xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ต้องพึ่งมือถือ! 'มัสก์' เชื่ออนาคตจะฝังชิปในสมอง สื่อสารกันผ่านทางโทรจิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในอนาคต และจะถูกแทนที่ด้วยชิปที่จะถูกฝังลงในสมองของมนุษย์โดยตรงแทน จากคำทำนายเมื่อเร็วๆ นี้ของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี

บริษัทด้านเทคโนโลยีประสาท Neuralink ของ มัสก์ ทำการฝังชิปสมองเป็นครั้งแรกในตัวของนายโนแลนด์ อาร์โบห์ ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก วัย 30 ปี ย้อนกลับไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขั้นตอนการผ่าตัดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใส่ชิปคอมพิวเตอร์ขนาดพอๆ กับเหรียญดอลลาร์ เข้าไปในพื้นที่ของสมองซึ่งควบคุมความเคลื่อนไหว จากนั้นชิปถูกใช้บันทึกและถ่ายทอดสัญญาณสมองแบบไร้สายไปยังแอปพลิเคชันหนึ่งที่ถอดรหัสความเคลื่อนไหวตามเจตนาของผู้ป่วย

คำทำนายล่าสุดของ มัสก์ เป็นการตอบโต้ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ที่โพสต์โดยบัญชีล้อเลียนชื่อว่า "ไม่ใช่ อีลอน มัสก์" ในวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.) ซึ่งข้อความดั้งเดิมเขียนว่า "คุณจะติดตั้ง Neuralink interface (เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์) ในสมองของคุณ เพื่อเปิดทางให้คุณควบคุม X phone ใหม่ ผ่านทางความคิดหรือไม่?"

มัสก์ ตอบกลับคำถามดังกล่าว โดยบอกว่า "ในอนาคตจะไม่มีโทรศัพท์มือถือ มีเพียงแค่ Neuralink"

ในเอกสารประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว Neuralink ระบุว่าโครงการ PRIME (Precise Robotically Implanted Brain-Computer Interface) เป็นการทดลองระดับคลินิก เพื่อศึกษาความปลอดภัยของกระบวนการฝังชิปลงในสมองของมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ และความปลอดภัยของตัวชิปเอง

เป้าหมายของการพัฒนาการฝังส่วนต่อประสานสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ไร้สายอย่างสมบูรณ์ จะเป็นครั้งแรกที่ช่วยให้มนุษย์มีขีดความสามารถในการควบคุมเคอร์เซอร์คอมพิวเตอร์ หรือคีย์บอร์ดผ่านทางความคิด จากนั้นมันจะเปิดทางสำหรับการบำบัดเชิงปฏิวัติสำหรับคนที่ป่วยพิการทางกายต่างๆ อย่างเช่นอัมพาตและตาบอด เช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ อย่างเช่นโรคอ้วน ออทิสติก ซึมเศร้า และโรคจิตเภท

ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2018 มัสก์ เคยบ่งชี้ว่าด้วยเทคโนโลยี Neuralink มันอาจทำให้วันใดวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถสื่อสารกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดใดๆ และมีความเป็นไปได้ของการบรรลุเป้าหมายสถานะของการอยู่ร่วมกันกับปัญญาประดิษฐ์

สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ อนุมัติการทดลองฝังชิปเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลายสัปดาห์หลังการผ่าตัดเมื่อเดือนมกราคม มัสก์เปิดเผยว่าบุคคลรายดังกล่าว "ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากผลข้างเคียงใดๆ" และมีศักยภาพในการเคลื่อนเมาส์คอมพิวเตอร์ไปรอบๆ จอผ่านความคิด

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม Neuralink ยอมรับว่าพวกเขาประสบกับปัญหาทางเทคนิคบางประการ หลังสายไฟขนาดเล็กจิ๋วที่ฝังลงไปในสมองเคลื่อนที่หลุดจากตำแหน่ง

กระนั้นก็ตามทางสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ได้ไฟเขียวให้ทดลองกับมนุษย์เป็นครั้งที่ 2 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อเดือนที่แล้ว โดยที่การทดลองครั้งถัดไป ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน จะมีการแก้ไขปรับปรุงในกระบวนการต่างๆ โดยที่ชิปจะถูกฝังลึกเข้าไปในสมองมากกว่าเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้มันหลุดออกมา

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น