นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 เม.ย.) ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.70-36.85 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ) ออกมาบ้าง
ทั้งนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงต้องการซื้อทองคำอยู่ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรง รวมถึงความต้องการถือทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูง อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้
สำหรับวันนี้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่เคยให้มุมมองเชิง Neutral หรือ Dovish ต่อทิศทางนโยบายการเงินว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังออกมาดีกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อดูจะชะลอตัวลงช้ากว่าที่เฟดเคยประเมินไว้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้ง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (ซึ่งจะคลี่คลายลงได้เมื่อตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่ต้องสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น) รวมถึง ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซน 36.80-36.85 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ จนกว่าจะมีปัจจัยกดดันใหม่ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดควรเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเราคาดว่าโซนที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงอาจอยู่ในช่วง 155 เยนต่อดอลลาร์ แต่จะขึ้นกับโมเมนตัมของเงินดอลลาร์และภาวะตลาดการเงินว่าจะเอื้ออำนวยให้ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงหรือไม่ และคาดว่าการเข้าแทรกแซงดังกล่าวหากเกิดขึ้นได้จริง สามารถส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง กลับสู่โซน 150-151 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก (เงินเยนแข็งค่าหลุด 152 เยนต่อดอลลาร์ อาจเกิด stop loss บางส่วน ในฝั่งผู้เล่นที่มีสถานะ Short JPY หรือมองเงินเยนอ่อนค่า)