xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำ'เทกซิต'มั่นใจ 'เทกซัส' แยกตัวออกจากสหรัฐฯเป็นชาติเอกราช อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพเผยแพร่โดยคณะกรรมการปฏิบัติการทางการเมือง (PAC) ของขบวนการนักชาตินิยมเทกซัส (Texas Nationalist Movement) ทั้งนี้ แดเนียล มิลเลอร์ ผู้นำของขบวนการนี้อ้างว่า เรื่องการแยกรัฐเทกซัสออกเป็นประเทศเอกราช หรือ “เทกซิต” อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คาดกันไว้มาก
แกนนำแบ่งแยกดินแดนเทกซัสรายหนึ่ง เชื่อว่าการนำรัฐใหญ่อันดับ 2 ทั้งในแง่ของพื้นที่และประชากรแห่งนี้ ออกจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกเรียกขานว่า "เทกซิต" (Texit) อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้มาก ท่ามกลางประเด็นข้อพิพาทระหว่าง เกร็ก แอบบอตต์ ผู้ว่าการรัฐกับรัฐบาลกลาง เกี่ยวกับการควบคุมแนวชายแดนติดกับเม็กซิโก

"เราอยู่ในจุดที่เทกซิตกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของทุกๆ คน ทั้งพวกคนที่สนับสนุนและพวกที่คัดค้าน" แดเนียล มิลเลอร์ ประธานขบวนการนักชาตินิยมเทกซัสกล่าวในพอดแคสต์ “เทกซัสนิวส์” ของเขาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"ประเด็นชายแดนได้กลายมาเป็นเรื่องแถวหน้าของวัฏจักรข่าวแล้ว และเรื่องเทกซิตกลายเป็นส่วนขยายอย่างสมเหตุสมผลตามธรรมชาติของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงชายแดนนั่น” เขากล่าวต่อ

“เรากำลังอยู่ในระหว่างที่จะได้รับสิ่งที่เราพูดถึงมาโดยตลอด นั่นคือการโหวตแบบมีผลผูกพัน --การโหวตในประเด็นที่ให้เทกซัสกลายมาเป็นประเทศเอกราชและปกครองตนเอง" มิลเลอร์อ้าง

เขายังได้กล่าวยกย่อง แอบบอตต์ ที่ประกาศว่าสิทธิในการป้องกันตนเองของรัฐเทกซัส “เป็นสิ่งที่เหนือกว่าระเบียบกฎหมายใดๆ ของรัฐบาลกลางซึ่งระบุเอาไว้ในทางตรงกันข้าม” และการที่ แอบบอตต์ ปฏิเสธไม่ให้รื้อถอนรั้วลวดหนามที่สร้างขึ้นตามแนวชายแดนระหว่างเทกซัสกับเม็กซิโก ถึงแม้ศาลสูงสุดสหรัฐฯตัดสินไปแล้วว่าการปฏิเสธดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญของอเมริกา

ผู้ว่าการรัฐสังกัดพรรครีพับลิกันผู้นี้โต้แย้งว่า เนื่องจากรัฐบาลกลางล้มเหลวในการปกป้องเทกซัสจากการไหลบ่าของพวกผู้อพยพลที่รุกรานข้ามชายแดนเข้ามา รัฐเทกซัสจึงมี “อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะปกป้องตนเอง”

แอบบอตต์ ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตได้เปลี่ยนชายแดนทางใต้ของประเทศให้กลายเป็นจุดเสี่ยงต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย แทนที่จะรักษากฎหมายและปกป้องชายแดน ไบเดนกลับสนับสนุนการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่ชายแดนติดกับเม็กซิโก และยอมให้ผู้ก่อการร้ายเข้าสหรัฐฯ

ถ้อยแถลงของผู้ว่าการรัฐเทกซัสถือเป็นการตั้งป้อมปฏิเสธคำสั่งจากรัฐบาลกลาง และท้าทายอำนาจของหน่วยงานรัฐบาลกลางต่างๆ เช่น กรมศุลกากรและป้องกันชายแดน และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ

ในการพูดทางพอดแคสต์คราวนี้ มิลเลอร์ แสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์ความรู้สึกทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่า "ทุกๆ ครั้งที่เทกซัสพยายามทำบางอย่างเพื่อคุ้มกันชายแดน รัฐบาลกลางจะเข้ามาแทรกแซง หรือไม่พวกเขาก็ทำอย่างที่ผ่านมา ด้วยการทำให้ความพยายามของเทกซัสถูกตอน อยู่ในสภาพอ่อนปวกเปียกเสียจนกระทั่งโดยพื้นฐานแล้วชาวเทกซัส –ซึ่งก็คือกระทรวงการทหารของเทกซัส และกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะของเทกซัส— ออกปฏิบัติการในฐานะแค่เป็นหน่วยงานเสริมให้แก่หน่วยลาดตระเวนชายแดน (ของรัฐบาลกลาง) ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งให้ปล่อยพวกเขา (ผู้อพยพ)) ข้ามเข้ามา พาพวกเขาขึ้นรถบัส ขึ้นเครื่องบิน และจัดส่งพวกเขาไปทุกหนทุกแห่ง"

มิลเลอร์ยังให้สัมภาษณ์นิวยอร์กโพสต์เพิ่มเติมว่า เขาเชื่อว่าการต่อสู้ตรงชายแดนในเวลานี้ “กำลังทำให้เกิดความสนใจกันเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับขนาดและความเข้มแข็งที่มีอยู่เรียบร้อยแล้วของแรงสนับสนุนในเรื่องเทกซิต” รวมทั้งชี้ว่า ขบวนการนักชาตินิยมเทกซัสของเขานั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2005 และการสนับสนุนก็เติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอนับแต่นั้น

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อนิวสวีก มิลเลอร์แสดงความมั่นใจว่า จะมีประชาชนมากขึ้นที่จะลงคะแนน "เห็นชอบ" ในการลงประชามติสำหรับคำถามที่ว่ารัฐแห่งนี้ควรแยกตัวออกไปหรือไม่

นอกจากนั้น เขายังเสนอเอาไว้ในพอดแคสต์ของเขาว่า การสู้รบเกี่ยวกับประเด็นชายแดนครั้งนี้ อาจกระตุ้นให้รัฐอื่นๆ พิจารณาแยกตัวออกจากสหรัฐฯ เช่นกัน โดยอ้างถึงกรณีมีผู้ว่าการรัฐที่สังกัดรีพับลิกัน 25 คน ร่วมลงนามในหนังสือสนับสนุนแอบบอตต์

"มันหมายความว่าอย่างไรงั้นหรือ มันหมายความว่าเรากำลังพบเห็นการแยกตัวออกไป ไม่ใช่แค่เทกซัส แต่รวมไปถึงรัฐอื่นๆ ในบรรดา 25 รัฐ" มอลเลอร์กล่าว "มันคือช่วงเวลาที่น่าสนใจสำหรับช่วงชีวิตของเรา และผมคิดว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่จุดที่อยู่เกินกว่าคำว่าวิกฤตรัฐธรรมนูญ"

อย่างไรก็ตาม ความเห็นเช่นนี้ของ มิลเลอร์ มีขึ้นไม่กี่สัปดาห์ หลังจากศาลสูงสุดเทกซัสปฏิเสธรับพิจารณาคดีที่ยื่นฟ้องโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน หลังจากพวกพรรครีพับลิกันของทางรัฐปฏิเสธคำร้องเรียนหลายๆ ประการของพวกเขา ในนั้นรวมถึงการขอให้จัดโหวตเรื่องเอกราชของรัฐเทกซัส ในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

คณะผู้พิพากษาในศาลสูงสุดเทกซัสไม่ได้ให้เหตุผลของการวินิจฉัยเช่นนี้ แต่พรรครีพับลิกันอ้างว่าหนังสือร้องเรียนของทางกลุ่มยื่นมาไม่ทันเวลา และผู้ร่วมลงนาม 139,000 คนในคำร้องก็เป็นการลงนามที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์

ทางกลุ่มประกาศว่ามีแผนฟ้องพรรครีพับลิกันในรัฐเทกซัส สำหรับการปล่อยให้หนังสือร้องเรียนของพวกเขาผ่านพ้นเวลาเส้นตาย อย่างไรก็ตาม มิลเลอร์ บอกว่าทางกลุ่มไม่มองว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดคือความผิดหวัง เพราะ “โมเมนตัมทางการเมือง” ที่ทางกลุ่มเคยหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้นจากการจัดลงประชามติแบบที่ถึงอย่างไรก็ไม่มีผลผูกพันอยู่แล้วนั้น “เวลานี้ (โมเมนตัมดังกล่าว) ปรากฏให้เห็นแล้วโดยที่ไม่ต้องอาศัยการลงประชามตินั้นเลย”

(ที่มา: นิวยอร์กโพสต์)
กำลังโหลดความคิดเห็น