ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ของไต้หวัน ประกาศจะทุ่มเทความพยายามเพื่อทำให้เหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนเมื่อปี 1989 เป็นความทรงจำยืนนานตลอดไป และเข้าถึงทุกคนที่ใส่ใจประชาธิปไตยของจีน
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ที่กองทัพจีนระดมยิงเพื่อสลายการชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองที่นำโดยนักศึกษาบริเวณจตุรัสเทียนอันเหมินในปักกิ่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลักร้อยหรือพันคน และเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นต้องห้ามในสังคมจีน ทางการปักกิ่งยังห้ามจัดงานรำลึกหรือห้ามพูดถึงเหตุการณ์นี้ในที่สาธารณะ
งานรำลึกเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินจึงต้องไปจัดในที่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน ซึ่งบางครั้งนักการเมืองของที่นี่มักถือโอกาสนี้วิจารณ์จีน
ปีนี้ก็เช่นกัน ประธานาธิบดีไล่โพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันอังคาร (4 มิ.ย.) ว่า ไต้หวันจะพยายามอย่างหนักเพื่อทำให้เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นความทรงจำยืนนานตลอดไป และเข้าถึงทุกคนที่ใส่ใจกับประชาธิปไตยของจีน เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเตือนให้รับรู้ว่า ประชาธิปไตยและเสรีภาพไม่ได้ได้มาง่ายๆ แต่ไต้หวันต้องรับมือกับระบอบเผด็จการด้วยเสรีภาพ และเผชิญหน้ากับการขยายระบอบอำนาจนิยมด้วยความกล้าหาญ
ไล่ยังโพสต์ว่า ประเทศที่น่าเคารพอย่างแท้จริงคือประเทศที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมักขึ้นอยู่กับความคิดเห็นที่หลากหลาย
เขาสำทับว่า ในอนาคตไต้หวันจะยังคงผนึกกำลังทั้งหมดเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย และร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น
นับจากไล่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน จีนออกมาโจมตีหลายครั้งโดยเรียกเขาว่า “พวกแบ่งแยกดินแดนอันตราย” และ “ผู้ทำลายสันติภาพและเสถียรภาพ”
ก่อนหน้านี้ พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของไล่เมื่อเดือนที่แล้วกระตุ้นให้ปักกิ่งโกรธแค้น และจัดการซ้อมรบใหญ่รอบไต้หวันที่จีนถือเป็นมณฑลขบถของตน
ในวันอังคาร (4) กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า ตรวจพบอากาศยานจีน 23 ลำบินอยู่รอบเกาะไต้หวันในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงนับจากเวลา 8.20 น. ในจำนวนนี้ 26 ลำบินข้ามเส้นมัธยฐานที่แบ่งครึ่งช่องแคบไต้หวันและแบ่งแยกระหว่างเกาะไต้หวันกับจีน
คำแถลงยังระบุว่า เครื่องบินที่ตรวจพบมีทั้งเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินขนส่ง และโดรน และกองทัพไต้หวันใช้การข่าวกรอง การเฝ้าตรวจและลาดตระเวนเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากจีนส่งอากาศยาน 19 ลำ เรือ 8 ลำ และเรือของหน่วยยามฝั่งแล่นรอบไต้หวันในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงจนถึงเวลา 6.00 น. วันอังคาร
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)