ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ไปปักกิ่งครั้งแรก
การที่ได้รับเชิญให้ไปเยือนจีนจากสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีน หรือสมาคมมิตรภาพฯ นี้มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ข้อหนึ่งคือ ผู้ได้รับเชิญจะต้องเป็นผู้ออกค่าเดินทางไป-กลับประเทศต้นทางของตนกับประเทศจีน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดเวลาที่อยู่ในจีนนั้น ผู้เชิญเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
เงื่อนไขข้อนี้ออกจะแตกต่างกับหลายประเทศ ที่เวลาเชิญแล้วประเทศผู้เชิญจะออกค่าเดินทางดังกล่าวให้ด้วย ส่วนที่ว่าทำไมจีนจึงมีเงื่อนไขข้อนี้นั้น ผมเองก็ไม่เคยถามฝ่ายจีน เพราะเกรงว่าเขาจะเข้าใจผิดคิดว่า เราอาจถามในเชิงตัดพ้อ ว่าจะเชิญทั้งทีทำไมจึงให้เราออกค่าเดินทางที่ว่าด้วย
คือเข้าใจไปในทำนองว่า จะเชิญทั้งทีทำไมจึงไม่ออกค่าเดินทางไป-กลับระหว่างไทย-จีนให้ด้วย
แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การที่ฝ่ายจีนมีเงื่อนไขข้อนี้น่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากในการจองตั๋วเครื่องบิน ซึ่งเวลานั้น (1991/2534) เริ่มมีหลายสายการบินเปิดเส้นทางการบินกับจีนโดยตรงแล้ว ถึงแม้จะไม่มากเท่าปัจจุบันก็ตาม
เช่น พอมีสายการบินหลายสายแล้วหากจีนจองสายใดสายหนึ่ง สายที่จีนจองให้อาจไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้รับเชิญก็ได้ หรือสายการบินนั้นอาจมีการบริการที่ต่างไปจากสายการบินอื่นที่อาจกระทบกับผู้รับเชิญจากบางประเทศ โดยที่จีนไม่รู้และไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลกระทบนั้นๆ ด้วย เป็นต้น
หากเป็นเช่นที่ว่ามาจริง ผมคิดว่าก็ดีเหมือนกัน เพราะใครต้องการไปสายการบินใดก็ให้เลือกเอาเอง แบบว่าเอาที่เจ้าตัวสบายใจก็แล้วกัน
ที่สำคัญ การเดินทางเยือนจีนครั้งนี้เราจะเยือนจีนเป็นเวลาสองสัปดาห์ ระยะเวลาที่นานเช่นนั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เราไม่ต้องจ่าย (เพราะจีนเป็นคนรับผิดชอบ) ซึ่งมันเทียบไม่ได้เลยกับค่าโดยสารเครื่องบินที่เราต้องจ่ายเอง
พูดง่ายๆ คือ ถึงจะจ่ายค่าเครื่องเองก็คุ้ม
พูดถึงเงื่อนไขนี้แล้วก็อดคิดถึงคณาจารย์กลุ่มหนึ่งที่เคยเดินทางไปเยือนจีนในลักษณะนี้ไม่ได้ ที่ได้ไปเยือนนานกว่า 20 วัน ในขณะที่อีกบางท่านได้ไปเยือนเป็นเวลาหลายเดือน ไม่ใช่ไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่สิบวัน เรียกว่าเยือนกันจนลืมบ้านเกิดไปเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า เวลานั้นการติดต่อสื่อสารยังไม่ทันสมัยเท่าวันนี้ เราจึงทำได้เพียงการติดต่อกันทางจดหมายเท่านั้น แต่ที่ดีกว่าก่อนหน้าที่จีนจะเปิดประเทศก็คือว่า จดหมายที่ติดต่อกันนี้เป็นจดหมายทางอากาศ ซึ่งนับว่าเร็วกว่าทางเรือที่เคยใช้ติดต่อกัน แต่ถึงจะเป็นทางอากาศก็ตาม กว่าจะติดต่อกันลงตัวจนรู้กำหนดการเดินทางที่แน่นอนก็ใช้เวลาร่วมปีเลยทีเดียว
การเดินทางของฝ่ายเราเริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 1991 ซึ่งสำหรับผมที่กำลังจะเอาดีทางด้านจีนศึกษาแล้วถือเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะในใจลึกๆ แล้วบอกกับตัวเองว่า เป็นการเดินทางหลังเหตุการณ์นองเลือดที่เทียนอันเหมินเพิ่งจะผ่านไปสองปีเท่านั้น
สองปีที่ผ่านไปบ้านเมืองจีนจะเป็นยังไงบ้างนั้นนึกภาพได้ยาก แต่ที่ผมอยากรู้มากกว่าคือ แล้วคนจีนคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ครั้งนั้นหลังจากที่มันผ่านไปแล้วสองปี
จุดหมายแรกที่เราเดินทางไปเยือนก็คือ ปักกิ่ง
และก็เช่นกันที่สำหรับผมแล้วถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะปักกิ่งถือเป็นเมืองหลวงเก่แก่ของจีน และเป็นที่ที่ได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าว แถมการไปครั้งนี้เรามีกำหนดการที่จะไปเยือนจัตุรัสเทียนอันเหมินอันเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุด้วย
ช่วงต้นปีระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ปักกิ่งแม้จะยังคงมีอากาศที่หนาวเย็น แต่ก็หนาวเย็นในแบบที่เราคนไทยชอบ คือหนาวแบบต้องใส่เสื้อกันหนาว แต่ก็ไม่ได้ใส่หลายชั้นให้ยุ่งยาก และทำให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวหรือเดินทาง
และแล้วเครื่องบินก็นำเรามาลงที่สนามบินปักกิ่ง ครั้นได้พบกับตัวแทนฝ่ายจีนที่มารอต้อนรับเราแล้วเราก็เดินทางเข้าตัวเมืองปักกิ่ง ระหว่างทางฝ่ายจีนได้แนะนำตนเองด้วยภาษาจีน แล้วก็ให้ล่ามที่มาด้วยกันแปลเป็นภาษาไทย ล่ามคนนี้เป็นหญิงสาวเพิ่งจบภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยมาสดๆ ร้อนๆ
ทั้งสองเป็นชาวปักกิ่งโดยกำเนิด แต่ที่ผมสนใจมากก็คือ ล่าม
ที่สนใจไม่ใช่เพราะเธอเป็นหญิงจีนที่น่ารักหรือเป็นสาวปักกิ่งคนแรกที่ผมได้รู้จัก แต่สนใจตรงที่เธอเป็นล่ามทั้งที่เพิ่งจบมาแท้ๆ และเริ่มต้นเป็นล่ามให้กับคณะเราเป็นครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่า เธอคงแปลได้ไม่ดีเท่ากับล่ามที่มีประสบการณ์สูง การแปลจึงย่อมมีการติดขัดอยู่บ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่มีตรงไหนที่เราจะไม่เข้าใจ
การที่จีนให้คนที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ มาเป็นล่ามให้แก่คณะของเรานั้น ถือเป็นการให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ตัวล่ามเอง ที่สำคัญ เธอเป็นล่ามให้แก่คณะนักวิชาการไทย ซึ่งจะมีประโยชน์แก่ตัวเธอเอง เพราะเวลาล่ามแปลผิดหรือแปลไม่ตรง เราซึ่งมีความเป็นครูเป็นพื้นอยู่แล้วย่อมช่วยแก้ให้ถูก พร้อมกับอธิบายขยายความไปด้วยในตัว ไม่ขบขันเห็นเป็นเรื่องตลก
เรื่องหลังนี้ผมถือว่าสำคัญมาก เพราะผมเคยเห็นคนไทยบางคนบางกลุ่มเห็นคนไทยด้วยกันเองใช้ภาษาต่างชาติได้ไม่ดี ซ้ำยังรู้ด้วยว่าคนที่ใช้นั้นเพิ่งเรียนภาษาชาตินั้นมาไม่นาน แทนที่จะตั้งใจฟังเขาอย่างจริงจัง และช่วยเขาแก้เมื่อเขาพูดผิดก็กลับหัวเราะขบขัน
การมีกิริยาเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะมันไม่เพียงจะทำให้ภาษาต่างชาติของคนๆ นั้นไม่ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีเท่านั้น หากยังทำให้เจ้าตัวเกิดความอับอายและสูญเสียความมั่นใจและตั้งใจไปด้วย กิริยาเช่นนี้ผมไม่เคยพบที่จีนและกับฝรั่งต่างชาติ พบก็แต่คนไทยด้วยกันเองนี่แหละ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เราต่างแนะนำซึ่งกันและกันอยู่นั้น ผมได้มองออกไปนอกรถไปด้วยแล้วก็พบว่า บางช่วงที่ถนนเป็นทางโค้งนั้น ทางจีนจะสร้างขอบกันอุบัติเหตุเอาไว้เหมือนที่ชาติอื่นต่างก็ทำเช่นกัน แต่ของจีนทำให้ผมอดยิ้มไม่ได้ เพราะขอบที่ว่าจีนสร้างให้ดูเหมือนกำแพงเมืองจีน ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่า จีนนี่เข้าใจเล่นเสียจริงๆ
หลังจากเวลาผ่านไปไม่ถึงชั่วโมง รถก็นำเราเข้าสู่ตัวเมืองปักกิ่ง ภาพแรกที่เห็นคือ ความโออ่าของตึกรามบ้านช่องกับความกว้างขวางของถนนหนทาง เห็นแล้วก็ขนลุกซู่เหมือนกับที่แรกเห็นเมืองซัวเถาดังที่ผมเคยเล่าไปแล้ว
แต่คราวนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นแบบที่คนโบราณว่าไว้หรือไม่ ที่ว่าอาการขนลุกนั้นเป็นเพราะเราได้มาในสถานที่ที่ครั้งหนึ่ง (ชาติก่อน) เราเคยอาศัยอยู่มาก่อน ผมคิดว่าที่ขนลุกซู่นั้น น่าจะเป็นเพราะได้เห็นความโออ่ากว้างขวางของปักกิ่งสมกับที่เป็นเมืองหลวงมากกว่า
เวลานั้นประชากรในปักกิ่งแม้จะมีมากอยู่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังไม่เจริญมาก ผู้คนจึงดูไม่พลุกพล่านดังทุกวันนี้ บนท้องถนนมีรถราวิ่งไม่มากนัก แต่ก็ถือว่ามีมากกว่าก่อนเปิดประเทศ ที่ผมรู้ก็เพราะเคยเห็นภาพปักกิ่งก่อนหน้านั้น ที่ถนนอ้างว้างมาก
มากจนผมคิดเล่นๆ ว่า หากจะคลานข้ามถนนก็คงยากที่จะมีรถมาชนได้ง่ายๆ