(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Gold, Bitcoin surges show black swan risk rising
By DAVID P GOLDMAN
09/03/2024
บรรดานักลงทุนกำลังหาเครื่องมือสำหรับค้ำประกันความเสี่ยงที่จะเกิดพวกเหตุการณ์สุดโต่งขึ้นมา --พวกความยุ่งยากปั่นป่วนที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์
ราคาทองยังคงขยับขึ้นทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องในวันศุกร์ (8 มี.ค.) ที่ผ่านมา โดยซื้อขายกันที่ระดับ 2,183 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ตอนช่วงกลางๆ ของบ่ายวันดังกล่าว เป็นอันว่าภายหลังจากบิตคอยน์มีการไต่ขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าด้วยซ้ำในปีนี้ ราคาทองซึ่งเคยนำหน้าราคาบิตคอยต์เมื่อปี 2020 และปี 2021 ในช่วงเกิดวิกฤตโรคโควิดระบาด ตอนนี้มีการไต่สูงขึ้นมาเช่นกันทว่ายังคงถูกบิตคอยน์เป็นฝ่ายนำหน้าไปอย่างชัดเจน สภาพเช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกนักลงทุนมีความมั่นอกมั่นใจในพวกสินทรัพย์ไฮเทคทางเลือกนี้มากเสียกว่าเงินดอลลาร์
กุญแจสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจว่า ทองวัดค่าความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างไรแค่ไหน ได้แก่ความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานระหว่าง พันธบัตรคลังประเภทคุ้มครองความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Treasury Inflation Protected Securities หรือ TIPS) กับราคาของโลหะมีค่าชนิดนี้ ทั้งสองอย่างนี้ต่างถูกใช้เป็นเครื่องมือค้ำประกันความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้ออย่างไม่คาดหมาย หรือการเสื่อมค่าลงของเงินดอลลาร์
จากปี 2007 ถึงปี 2022 ราคาทองเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในจังหวะเดียวกันกับยีลด์ (อัตราผลตอบแทน) ของพันธบัตร TIPS โดยที่พวกนักลงทุนใช้หลักทรัพย์ 2 ตัวนี้สลับกันไปมาได้ แต่การอายัดทุนสำรองของรัสเซียเอาไว้กว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ภายหลังมอสโกรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทำให้สภาพเช่นนี้เปลี่ยนแปลงไป
พวกธนาคารกลางของต่างประเทศถือครองตราสารหนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯเอาไว้คิดเป็นมูลค่าราว 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ และชาวต่างประเทศรวมทั้งหมดถือครองเป็นจำนวนมากกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ การที่เกิดการยึดทุนสำรองรัสเซียเอาไว้ โน้มน้าวให้พวกนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งพวกที่เป็นภาคทางการและพวกในภาคเอกชน พากันหนีไปหาทอง
นี่คือเหตุผลที่ทำไมราคามูลค่าของทองซึ่งทำนายโดยยีลด์พันธบัตร TIPS ยังคงมีความใกล้ชิดกับราคาทองจริงๆ อย่างมากๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2007 ถึงปี 2022 แต่หลังจากนั้นก็เกิดการหย่าขาดแยกกันไปคนละทาง ทองเวลานี้มีราคา “รวย”กว่ายีลด์ TIPS เกือบๆ 900 ดอลลาร์ ความแตกต่างไปกันคนละทางระหว่างยีลด์ TIPS กับทอง อยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏขึ้นมา
สภาพเช่นนี้ยิ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นไปอีก จากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีผลงานอันแข็งแกร่งระหว่างช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมา และการที่ราคาของพวกตราสารค้ำประกันความเสี่ยงในตลาดออปชั่นทั้งหลายย่อมต้องอ่อนตัวลงไปในทิศทางตรงกันข้าม เวลานี้มูลค่าของตราสารออปชั่นอิงกับดัชนีหุ้น S&P 500 (the VIX Index) หรือมูลค่าของตราสารออปชั่นที่อิงกับสกุลเงินตราสำคัญๆ ต่างอยู่ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของพวกตน
ทว่าพวกออปชั่นนั้นสามารถค้ำประกันความเสี่ยงได้เฉพาะความผันผวนที่เกิดขึ้นระยะสั้น และการจ่ายเงินคืนของออปชั่นเหล่านี้ย่อมต้องขึ้นต่อการทำงานตามหน้าที่ได้อย่างราบรื่นของพวกตลาดอนุพันธ์
มีหลักฐานชัดเจนว่าพวกนักลงทุนต้องการที่จะได้การค้ำประกันป้องกันความเสี่ยงจากกรณีเกิดเหตุการณ์สุดโต่งทั้งหลาย –ความยุ่งยากประเภทที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์— ถึงแม้ในเวลาเดียวกันนั้นพวกเขาก็ไม่ยินดีที่จะจ่ายเงินเยอะแยะเป็นค่าค้ำประกันความเสี่ยงจากภาวะผันผวนระยะสั้น
แม้ตลาดเวลานี้แลดูภายนอกเหมือนกับสงบเงียบ แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ “ห่านสีดำ” (black swan event) ขึ้นมา กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
หมายเหตุผู้แปล
ความเสี่ยงที่จะเกิด “ห่านสีดำ” มีต้นทางมาจาก “ทฤษฎีห่านสีดำ” (black swan theory) หรือ “ทฤษฎีเหตุการณ์ห่านสีดำ” (theory of black swan events) ซึ่งวิกิพีเดีย (https://en.wikipedia.org/wiki/Black_swan_theory) อธิบายเอาไว้ ดังนี้:
“ห่านสีดำ” หรือ “เหตุการณ์ห่านสีดำ” เป็นคำอุปมาเปรียบเทียบซึ่งมุ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด, มีผลกระทบอย่างใหญ่โต, และบ่อยครั้งกว่าที่เราจะสามารถทำความเข้าใจอย่างมีเหตุมีผลได้ ก็ต่อเมื่ออาศัยการพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริงภายหลังที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้วลีนี้อิงอยู่กับคำพังเพยโบราณเก่าแก่ในยุโรปที่กล่าวกันว่า ในโลกนี้มีแต่ห่านสีขาว ไม่มีห่านสีดำ จวบจนกระทั่งมีการค้นพบห่านสีดำขึ้นในออสเตรเลียเมื่อปี 1697 จากนั้นมาคำพังเพยนี้จึงถูกตีความกันใหม่ให้หมายถึงเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ส่งผลกระทบอย่างสำคัญ
สำหรับตัวทฤษฎีห่านสีดำนั้น เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2001 โดย นัสซิม นิโคลาส ทะเลบ (Nassim Nicholas Taleb) ชาวอเมริกันเชื้อสายเลบานอนที่เป็นทั้งนักเขียนความเรียง, นักสถิติทางคณิตศาสตร์, อดีตเทรดเดอร์ตราสารออปชั่น, นักวิเคราะห์ความเสี่ยง, และนักเขียนคำคม ซึ่งมีผลงานเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ทางด้านความสับสนไร้แบบแผน (randomness), ความน่าจะเป็น (probability), และความไม่แน่นอน (uncertainty)
ทฤษฎีห่านสีดำของทะเล็บ มุ่งอ้างอิงถึงเฉพาะพวกเหตุการณ์และผลพวงต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่โต ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่อาจคาดหมายได้ในทางสถิติ และในประวัติศาสตร์เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็มีบทบาทอยู่ในฐานะครอบงำ เหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งตอนแรกถูกพิจารณาว่าเป็นค่าผิดปกติอย่างยิ่งยวดในทางสถิติ (extreme outliers) แต่เมื่อพิจารณารวมๆ กันกลับแสดงบทบาทอย่างใหญ่โตกว้างขวางยิ่งกว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอเสียอีก
เหตุการณ์ห่านสีดำ ถูกทะเล็บนำมาอภิปรายถกเถียงเอาไว้ในหนังสือปี 2001 เรื่อง Fooled By Randomness ของเขา ซึ่งมุ่งความสนใจไปที่พวกเหตุการณ์ทางการเงิน ในหนังสือปี 2007 เรื่อง The Black Swan ของเขาได้ขยายคำอุปมานี้ไปยังพวกเหตุการณ์ที่อยู่นอกตลาดการเงิน ทั้งนี้ ทะเล็บถือเอา การค้นพบทางวิทยาศาสตร์สำคัญๆ , เหตุการณ์ทางประวติศาสตร์สำคัญๆ, และความสำเร็จทางศิลปะสำคัญๆ แทบทั้งหมดเป็น “ห่านสีดำ” –ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดทิศทางล่วงหน้าเอาไว้ และไม่อาจพยากรณ์ล่วงหน้าได้ เขายกตัวอย่างว่า การผงาดขึ้นมาของอินเทอร์เน็ต, คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, การล่มสลายของสหภาพโซเวียต, และการโจมตีสหรัฐฯในวันที่ 11 กันยายน 2001 เหล่านี้คือเหตุการณ์ห่านสีดำ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Black_swan_theory และ https://en.wikipedia.org/wiki/Nassim_Nicholas_Taleb)