xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกสุดท้าย!ไบต์แดนซ์ฟ้องรบ.สหรัฐฯ ขอศาลขวางบังคับใช้กฎหมายบีบขาย‘ติ๊กต็อก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ติ๊กต็อก และไบต์แดนซ์ ที่เป็นบริษัมแม่สัญชาติจีน ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายที่ไบเดนลงนามรับรองแล้ว ซึ่งจะบังคับให้ไบต์แดนซ์ต้องขายติ๊กต็อกก่อนถึงเส้นตายต้นปีหน้า หรือปล่อยให้แอปวิดีโอสั้นยอดนิยมตัวนี้ถูกแบนในอเมริกา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมีผู้ใช้ถึง 170 ล้านราย

ทั้งบริษัทติ๊กต็อก และบริษัทไบต์แดนซ์ ฟ้องร้องต่อศาลอุทธรณ์เขตดิสตริคออฟโคลัมเบีย (ดีซี) เพื่อขอให้ขัดขวาง เมอร์ริก การ์แลนด์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่ามันละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ตามเนื้อหาของกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 เมษายน ขีดเส้นตายให้ไบต์แดนซ์ขายติ๊กต็อกภายในวันที่ 19 ม.ค. 2025 ไม่เช่นนั้นแอปยอดนิยมตัวนี้ก็จะถูกแบนในอเมริกา โดยกฎหมายนี้ห้ามแอปสโตร์ของแอปเปิลและกูเกิลเสนอแอปติ๊กต็อกให้ดาวน์โหลด รวมทั้งห้ามพวกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตโฮสติ้งสนับสนุนติ๊กต็อก เว้นแต่ไบต์แดนซ์ยอมขายแอปนี้ภายในเส้นตายดังกล่าว

เอกสารฟ้องร้องระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้แบนแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นการถาวรทั่วประเทศ ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดปากผู้ใช้ 170 ล้านรายที่ใช้ติ๊กต็อกในการสื่อสารในรูปแบบที่แพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่สามารถทำได้

เอกสารยังระบุว่า การขายกิจการนั้นเป็นไปไม่ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยี และกฎหมาย

นอกจากนั้นไบต์แดนซ์ยังยืนกรานว่า ไม่มีแผนขายติ๊กต็อก และการฟ้องร้องเช่นนี้ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกส่งต่อไปยังศาลสูงสุดของอเมริกาเป็นผู้ตัดสินนั้น คือตัวเลือกเดียวในการหลีกเลี่ยงการถูกแบน

ทางด้านทำเนียบขาวอ้างว่า ต้องการให้ไบต์แดนซ์ขายติ๊กต็อกด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ และไม่ได้ต้องการแบนติ๊กต็อก

การฟ้องร้องนี้เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของติ๊กต็อกเพื่อต่อต้านการถูกแบนในอเมริกา ขณะที่พวกบริษัทอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง เช่น สแนป และเมตา พยายามฉกฉวยจังหวะที่ติ๊กต็อกเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง เข้าแย่งชิงรายได้ในการโฆษณา

ทั้งนี้ จากกระแสการต่อต้านจีนในรัฐสภาสหรัฐฯ โดยมีการโหมประโคมว่า จีนอาจอาศัยติ๊กต็อกเพื่อเข้าถึงข้อมูลต่างๆ คนอเมริกัน ทำให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบอย่างท่วมท้นในคองเกรสภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ถึงแม้ติ๊กต็อกปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด และยืนกรานว่า ไม่เคยแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ในอเมริกากับปักกิ่ง พร้อมกล่าวหารัฐสภาสหรัฐฯพยายามประโคมข้อกังวลที่มาจากการคาดเดาเอาเองเท่านั้น

คำฟ้องของสองบริษัทสำทับว่า รัฐบาลจีนระบุชัดเจนว่า จะไม่อนุญาตให้ขายระบบแนะนำ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จของติ๊กต็อกในอเมริกา

ตามเอกสารคำฟ้อง หุ้น 58% ในไบต์แดนซ์ถือโดยนักลงทุนประเภทสถาบันระดับโลก อาทิ แบล็กร็อก และเจเนอรัล แอตแลนติก, 21% เป็นของผู้ก่อตั้งชาวจีน และอีก 21% เป็นของพนักงาน ซึ่งรวมถึงพนักงานราว 7,000 คนในอเมริกา

ติ๊กต็อกยังระบุในคำฟ้องว่า บริษัทได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อบรรเทาความกังวลที่ว่าข้อมูลของผู้ใช้ในอเมริกาไม่ได้รับการปกป้อง ทว่า รัฐบาลสหรัฐฯกลับเพิกเฉยต่อมาตรการเหล่านั้น

ติ๊กต็อกตกเป็นเป้าหมายของวอชิงตันครั้งแรกในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พยายามแบนแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากศาลสหรัฐฯสั่งขัดขวางทรัมป์เป็นการชั่วคราว โดยระบุว่า เหตุผลในการแบนแอปนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดจากการประโคมจนเกินจริง และเป็นอันตรายต่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็น

สำหรับกฎหมายใหม่นั้นร่างขึ้นมาเพื่อเอาชนะความท้าทายทางกฎหมายดังกล่าว และผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ศาลสูงสุดสหรัฐฯ อาจรับพิจารณาคดีนี้ในที่สุด โดยที่การวินิจฉัยตัดสินจะเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างความมั่นคงแห่งชาติ กับการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น