มอนเนต์ (Jean Monnet Professor of European Security) ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ “สถาบันกฎหมายโอเดสซา” (National University “Odesa Law Academy”) เมืองโอเดสซา, ยูเครน

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/ukraine-summit-fails-to-provide-a-path-to-peace-for-kyiv-and-its-allies-232608

ทั้งนี้ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น แถลงเปิดเผยผลประโยชน์และความเกี่ยวข้องของผู้เขียนทั้งสอง ในหัวข้อที่ทั้งคู่เขียนถึงในบทความชิ้นนี้ ดังนี้:

สเตฟาน วูลฟ์ ในอดีตเคยเป็นผู้รับเงินทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าจาก สภาวิจัยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของสหราชอาณาจักร (Natural Environment Research Council of the UK), สถาบันสันติภาพของสหรัฐฯ (United States Institute of Peace), สภาวิจัยเศรษฐกิจและสังคมของสหราชอาณาจักร (Economic and Social Research Council of the UK), ราชบัณฑิตยสภาสหราชอาณาจักร (British Academy), โปรแกรมวิทยาศาสตร์เพื่อสันติภาพ องค์การนาโต้ (NATO Science for Peace Programme), โปรแกรมกรอบโครงอียู 6 และ 7 และขอบเขต ปี 2020 (EU Framework Programmes 6 and 7 and Horizon 2020), โปรแกรม ฌอง มอนเนต์ ของอียู (EU's Jean Monnet Programme) เขายังเป็นผู้ดูแล (Trustee) คนหนึ่ง และเหรัญญิกกิตติมศักดิ์ (Honorary Treasurer) ของสมาคมการเมืองศึกษาแห่งสหราชอาณาจักร (Political Studies Association of the UK), และเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ศูนย์นโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policy Centre) ในกรุงลอนดอน

เทตยานา มัลยาเรนโก รับเงินทุนจากมูลนิธิอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลดท์ (Alexander von Humboldt Foundation) และโปรแกรม ฌอง มอนเนต์ ของสหภาพยุโรป (Jean Monnet Programme of the European Union)

เชิงอรรถ

[1]https://www.eda.admin.ch/eda/en/fdfa/fdfa/aktuell/dossiers/konferenz-zum-frieden-ukraine.html
[2]https://www.bbc.co.uk/news/articles/cxrr1kyp04eo
[3]https://www.eda.admin.ch/content/dam/eda/en/documents/aktuell/dossiers/summit-on-peace-in-ukraine/list-of-states-and-organizations.pdf
[4]https://www.eda.admin.ch/eda/en/fdfa/fdfa/aktuell/dossiers/konferenz-zum-frieden-ukraine/Summit-on-Peace-in-ukraine-joint-communique-on-a-peace-framework.html
[5]https://www.reuters.com/world/europe/what-is-zelenskiys-10-point-peace-plan-2022-12-28/
[6]https://www.eda.admin.ch/eda/en/fdfa/fdfa/aktuell/dossiers/konferenz-zum-frieden-ukraine/Summit-on-Peace-in-ukraine-joint-communique-on-a-peace-framework.html
[7]https://www.fmprc.gov.cn/eng/wjdt_665385/2649_665393/202302/t20230224_11030713.html
[8] https://www.reuters.com/world/brazils-lula-calls-peace-group-broker-ukraine-russia-deal-2023-04-16/
[9]https://www.iiss.org/globalassets/media-library---content--migration/files/shangri-la-dialogue/2023/provisional-transcripts/p-3/general-retd-prabowo-subianto-minister-of-defense-indonesia---as-delivered.pdf
[10] https://www.pillarcatholic.com/p/has-the-zuppi-mission-stalled
[11] https://issafrica.org/iss-today/african-peace-mission-one-step-forward-one-step-back
[12] https://www.politico.eu/article/saudi-arabia-jeddah-ukraine-war-middleman-russia-pariahpeacemaker/
[13] https://www.gov.br/planalto/en/latest-news/2024/05/brazil-and-china-present-joint-proposal-for-peace-negotiations-with-the-participation-of-russia-and-ukraine
[14]http://en.kremlin.ru/events/president/news/74285
[15] https://theconversation.com/ukraine-war-west-condemns-sham-referendums-in-russian-occupied-areas-191432
[16]https://www.reuters.com/world/europe/what-is-zelenskiys-10-point-peace-plan-2022-12-28/
[17] https://daccess-ods.un.org/access.nsf/Get?OpenAgent&DS=A/RES/ES-11/1&Lang=E
[18] https://mobiliseproject.com/wp-content/uploads/2022/06/mobilise-project-mayjune-2024-survey-of-the-ukrainian-population-technical-report_20240610.pdf
[19]https://www.eda.admin.ch/eda/en/fdfa/fdfa/aktuell/dossiers/konferenz-zum-frieden-ukraine/Summit-on-Peace-in-ukraine-joint-communique-on-a-peace-framework.html
[20]https://www.eda.admin.ch/content/dam/eda/en/documents/aktuell/dossiers/summit-on-peace-in-ukraine/list-of-states-and-organizations.pdf
[21] https://www.g7italy.it/wp-content/uploads/Apulia-G7-Leaders-Communique.pdf
[22]https://www.mofa.go.jp/files/100578225.pdf
[23] https://theconversation.com/why-vladimir-putin-seems-stronger-now-than-he-was-a-year-ago-230362
[24]https://www.swissinfo.ch/eng/foreign-affairs/real-peace-closer-for-ukraine-despite-lack-of-consensus-at-swiss-summit/80839798
[25]https://www.reuters.com/world/china-pushes-rival-ukraine-peace-plan-before-swiss-summit-diplomats-say-2024-06-13/
[26]https://understandingwar.org/backgrounder/putins-safe-space-defeating-russias-kharkiv-operation-requires-eliminating-russias
[27]https://www.bbc.co.uk/news/articles/cz994d6vqe5o
[28] https://mobiliseproject.com/wp-content/uploads/2022/06/mobilise-project-mayjune-2024-survey-of-the-ukrainian-population-technical-report_20240610.pdf
[29]https://www.reuters.com/business/energy/russian-attacks-that-have-pounded-ukraines-power-facilities-2024-06-14/
กำลังโหลดความคิดเห็น