(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Most Israelis dislike Netanyahu but back his Gaza war
By ARIE PERLIGER 24/05/2024
แรงกดดันจากสาธารณชนอาจบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งในท้ายที่สุด โดยที่ชาวอิสราเอลจำนวนมากยังคงมองว่าเขาจะต้องแสดงความรับผิดชอบสำหรับความล้มเหลวที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ขึ้นมา
แปดเดือนหลังจากอิสราเอลรุกรานเข้าสู่ดินแดนฉนวนกาซา พวกนักวิพากษ์วิจารณ์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายทหารของอิสราเอลยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายของพวกเขาได้สำเร็จ ไม่ว่าในเรื่องการทำลายกลุ่มฮามาส หรือการช่วยแหลือพวกตัวประกันทั้งหมดที่เหลืออยู่ 113 คน [1] ซึ่งพวกฮามาสยังคงควบคุมตัวเอาไว้
กระนั้นก็ตาม สองในสามของชาวอิสราเอลยังคงให้ความสนับสนุนวิธีการที่ฝ่ายทหารของพวกเขาใช้อยู่ [2] ในกาซา ซึ่งมุ่งเน้นที่การใช้ความแข็งกร้าวรุกราน [3] –โดยรวมไปถึงการจำกัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม [4] ที่ให้แก่ชาวปาเลสไตน์ด้วย
แต่ในเวลาเดียวกับที่ชาวอิสราเอลจำนวนมากสนับสนุนการสงครามในกาซาของฝ่ายทหาร ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ที่สุดก็สูญเสียความเชื่อมั่นในคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู และปรารถนาที่จะได้เห็น [5] คณะผู้นำทางการเมืองชุดใหม่
ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาเรื่องการเมืองของอิสราเอลมาเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ [6] ผมมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจว่า มีส่วนประกอบอะไรบ้างที่เข้ามามีส่วนอยู่ในความคิดจิตใจร่วมโดยรวมของชาวอิสราเอล นั่นแหละจึงจะสามารถอธิบายพลวัตและทัศนะที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเองเหล่านี้ได้
ความรู้สึกซึ่งแสนคุ้นเคยที่ว่าถูกข่มเหงรังแกตลอดมา
กลุ่มนักรบฮามาสสังหารผู้คนไปประมาณ 1,200 คนในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และจับเอาตัวประกันอีก 240 คน [7] กลับไปยังกาซา
การฆาตกรรมและการทำลายล้างชุมชนหลายๆ แห่งในภาคใต้อิสราเอลกันทั้งชุมชน ทำให้ชาวอิสราเอลรู้สึกช็อก รู้สึกตัวเองอ่อนแอ และไม่มีความมั่นคงปลอดภัย การโจมตีเหล่านี้ยังเตือนให้ชาวอิสราเอลระลึกว่าประเทศของพวกเขาเผชิญหน้าภัยคุกคามต่อการดำรงคงอยู่ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจำเป็นต้องกำจัดให้สูญสลายไปให้ได้ในทุกๆ หนทางที่สามารถกระทำได้ [8]
ชาวยิวเป็นผู้ที่ถูกข่มเหงรังแกมาอย่างยาวนาน ย้อนหลังไปได้ตั้งแต่ยุคสมัยคัมภีร์ไบเบิล (biblical era) จนกระทั่งการทำลายชาวยิวของพวกนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิชาการบางคนเรียกความรู้สึกซึ่งเหมือนกับตนเองตกอยู่ในความเสี่ยงที่กำลังจะถูกข่มเหงรังแกอยู่เรื่อยๆเช่นนี้ว่า “กลุ่มอาการโรคมาซาดา” (Masada syndrome) [9]
มาซาดา เป็นป้อมปราการโบราณในภาคใต้ของอิสราเอล โดยเป็นสถานที่ซึ่งอาณาจักรอิสราเอลยุคก่อนทำสงครามต่อสู้กับกองทัพจักรวรรดิโรมันเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 73 [10] มาซาดาในที่สุดแล้วก็ถูกทำลายล้าง และประชากรชาวยิวทั้งหมดของที่นี่ต่างฆ่าตัวตายเพื่อหลบเลี่ยงการถูกพวกโรมันจับกุมเอาตัวไปเป็นทาส หลังจากนั้นมาชาวยิวก็สูญเสียเอกราชทางการเมืองพวกเขาไปเป็นเวลาเกือบๆ 2,000 ปี จวบจนกระทั่งมีการสถาปนาประเทศอิสราเอลขึ้นมาในปี 1948
เรื่องราวของเมืองมาซาดา ยังคงถูกสอนและเป็นที่จดจำกันไว้ในอิสราเอล [11] ในฐานะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกกันเอาไว้ว่าประชาชนชาวยิวไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยความเมตตากรุณาหรือความช่วยเหลือของประเทศอื่นใดอย่างเทใจให้เต็มที่ได้ –และอัตลักษณ์ของชาวยิวตลอดจนความเป็นอิสระของชาวยิว [12] นั้น เป็นสิ่งที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจะถูกข่มเหงรังแกอยู่เสมอ เป็นเวลานานมาแล้วที่กองทัพอิสราเอล ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า กองกำลังป้องกันชาวอิสราเอล (Israeli Defense Forces) ขึ้นไปจัดพิธีรับตำแหน่งสำคัญต่างๆ กันที่ป้อมปราการโบราณแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในลานที่ราบสูงข้างบนสุดของหินขนาดยักษ์ก้อนหนึ่ง นอกจากนั้น มาซาดา ยังถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งอีกด้วย
อย่างที่ข้อความเฉลิมฉลองข้อความหนึ่งซึ่งใช้ในระหว่างเทศกาลวันหยุดปัสกา (Passover) ของชาวยิว กล่าวไว้ว่า “Each and every generation they rise up against us to destroy us.” [13] (แต่ละรุ่นอายุและทุกๆ รุ่นอายุ พวกเขาเติบโตขึ้นมาต่อสู้กับเราเพื่อทำลายเรา)
(หมายเหตุผู้แปล-เทศกาลปัสกา หรือ Passover เป็นเทศกาลที่ชาวยิวระลึกถึงเรื่องราวเล่าขานที่ว่าพระเจ้าทรงนำพวกเขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ ในช่วงประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%84%E0%B8%B2)
ในช่วงไม่กี่สิบปีหลังๆ มานี้ กลุ่มอาการโรคมาซาดา เป็นสิ่งที่ถูกนำมากล่าวเน้นย้ำกันน้อยลงในหมู่ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ เหตุผลส่วนหนึ่งของเรื่องนี้เป็นเพราะว่าจวบจนกระทั่งถึงเมื่อเร็วๆ นี้เอง การสู้รบขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์อยู่ในสภาพค่อนข้างเงียบเชียบภายหลังจาก “อินติฟาดาครั้งที่สอง” (the second intifada) [14] ซึ่งหมายถึงการลุกฮือขึ้นมาอย่างรุนแรงของชาวปาเลสไตน์ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ยิ่งกว่านั้นอิสราเอลยังได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับพวกประเทศอาหรับหลายราย [15] เป็นต้นว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, และโมร็อกโก ในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา
เหตุการณ์โจมตีภาคใต้อิสราเอลในเดือนตุลาคมปี 2023 ส่งผลทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจระดับชาติที่แผ่ลามไปอย่างกว้างขวาง [16] และผลักดันให้ชาวอิสราเอลจำนวนมากหันกลับมายอมรับความคิดจิตใจแบบมาซาดากันอีกครั้งหนึ่ง [17]
กลับมาโดดเดี่ยวอีก
การตอบสนองของทั่วโลกต่อเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งผลักดันให้ชาวอิสราเอลจำนวนมากถอยกลับไปหาความรู้สึกเก่าๆ ที่ว่าตนเองถูกข่มเหงรังแกอยู่โดยตลอด รวมทั้งมีความรับรู้ความเข้าใจขึ้นมาใหม่ว่าจำเป็นที่จะพยายามป้องกันตนเองโดยอาศัยตนเองเป็นสำคัญ
ขณะที่สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, และฝรั่งเศส ต่างออกมาแสดงความสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งแรง เพียงไม่นานหลังจากวันที่ 7 ตุลาคม แต่ประเทศอื่นๆ [18] อย่างเช่นรัสเซียและจีน ไม่ได้ประณามการโจมตีของพวกฮามาสเลย [19]
เช่นเดียวกับที่พวกผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติต้องใช้เวลานานถึงราวๆ 5 เดือน [20] กว่าจะรับทราบรับรองว่ามีการใช้ความรุนแรงในทางเพศอย่างเป็นระบบในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคมด้วย [21]
เรื่องที่ทำให้ชาวอิสราเอลตกอยู่ในสภาพถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก ได้แก่การที่พวกเขาพากันปฏิเสธกันอย่างกว้างขวางไม่ยอมรับว่าอิสราเอลกำลังประกอบอาชญากรรมสงคราม [22] อย่างที่ (ทางอัยการของ) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) [23] ตั้งข้อกล่าวหาเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ ในตอนที่เสนอขอให้ (คณะผู้พิพากษาของ ICC) ออกหมายจับ เนทันยาฮู และรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล โยอัฟ กัลป์ลันต์ (Yoav Gallant) [24] ยิ่งกว่านั้นยังมีชาวอิสราเอลบางส่วนตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารในเรื่องจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต [25]ไปในกาซา
ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ที่สุดมองข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหล่านี้ ว่าเป็นตัวอย่างของการที่ทั่วโลกมีอคติมุ่งต่อต้านอิสราเอล ตลอดจนมองว่าเป็นรูปแบบใหม่ของลัทธิต่อต้านยิว
ตัวเนทันยาฮูก็มีการฉวยใช้ประโยชน์จากความรู้สึกของการถูกข่มเหงรังแกเหล่านี้ ทั้งเพื่อการสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้แก่สงครามของอิสราเอลในกาซา และเพื่อลดทอนน้ำหนักเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ก็ตามที [26] ต่อความเป็นผู้นำของเขาเอง
ความตกต่ำย่ำแย่ของเนทันยาฮู
ตั้งแต่สงครามในกาซาเริ่มต้นขึ้นมา ผลโพลวัดความคิดเห็นของสำนักต่างๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าชาวอิสราเอลให้ความสนับสนุนลดน้อยลงเรื่อยๆ แก่พวกพรรคการเมืองแนวทางอนุรักษนิยมซึ่งมารวมตัวกันเป็นคณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของเนทันยาฮู [27]
โพลที่จัดทำกันในเดือนพฤษภาคม 2024 รายหนึ่ง ระบุว่าถ้าหากจัดการเลือกตั้งกันในวันนี้ พรรคของเนทันยาฮูจะสูญเสียที่นั่งซึ่งมีอยู่ในรัฐสภาอิสราเอลไปเกือบๆ 40% ทีเดียว [28] โพลรายเดียวกันนี้ยังพบว่ามีชาวอิสราเอลเพียงแค่ 35% เท่านั้นที่คิดว่าเนทันยาฮูมีความเหมาะสมควรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
ในเดือนมกราคม มีชาวอิสราเอลเพียงแค่ 15% เท่านั้นที่คิดว่าเนทันยาฮูสมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป [29]
มีปัจจัยหลายๆ ประการที่ช่วยอธิบายการที่ชาวอิสราเอลให้ความสนับสนุนโดยรวมแก่นโยบายต่างๆ ในกาซาของเนทันยาฮู ทว่ากลับไม่ให้ความไว้วางใจเขาในฐานะนักการเมืองและในฐานะผู้นำ กันมากขึ้นเรื่อยๆ
ประการแรกทีเดียว ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ที่สุดประณามคณะรัฐบาลเนทันยาฮู สำหรับการเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคมขึ้นมา [30] พวกเขามองเนทันยาฮูว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบคนสำคัญที่สุดสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า อิสราเอลไม่ได้มีการจัดการอะไรกับเรื่องที่กลุ่มฮามาสกำลังสร้างเสริมสมรรถนะทางการทหารของพวกเขาให้แข็งแกร่งขึ้นทุกทีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งมีการสร้างอุโมงค์ใต้ดินต่างๆ ขึ้นในกาซาด้วย
ก่อนหน้าวันที่ 7 ตุลาคม อันที่จริงในอิสราเอลยังเกิดประเด็นปัญหาซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่โต นั่นคือ การที่เนทันยาฮูพยายามบ่อนทำลายความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการของประเทศ [31] และผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อปี 2023 [32] ซึ่งมุ่งจำกัดอำนาจของศาลในการใช้อำนาจตุลาการวินิจฉัยร่างกฎหมายและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล แล้วเรื่องนี้ได้จุดประกายให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางขึ้นมาในอิสราเอล [33]
ชาวอิสราเอลยังมีความกังวลว่าวิธีการในการดำเนินสงครามของเนทันยาฮู –และการไร้ความสามารถที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อปล่อยตัวประกัน หรือในการทำความตกลงเพื่อการหยุดยิงในบางรูปแบบ— อาจเป็นผลมาจากความปรารถนาของเขาที่มุ่งหาทางครองอำนาจต่อไปเป็นสำคัญ เวลานี้เนทันยาฮูกำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นจำนวนมาก และต้องการที่จะให้ชะลอการไต่สวนความผิดคดีอาญาเหล่านี้ออกไป [34] –โดยที่ทีมทนายความแก้ต่างของเขาอ้างเหตุผล [35]ว่า สงครามครั้งนี้ทำให้เขาแทบไม่มีเวลาใส่ใจกับการไต่สวนดำเนินคดีเหล่านี้เลย นอกจากนั้นเนทันยาฮูยังต้องการเอาอกเอาใจพวกผู้สนับสนุนปีกขวาหัวรุนแรงของเขา ซึ่งต้องการให้สงครามยังคงดำเนินต่อไปอีก
ความวิตกกังวลของชาวอิสราเอลเกี่ยวกับเนทันยาฮูในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการแสดงออกให้ปรากฏในรูปของการชุมนุมเดินขบวนของผู้คนจำนวนมาก [36] ซึ่งปะทุขึ้นตามเมืองต่างๆ ของอิสราเอล ผู้ประท้วงเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งพวกครอบครัวของตัวประกันด้วย กำลังเรียกร้องให้เนทันยาฮูบรรลุข้อตกลงซึ่งจะนำไปสู่การปลดปล่อยตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ –แม้กระทั่งนั่นหมายความถึงการต้องยินยอมที่จะทำข้อตกลงหยุดยิงในระยะยาวก็ตามที
อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่าผู้ประท้วงเหล่านี้คือคนส่วนข้างมากของมติมหาชนหรือไม่ –และเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องไม่นำเอาการประท้วงเช่นนี้ไปปะปนสับสนกับความปรารถนาของชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ซึ่งยังคงต้องการเห็นกลุ่มฮามาสประสบความพ่ายแพ้
ฉากทัศน์ที่อาจเป็นไปได้เกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าของอิสราเอล
เส้นทางก้าวไปข้างหน้าของอิสราเอลยังคงไม่มีความชัดเจน และจะได้รับอิทธิพลชักนำจากประเด็นปัญหาสองสามประการ แรงกดดันจากสาธารณชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนทันยาฮู อาจบังคับให้เขาต้องยอมแสดงความรับผิดชอบในท้ายที่สุด สำหรับความล้มเหลวที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุโจมตี 7 ตุลาคมขึ้นมา และลาออกจากตำแหน่งไป
การชุมนุมเดินขบวนของชาวอิสราเอลที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกที โดยมุ่งเรียกร้องให้เขาลาออกไป [37] แสดงให้เห็นว่าฉากทัศน์เช่นว่านี้เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในเวลาเดียวกัน แรงกดดันของนานาชาติที่แรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้อิสราเอลยุติสงครามของพวกเขาในกาซา อาจจะนำพาให้เนทันยาฮูต้องมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นกับพวกสมาชิกฝ่ายขวาจัด [38] ในคณะรัฐบาลผสมของเขา จนกระทั่งในที่สุดเป็นสาเหตุทำให้เกิดความแตกแยกในคณะรัฐบาลของเขา และการหล่นลงจากอำนาจของตัวเขา
ฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ประการสุดท้ายก็คือ ความเป็นไปได้ที่สงครามจะขยายตัวออกไปจนกลายเป็นการสู้รบขัดแย้งระดับภูมิภาคที่มีขอบเขตกว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงพลวัตปัจจุบันของภูมิภาคอย่างชนิดมโหฬารในหนทางต่างๆ ที่ยังคงยากลำบากแก่การทำนายพยากรณ์ กระนั้นก็ตาม พัฒนาการนี้อาจบังคับให้อิสราเอลต้องยุติในสงครามในกาซา เพื่อหันไปรับมือกับภัยคุกคามทางทหารอื่นๆ ที่ปรากฏขึ้นมา
อารี เพอร์ลิเกอร์ เป็นอาจารย์ และ ผู้อำนวยการของโปรแกรมบัณฑิตวิทยาลัย ใน ศูนย์ศึกษาความมั่นคง (Security Studies) แห่งคณะอาชญวิทยาและการยุติธรรมศึกษา (School of Criminology and Justice Studies) มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ โลเวลล์ (UMass Lowell)
เขาสำเร็จการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ทั้งในปริญญาตรี, ปริญญาโท, และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยไฮฟา (University of Haifa) เมืองไฮฟา ประเทศอิสราเอล
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ https://theconversation.com/most-israelis-dislike-netanyahu-but-support-the-war-in-gaza-an-israeli-scholar-explains-whats-driving-public-opinion-230046
เชิงอรรถ
[1] https://www.haaretz.com/israel-news/2024-04-05/ty-article/.premium/after-six-months-few-of-the-israel-gaza-wars-goals-have-been-achieved/0000018e-aa80-d029-a78f-faa25a8a0000
[2] https://www.haaretz.com/israel-news/2024-05-16/ty-article/.premium/october-7-convinced-israelis-the-occupation-is-inevitable-the-opposite-is-true/0000018f-80da-d430-a38f-c5fe949a0000
[3] https://en.idi.org.il/articles/52085
[4] https://en.idi.org.il/articles/52976
[5] https://time.com/6565092/benjamin-netanyahus-collapsing-support/
[6]https://scholar.google.com/citations?user=xBQYKHwAAAAJ&hl=en
[7]https://www.reuters.com/world/middle-east/israeli-military-opens-probe-into-reports-oct-7-friendly-fire-deaths-2024-02-06/#:%7E:text=Around%201%2C200%20Israelis%20and%20foreigners,240%20people%20were%20taken%20hostage.
[8]https://www.nytimes.com/2023/11/10/opinion/ezra-klein-podcast-yossi-klein-halevi.html
[9]https://doi.org/10.1080/13629395.2016.1151136
[10]https://press.princeton.edu/ideas/masada-a-heroic-last-stand-against-rome
[11] https://www.jstor.org/stable/3791494
[12] https://www.jstor.org/stable/3791494
[13]https://www.sefaria.org/sheets/32448?lang=bi
[14]https://www.britannica.com/place/Israel/The-second-intifada
[15]https://www.britannica.com/topic/Abraham-Accords
[16]https://theconversation.com/holocaust-comparisons-are-overused-but-in-the-case-of-hamas-oct-7-attack-on-israel-they-may-reflect-more-than-just-the-emotional-response-of-a-traumatized-people-218009
[17]https://www.politico.eu/article/israels-trauma-was-compounded-by-talk-of-an-existential-threat/
[18]https://www.timesofisrael.com/liveblog_entry/us-appalled-that-security-council-resolution-doesnt-condemn-hamas-for-october-7/
[19]https://thehill.com/policy/international/4280245-us-among-14-countries-to-vote-against-un-resolution-on-israel-hamas-truce/
[20]https://press.un.org/en/2024/sc15621.doc.htm
[21]https://www.timesofisrael.com/liveblog_entry/after-8-weeks-un-women-condemns-hamas-for-oct-7-onslaught-expresses-alarm-over-accounts-of-sexual-assault/
[22]https://www.pbs.org/newshour/world/israel-rejects-genocide-charges-claims-legitimate-self-defense-at-united-nations-top-court
[23]https://www.nytimes.com/2024/05/20/world/middleeast/icc-arrest-warrants-israel-hamas.html
[24]https://www.bbc.com/news/articles/c9eev88xy59o
[25] https://www.jpost.com/israel-hamas-war/article-801433
[26]https://www.timesofisrael.com/netanyahu-likens-us-campus-encampments-by-antisemitic-mobs-to-1930s-nazi-germany/
[27] https://time.com/6565092/benjamin-netanyahus-collapsing-support/
[28] https://www.jpost.com/israel-news/politics-and-diplomacy/article-801615
[29]https://www.reuters.com/world/middle-east/only-15-israelis-want-netanyahu-keep-job-after-gaza-war-poll-finds-2024-01-02/
[30]https://www.reuters.com/world/middle-east/most-israelis-think-netanyahu-responsible-failing-prevent-hamas-attack-poll-2023-10-20/
[31] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-65086871
[32] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-65086871#
[33] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-65086871
[34]https://www.nytimes.com/2023/12/04/world/middleeast/netanyahu-corruption-trial.html
[35] https://www.al-monitor.com/originals/2024/02/netanyahu-seeks-delay-fraud-trial-ahead-potentially-damaging-testimony?token=eyJlbWFpbCI6IkFteS5kLmxpZWJlcm1hbkBnbWFpbC5jb20iLCJuaWQiOiI2Mjg3NyJ9&utm_medium=email&utm_campaign=Ungrouped%20transactional%20email&utm_content=Ungrouped%20transactional%20email+ID_88a589a5-1873-11ef-ac55-36861dbae8cc&utm_source=campmgr&utm_term=Access%20Article
[36]https://www.reuters.com/world/middle-east/thousands-israelis-rally-hostages-marking-six-months-war-2024-04-07/
[37]https://www.reuters.com/world/middle-east/thousands-israelis-join-anti-government-protests-calling-new-elections-2024-04-20/
[38] https://in-cyprus.philenews.com/international/israeli-cabinet-members-clash-over-gaza/