อียิปต์เปิดเผยว่าพวกเขาจะเข้าร่วมอย่างเป็นทางการในคดีที่แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องร้องเอาผิดกับอิสราเอล ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) กล่าวหาอิสราเอลละเมิดพันธสัญญาต่างๆ ภายใต้สนธิสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในสงครามระหว่างรัฐยิวกับนักรบฮามาสในฉนวนกาซา ความเคลื่อนไหวที่อดีตนักการทูตยอมรับว่ามันจะก่อความเสียหายทางการทูตอย่างไม่น่าเชื่อแก่อิสราเอล
รัฐมนตรีกระทรวงกิจการต่างประเทศของอียิปต์ระบุในวันอาทิตย์ (12 พ.ค.) ว่า ไคโรมีความตั้งใจเข้าร่วมฟ้องร้องในคดีนี้ สืบเนื่องจากการกระทำก้าวร้าวหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ของอิสราเอลต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์
"การยื่นฟ้องมีขึ้นตามหลังระดับและขอบเขตความรุนแรงที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในปฏิบัติการโจมตีของอิสราเอล เล่นงานพลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และยังคงเดินหน้ากระทำผิดอย่างเป็นระบบต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ ในนั้นรวมถึงการเล็งเป้าหมายเล่นงานพลเรือนโดยตรง และทำลายโครงสร้างพื้นฐานในฉนวนกาซา และกดดันให้ชาวปาเลสไตน์ต้องหลบหนี" กระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ระบุ
แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับอิสราเอลในเดือนมกราคม กล่าวหาประเทศแห่งนี้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในกาซา ยอดผู้เสียชีวิตจากสงครามของอิสราเอลในกาซา ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมทะลุ 35,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
ปฏิบัติการจู่โจมของอิสราเอลเป็นการแก้แค้นพวกนักรบฮามาสที่บุกโจมตีจากฉนวนกาซา เล่นงานทางใต้ของอิสราเอล ในวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 1,139 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ พิพากษาชั่วคราวเมื่อเดือนมกราคม พบความเป็นไปได้ของความเสี่ยงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา และออกคำสั่งให้อิสราเอลใช้มาตรการเฉพาะกาลต่างๆ ในนั้นรวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ศาลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฮกของเนเธอร์แลนด์ ปฏิเสธคำฟ้องที่ 2 ของแอฟริกาใต้ในเดือนมีนาคม ที่ขอให้ออกมาตรการฉุกเฉินต่อคำขู่โจมตีเมืองราฟาห์ของอิสราเอล
อียิปต์ พร้อมด้วยตุรกี และโคลอมเบียจะยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการขอเข้าร่วมดำเนินคดีกับอิสราเอล หลังจากเมื่อช่วงต้นเดือน ตุรกีออกมาเผยว่าพวกเขาจะหาทางเข้าร่วมดำเนินคดีเช่นกัน ตามหลังโคลอมเบีย ที่ร้องขอไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในเดือนที่แล้ว ขอเข้าร่วมในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า เพื่อรับประกัน "ความปลอดภัยและการดำรงอยู่ของประชาชนชาวปาเลสไตน์"
ทั้งนี้ อียิปต์บอกว่าพวกเขาจะเรียกร้องให้ อิสราเอล "ปฏิบัติตามพันธสัญญาต่างๆ ในฐานะมหาอำนาจผู้รุกราน และให้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ออกโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้อียิปต์ต้องรับประกันการเข้าถึงของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสิ่งของบรรเทาทุกข์ในแนวทางที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนชาวปาเลสไตน์ในกาซา"
นอกจากนี้ อียิปต์ยังต้องการให้กองกำลังอิสราเอลอย่าได้ก่อการล่วงละเมิดใดๆ ต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์
คาดหมายว่าอาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าที่ศาลจะพิพากษาเกี่ยวกับความถูกผิดในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้ มีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีพันธะผูกพันและไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ศาลไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะบังคับใช้มัน
อิสราเอลเน้นย้ำว่าพวกเขาดำเนินการในกาซา สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และเรียกคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของแอฟริกาใต้ ว่าไร้หลักฐาน และกล่าวหาแอฟริกาใต้ดำเนินการในนามอาวุธทางกฎหมายของพวกฮามาส
อาลอน ลิเอล อดีตผู้อำนวยการประจำกระทรวงกิจการต่างประเทศของอิสราเอล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ ว่าความเคลื่อนไหวของอียิปต์ก่อความเสียหายทางการทูตอย่างไม่น่าเชื่อแก่อิสราเอล
"อียิปต์คือเสาหลักในจุดยืนของเราในตะวันออกกลาง" เขากล่าว "เป็นตัวเชื่อมโยงที่อิสราเอลมีในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในทุกวันนี้ ในนั้นรวมถึงกับจอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโมร็อกโก ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลจากการดำเนินการของอียิปต์เมื่อ 40 ปีก่อน" เขาระบุ อ้างถึงสนธิสัญญาสันติภาพระหว่าง 2 ประเทศ ในปี 1979
"ด้วยตอนนี้อียิปต์เข้าร่วมกับแอฟริกาใต้ในเฮก มันคือการสาวหมัดชกทางการทูตอย่างแท้จริง อิสราเอลจำเป็นต้องจริงจังกับเรื่องนี้ อิสราเอลจำเป็นต้องรับฟังโลก ไม่ใช่แค่ความเห็นของประชาชนอิสราเอลที่ตอนนี้อยากแก้แค้น เราจำเป็นต้องมองโดยรวมในภาพกว้างๆ ในความมั่นคงระยะยาวของอิสราเอล ไม่ใช่แค่สถานการณ์แค่ไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าในกาซา"
พัฒนาการทางกฎหมายล่าสุดมีขึ้นในขณะที่อิสรเอลกำลังสู้รบรอบใหม่กับพวกนักรบฮามาสบริเวณทางเหนือของกาซา และออกคำสั่งให้ประชาชนหลายหมื่นคนอพยพเพิ่มเติม ออกจากเมืองราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแนวชายแดนของกาซาติดกับอิสราเอล
กองกำลังอิสราเอลยึดจุดผ่านแดนราฟาห์ในฝั่งของกาซา ในวันอังคาร (7 พ.ค.) หนึ่งวันหลังจากฮามาสบอกว่าพวกเขายอมรับข้อเสนอหยุดยิงที่มีอียิปต์และกาตาร์เป็นคนกลาง แต่ทางอิสราเอลปฏิเสธอย่างรวดเร็ว จุดผ่านแดนนี้เป็นทางเข้าหลักสำหรับการป้อนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่กาซา แต่มันถูกปิดตายนับตั้งแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอล
เมืองราฟาห์ แออัดไปด้วยพวกผู้ไร้ถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์มากกว่า 1 ล้านคน ที่ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมเลวร้าย และประชาคมนานาชาติเตือนอิสราเอลว่า ปฏิบัติการจู่โจมภาคพื้นเต็มรูปแบบในเมืองแห่งนี้อาจโหมกระพือหายนะด้านมนุษยธรรมสำหรับพลเรือน
อย่างไรก็ตาม เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล บอกว่าการจู่โจมเมืองราฟาห์ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อขุดรากถอนโคนฮามาส
จากข้อมูลของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ พบว่า มีชาวปาเลสไตน์ราว 110,000 คน หลบหนีออกจากเมืองราฟาห์ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
(ที่มา : อัลจาซีราห์)