สหรัฐฯ และชาติสมาชิกสภาพยุโรป (อียู) ส่วนใหญ่จะบอยคอตต์พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียอีกสมัยของ วลาดิมีร์ ปูติน ในวังเครมลิน ในวันอังคาร (7 พ.ค.) อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสและรัฐอียูอื่นๆ บางประเทศ คาดหมายว่าจะส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย แม้มีเสียงวิงวอนมาจากยูเครน
ปฏิกิริยาทางการทูตที่แตกต่างกันออกไปของบรรดามหาอำนาจตะวันตก เน้นย้ำถึงความเห็นต่างในแนวทางรับมือกับผู้นำรัสเซีย นานกว่า 2 ปี หลังจาก ปูติน ส่งทหารรัสเซียรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ
"ไม่ เราจะไม่มีตัวแทนหนึ่งใดในพิธีสาบานตนของเขา" แมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว "แน่นอนว่าเราไม่ได้พิจารณาว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม แต่เขาคือประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย และเขาจะยังคงอยู่ในฐานะดังกล่าว"
สหราชอาณาจักร และแคนาดา เปิดเผยว่าจะไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมพิธีเช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากรัสเซียแถลงในวันจันทร์ (6 พ.ค.) ว่าพวกเขาจะทำการซ้อมรบอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี ในความหวังว่ามันจะช่วยคลายอารมณ์ร้อนในตะวันตก
ปูติน คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมีนาคม ไม่กี่สัปดาห์หลัง อเล็กเซย์ นาวาลนี คู่ปรับตัวฉกาจของเขาเสียชีวิตในเรือนจำ บรรดารัฐบาลตะวันตกประณามการเลือกตั้งว่าไม่มีความยุติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย
"ยูเครนมองไม่เห็นเหตุผลทางกฎหมายใดๆ ที่จะรับรองเขาในฐานะประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและชอบธรรมตามกฎหมาย" กระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุในถ้อยแถลง
ถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุต่อว่า พิธีสาบานตนในวันอังคาร (6 พ.ค.) "เป็นการหาทางสร้างภาพลวงตาทางกฎหมาย สำหรับการอยู่ในอำนาจเกือบชั่วชีวิตของบุคคลหนึ่งที่เปลี่ยนสหพันธรัฐรัสเซียกลายเป็นรัฐผู้รุกรานและเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบเผด็จการ"
โฆษกของอียูรายหนึ่งเผยว่า เอกอัครราชทูตของกลุ่มประจำรัสเซียบอกว่าจะไม่เข้าร่วมพิธี ซึ่งเป็นไปตามจุดยืนของรัฐสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่ม
ผู้แทนทูตยุโรปรายหนึ่งเปิดเผยว่ารัฐสมาชิกอียู 20 ชาติ จะบอยคอตต์พิธีนี้ แต่มีรัฐอื่นๆ 7 ชาติที่คาดหมายว่าจะส่งผู้แทนเข้าร่วม โดยนอกเหนือจากฝรั่งเศสแล้ว คาดหมายว่า ฮังการี และสโลวะเกียต่างก็จะเข้าร่วมด้วย ส่วนเยอรมนีจะไม่เข้าร่วม
ในสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกแยกในแนวทางรับมือกับรัสเซีย แหล่งข่าวผู้แทนทูตรายหนึ่งของปารีสเปิดเผยว่า "ฝรั่งเศสจะส่งเอกอัครราชทูตของพวกเขาไปยังรัสเซีย"
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีจีน ในวันจันทร์ (6 พ.ค.) ระบุว่า "เราไม่ได้ทำสงครามกับรัสเซียหรือประชาชนชาวรัสเซีย และเราไม่ปรารถนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใดๆ ในมอสโก"
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มาครง เพิ่งไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการส่งทหารเข้าไปยังยูเครน โดยบอกว่าหากรัสเซียฝ่าแนวหน้าของยูเครน มันจะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามกฎหมายที่จะพิจารณาถึงเรื่องนี้ หากเคียฟร้องขอแรงสนับสนุน
ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและรัสเซียเสื่อมทรามลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ปารีสส่งเสียงสนับสนุนยูเครนเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
ประเทศต่างๆ ในแถบบอลติกที่ไม่เหลือผู้แทนทูตประจำการอยู่ในมอสโกอีกแล้ว ได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงในการเข้าร่วมพิธีสาบานตนของปูติน "เราเชื่อว่าการโดดเดี่ยวรัสเซีย โดยเฉพาะผู้นำอาชญากรของพวกเขาต้องเดินหน้าต่อไป" รัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนียกล่าว
รัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนียกล่าวต่อว่า "การเข้าร่วมพิธีสาบานตนของปูตินไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับลิทัวเนีย เป้าหมายสำคัญของเรายังคงเป็นการให้การสนับสนุนยูเครนและประชาชนของพวกเขา ในการสู้รบกับผู้รุกรานรัสเซีย"
(ที่มา : รอยเตอร์)