รัฐบาลจีนจะกลับมาเก็บภาษีสินค้าไต้หวัน 134 รายการโดยเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป หลังจากกระทรวงการคลังของจีนประกาศระงับการยกเว้นภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้าเนื่องจากทางไต้หวันไม่ตอบสนอง
จีนซึ่งอ้างอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันได้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร กดดันไทเปหนักขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และถือว่า ไล่ ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวันคนใหม่เป็นพวก “แบ่งแยกดินแดน”
กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้เปิดปฏิบัติการซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อตอบโต้สุนทรพจน์รับตำแหน่งของ ไล่ ซึ่งปักกิ่งมองว่าเป็นการยั่วยุ
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามช่องแคบ (ECFA) ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันถูกลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเจ้าหน้าที่ไต้หวันเคยบอกกับรอยเตอร์ก่อนหน้านี้แล้วว่า จีนอาจจะพยายามกดดันรัฐบาล ไล่ ชิงเต๋อ ด้วยการยกเลิกสิทธิพิเศษบางส่วนภายใต้เงื่อนไข ECFA
“ภูมิภาคไต้หวันได้ใช้มาตรการกีดกันฝ่ายเดียว เช่น ห้ามและจำกัดการส่งออกสินค้าจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถือเป็นการละเมิดเงื่อนไข (ของข้อตกลง)” กระทรวงการคลังจีนระบุ
มาตรการระงับยกเว้นภาษีสินค้าไต้หวันจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. โดยครอบคลุมสินค้า 134 ชนิดที่นำเข้าจากเกาะไต้หวัน รวมถึงน้ำมันพื้นฐาน (base oils) ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำมันหล่อลื่น (lubricants) เป็นต้น
ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันออกมาวิจารณ์ความเคลื่อนไหวของจีนในครั้งนี้ว่าเป็น “การข่มขู่แบบคลาสสิกของจีน” ซึ่งจะไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบดีขึ้น
“จีนควรที่จะหยุดใช้การเมืองแทรกแซงตลาด และหยุดใช้มาตรการข่มขู่ทางเศรษฐกิจเพื่อบิดเบือนความเป็นไปตามปกติของเศรษฐกิจโลก” ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันแถลง
สภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันชี้ว่า ข้อตกลง ECFA สร้างประโยชน์ให้แก่ภาคธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่ายมาตั้งแต่เริ่มมีการลงนาม
“เราขอเรียกร้องให้แผ่นดินใหญ่บริหารจัดการความแตกต่างด้วยการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ไม่นำเงื่อนไขเบื้องต้นทางการเมืองมาเป็นตัวกำหนด รวมถึงหยุดใช้มาตรการกดดันทางการค้าและเศรษฐกิจด้วย”
ปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว จีนได้ระงับมาตรการยกเว้นภาษีผลิตภัณฑ์เคมี 12 ชนิดที่นำเข้าจากไต้หวัน ในความเคลื่อนไหวซึ่งเจ้าหน้าที่ไทเปเชื่อว่ามีเจตนาแทรกแซงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี ทว่าสุดท้าย ไล่ ชิงเต๋อ ก็ยังได้รับชัยชนะ
เฉิน ปินหวา โฆษกสภากิจการไต้หวันของจีน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ไต้หวันก็ได้ใช้มาตรการจำกัดทางการค้าฝ่ายเดียวกับสินค้าส่งออกของจีนมากกว่า 2,500 รายการ ซึ่งถือว่าผิดเจตนารมณ์ของ ECFA ที่มุ่งลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีระหว่างกัน
ที่มา : รอยเตอร์