Xi urges US, NATO to talk with Russia, opposes indiscriminate sanctions
By Zhang Hui and Liu Xin, Global Times
19/03/2022
“โกลบอลไทมส์” สื่อในเครือเหรินหมินรึเป้า --ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ เสนอรายงานข่าวการประชุมซัมมิตผ่านจอวิดีโอระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเน้นย้ำว่าฝ่ายสหรัฐฯพยายามบีบคั้นกดดันต่างๆ นานาเพื่อให้จีนเปลี่ยนจุดยืนเรื่องรัสเซียบุกยูเครน รวมทั้งปล่อยข่าวเท็จเพื่อบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับมอสโก ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กระตุ้นสหรัฐฯและนาโต้ ให้สนทนากับรัสเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตการณ์ยูเครน พร้อมกันนั้นก็แสดงการคัดค้านการใช้มาตรการแซงก์ชั่นแบบเหวี่ยงแหไม่มีการจำแนก ในระหว่างที่เขาเจรจาหารือผ่านทางวิดีโอกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (18 มี.ค.) ที่ผ่านมา
สีบอกว่า วิกฤตการณ์ยูเครนไม่ได้เป็นอะไรที่เราต้องการจะเห็น และเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าประเทศต่างๆ ไม่ควรเดินมาจนถึงจุดที่ต้องพบกันในสนามรบ การสู้รบขัดแย้งกันและการเผชิญหน้ากันนั้นไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของใครทั้งนั้น สันติภาพและความมั่นคงต่างหากคือสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศควรให้คุณค่าสูงที่สุด
หลังจากไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯไม่ได้มุ่งเสาะหาไม่ว่าจะเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่, การเปลี่ยนแปลงระบบของจีน, การจับกลุ่มก่อตั้งพันธมิตรที่เข้มแข็งขึ้นอีกเพื่อต่อต้านจีน, การสนับสนุน “ลัทธิแยกตัวออกไปจากจีนของไต้หวัน”, หรือการขัดแย้งกับจีน สีบอกว่าเขารับทราบความเห็นต่างๆ เหล่านี้โดยถือเป็นเรื่องจริงจังอย่างยิ่ง
เกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ สีบอกว่าสาเหตุโดยตรงของสถานการณ์ปัจจุบันในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ก็คือการที่มีคนบางคนในฝ่ายสหรัฐฯไม่ได้เดินตามให้ตลอดในสิ่งที่เป็นความเข้าใจร่วมกันอย่างสำคัญซึ่งประธานาธิบดีทั้งสองเห็นพ้องกันไปแล้ว รวมทั้งไม่ได้ปฏิบัติตามคำแถลงในทางบวกต่างๆ ของไบเดน นอกจากนั้นสหรัฐฯยังคงมีความรับรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาดและมีการคาดคำนวณอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในทางยุทธศาสตร์ของจีน
การหารือคราวนี้กินเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง และทั้ง สี กับ ไบเดน ต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นการเจรจาที่สร้างสรรค์ พร้อมกับรบเร้ากลุ่มทำงานต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายดำเนินปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำความสัมพันธ์ทวิภาคีกลับคืนสู่เส้นทางที่ถูกต้อง และใช้ความพยายามต่างๆ ตามลำดับในการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน
หลี่ว์ เสียง (Lü Xiang) นักวิจัยแห่งบัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences) ให้ความเห็นกับ “โกลบอลไทมส์” ว่า ประธานาธิบดีสี มุ่งโฟกัสที่การมองภาพใหญ่ แทนที่จะแค่พูดถึงวิกฤตการณ์ยูเครน สีเน้นทัศนะโดยรวมของจีนในเรื่องความมั่นคงและการทูต และย้ำหลักการต่างๆ ของฝ่ายจีน
การแสดงความคิดเห็นของ สี เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ยูเครน เป็นการประกาศจุดยืนของจีนอย่างรอบด้าน รวมทั้งอยู่ในลักษณะยืนมองจากจุดที่กว้างไกลกว่า เขาจึงกระตุ้นให้มีการเจรจาสันติภาพระหว่าง ยูเครน กับ รัสเซีย และให้มีการเจรจากันระหว่างสหรัฐฯและนาโต้ กับ รัสเซีย ด้วย นักวิจัยผู้นี้บอก พร้อมกับชี้ว่า การที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯบางคนกำลังกดดันจีนอย่างก้าวร้าวนั้นไม่ได้มีผลกระทบกระเทือนฝีก้าวในการก้าวเดินของจีนเลย
“ผมคิดว่าการพูดจากันเมื่อวันศุกร์ ไม่ได้เพียงมีความหมายสำหรับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังมีความหมายสำหรับสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกอีกด้วย คำพูดของผู้นำจีนแสดงให้พวกประเทศต่างๆ ที่กำลังเดินตามสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดในการกระตุ้นยั่วยุให้เกิดวิกฤต มองเห็นว่ามหาอำนาจใหญ่ที่มีความรับผิดชอบควรทำอย่างไรเมื่อประสบกับปัญหาต่างๆ” หลี่ว์ บอก
ประธานาธิบดีสี ยังให้ความเห็นเรื่องปัญหาไต้หวันอีกด้วย นักวิจัยผู้นี้กล่าวว่า นั่นคือส่งสัญญาณไปถึงสหรัฐฯว่า ถ้าหากสหรัฐฯยังคงเล่นกับไฟต่อไปในปัญหาไต้หวัน และละเมิดผลประโยชน์แกนกลางของจีน ระหว่างจีนกับสหรัฐฯก็จะไม่มีปฏิสัมพันธ์ฉันมิตรหรือในทางบวกขึ้นมาได้
หลี่ว์ ชี้ว่า วิกฤตการณ์ยูเครนคือเรื่องปวดหัวสำหรับสหรัฐฯอยู่แล้ว และสหรัฐฯจะไม่ชอบหรอกถ้ามีการประจันหน้ากับจีนเพิ่มขึ้นมาอีก สหรัฐฯกับนักการเมืองอเมริกันควรละทิ้งความฝันเฟื่องที่ว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหาทุกๆ อย่างได้ด้วยการแซงก์ชั่นหรือการใช้อำนาจบังคับ เพราะสหรัฐฯไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก รวมทั้งวิกฤตการณ์ต่างๆ ในทางการเมือง หรือ ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้ โดยไม่มีจีนและรัสเซีย
เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการเจรจาหารือสี-ไบเดน จีนมีการเคลื่อนไหวที่นานๆ ครั้งจะได้เห็นกัน ด้วยการส่งสัญญาณอย่างแข็งกร้าวออกมาว่า ตนจะไม่มีวันยอมอ่อนข้อต่อการข่มขู่คุกคามและการมุ่งใช้อำนาจบังคับของสหรัฐฯในประเด็นปัญหายูเครน พร้อมกับประกาศด้วยว่าจะดำเนินการตอบโต้อย่างแข็งแกร่งถ้าหากสหรัฐฯใช้มาตรการต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน
ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ โกลบอลไทมส์ เจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งซึ่งมิได้มีการเปิดเผยนาม กล่าวว่า การที่จีนยอมรับข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯในการพบปะเจรจาผ่านจอวิดีโอระหว่างประมุขแห่งรัฐของทั้งสองประเทศ เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และเรื่องสถานการณ์ยูเครน ก็เนื่องจากคำนึงถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี, การส่งเสริมการเจรจาเพื่อสันติภาพ, และการรบเร้าสหรัฐฯให้หันมายึดจุดยืนที่ถูกต้อง
(ดูเพิ่มเติมคำให้สัมภาษณ์พิเศษนี้ ได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202203/1255235.shtml)
จีนจะไม่มีวันยอมอ่อนข้อต่อการข่มขู่คุกคามและการมุ่งใช้อำนาจบังคับของสหรัฐฯ และถ้าหากสหรัฐฯใช้มาตรการต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของวิสาหกิจจีนและปัจเจกบุคคลชาวจีนแล้ว จีนก็จะไม่นั่งนิ่งอยู่เฉยๆ แต่จะตอบโต้อย่างแข็งแกร่ง เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวสำทับ พร้อมกับบอกว่าสหรัฐฯไม่ควรมีมายาภาพใดๆ หรือการคาดคำนวณอย่างผิดพลาดใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้
การส่งสัญญาณแรงๆ ของจีนเช่นนี้เกิดขึ้นขณะที่คณะบริหารไบเดนเพิ่มทวีการรณรงค์แพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จในเรื่องที่ว่าจีนให้ “ความสนับสนุนทางทหาร” แก่รัสเซีย รวมทั้งพยายามที่จะข่มขู่คุกคามจีนว่า จะต้องประสบกับ “ผลพวงต่อเนื่องอย่างเลวร้ายยิ่ง”
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมซัมมิตคราวนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ ออกมาอ้างว่า ระหว่างการพูดคุยทางวิดีโอในวันศุกร์ (18 มี.ค.) ไบเดนจะทำให้เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า จีนจะต้อง “แบกรับความรับผิดชอบสำหรับการกระทำใดๆ ก็ตามที่จีนกระทำ เพื่อสนับสนุนการก้าวร้าวรุกรานของรัสเซีย และเราจะไม่ลังเลที่จะบังคับให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายขึ้นมา” เขาพูดเช่นนี้ในระหว่างแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน
พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนกล่าวว่า การที่จีนออกมาแถลงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนของตนเป็นเรื่องที่จำเป็นและทันการณ์ ในเมื่อสหรัฐฯพยายามหาทางปลุกปั่นบงการให้การพูดจากันในวันศุกร์ (18 มี.ค.) กลายเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้จีนเปลี่ยนแปลงจุดยืนทางการทูตของตน, ยุแหย่ปั่นป่วนความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย, และป้ายสีภาพลักษณ์ของจีนอย่างอุบาทว์ชั่วร้าย
จีนกำลังส่งคำเตือนแรงๆ ไปถึงคณะบริหารไบเดนว่า อย่าได้แอบซ่อนมายาภาพใดๆ ในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงจีน ในการพูดจากันในคืนวันศุกร์ (18 มี.ค.) รวมทั้งรบเร้าไบเดนให้สงบเสงี่ยมลงมาในประเด็นปัญหาเชิงปฏิบัติของประเทศทั้งสอง พวกนักวิเคราะห์ระบุ
เพียงไม่กี่วันหลังจากการเจรจากันที่กรุงโรมระหว่าง หยาง เจียฉือ นักการทูตอาวุโสของจีน กับ เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ฝ่ายสหรัฐฯก็ติดต่อมายังจีนอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอให้มีการพบปะในระดับสูงกว่านั้นขึ้นไปอีก เรื่องนี้ในความเห็นของพวกนักวิเคราะห์ชาวจีนบางคนแล้ว เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯมีความกระวนกระวายใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับผลพวงต่อเนื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ของวิกฤตการณ์ยูเครนซึ่งกำลังเลวร้ายลงไปทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความพยายามของวอชิงตันในการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของจีนต้องประสบความล้มเหลวในกรุงโรม และสหรัฐฯตกอยู่ในภาวะต้องการความช่วยเหลืออย่างรีบด่วนจากจีน ในการรับมือกับความปั่นป่วนอลหม่านซึ่งตนเองเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง แต่แล้วก็กลับล้มเหลวไม่สามารถจัดการรับมือกับมันได้
การเจรจาหารือในวันศุกร์ (18 มี.ค.) จึงเกิดขึ้นมาเนื่องจากสหรัฐฯตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายถึง 2 อย่างซ้อนๆ กัน กล่าวคือ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งทางนิวเคลียร์กับรัสเซียซึ่งตนเองกำลังออกแรงกดดันบีบคั้นอย่างสุดขีด และก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่การขัดแย้งกับจีนในปัญหาไต้หวันจะบานปลายขยายตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนบอก พร้อมกับชี้ว่า เรื่องปัญหาไต้หวันและประเด็นเกี่ยวกับยูเครนคือเรื่องสำคัญในวาระการเจรจาระหว่างสี-ไบเดน
หลี่ ไห่ตง (Li Haidong) ศาสตราจารย์แห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of International Relations) ของมหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศของจีน (China Foreign Affairs University) บอกกับ โกลบอลไทมส์ ว่า เบื้องหลังการที่คณะบริหารไบเดนวางแผนกดดันบีบคั้นจีน ก็คือความกระวนกระวายอย่างล้ำลึกและความจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากจีนในเรื่องวิกฤตการณ์ยูเครน
สื่อมวลชนอเมริกันบางคนก็ตระหนักเช่นกันว่าสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ บลูมเบิร์ก นิวส์ (Bloomberg News) เสนอข่าวเกี่ยวกับการเจรจาสี-ไบเดนในวันศุกร์ (18 มี.ค.) โดยพาดหัวว่า “ไบเดนมองหาทางให้จีนช่วยในเรื่องปูติน” บทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่โดยบลูมเบิร์กกล่าวว่า ยิ่งรัสเซียทำอะไรเลวร้ายลงไปมากท่าใด “ความเสี่ยงที่อเมริกาและพันธมิตรยุโรปของตนอาจจะประสบก็ใหญ่โตขึ้นไปเท่านั้น”
ศาสตราจารย์หลี่ บอกว่า ประเด็นปัญหายูเครนเป็นผลพวงต่อเนื่องของปัญหาที่สะสมมายาวนานระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ซึ่งก็คือการที่นาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯพยายามกดดันบีบคั้นและท้าทายอย่างต่อเนื่องในเรื่องความมั่นคงของรัสเซีย ดังนั้นลึกเข้าไปข้างในของสหรัฐฯแล้ว ไม่ได้คาดหมายว่าจีนจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่กระนั้นก็ยังคงต้องการดึงลากจีนให้ถลำลงสู่ความลำบากยุ่งยากของตนด้วย หรือขอให้จีนช่วยเหลือตนให้พ้นจากปัญหา เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันนั้นไปไกลเกินกว่าความคาดหมายของสหรัฐฯ และเป็นเรื่องลำบากยิ่งขึ้นสำหรับสหรัฐฯที่จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันโดยตรงในเรื่องนี้
หลี่ชี้ว่า ไบเดนแสดงความไร้เดียงสาออกมา จากการคิดไปว่ารัสเซียจะไม่ต่อสู้เอาคืนเมื่อเผชิญกับการยั่วยุของสหรัฐฯ และเวลานี้เขาเหมือนกำลังเทเชื้อเพลิงเข้าไปด้วยความหวังว่าจะดับไฟในยูเครนได้ เวลาเดียวกันนี้ก็รู้สึกหวาดกลัวว่ากองไฟนี้จะลุกลามถึงนาโต้
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ในด้านหนึ่งสหรัฐฯกำลังหาทางขอความช่วยเหลือจีนจีนในเรื่องวิกฤตการณ์ยูเครน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พยายามกดดันบีบคั้นและคุกคามจีน หลี่ บอกพร้อมกับชี้ว่าการทำเช่นนี้ทั้งไม่ฉลาดและให้ผลออกมาในทางตรงกันข้ามกับที่ตนเองต้องการ
ในอีกแง่มุมหนึ่ง หยาง ซีหยู (Yang Xiyu) นักวิจัยอาวุโสของ สถาบันการระหว่างประเทศศึกษาของจีน (China Institute of International Studies) บอกกับ โกลบอลไทมส์ว่า ขณะที่สหรัฐฯกำลังต้อนรัสเซียเข้ามุมในประเด็นปัญหายูเครนอยู่นั้น สหรัฐฯยังพยายามไล่ต้อนจีนเข้ามุมด้วย “ประเด็นปัญหาที่ง่ายต่อการระเบิด” ที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง นั่นคือปัญหาไต้หวัน
สหรัฐฯพยายามผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกขชองตนให้คืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยกำลังใช้ไต้หวันเป็นตัวเบี้ยของตน และคอยส่งสัญญาณอย่างผิดๆ ให้แก่พวกนักแบ่งแยกดินแดนไต้หวัน ด้วยการส่งพวกอดีตนักการทูตอเมริกันไปเยือนเกาะแห่งนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งกับจีนในคำถามไต้หวันนี้กำลังบานปลายขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบางรายยังออกมาประโคมถึงความสอดคล้องไปในทางเดียวกันระหว่างประเด็นเรื่องยูเครน กับ ปัญหาไต้หวัน ถึงแม้ทั้งสองเรื่องนี้มีความผิดแผกแตกต่างกันถึงขั้นรากฐาน
ในวันศุกร์ (18 มี.ค.) พลอากาศเอก เคนเนธ วิลสบาค (Kenneth Wilsbach) ผู้บัญชาการกองกำลังทางอากาศภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นเชื่อมโยงสถานการณ์ในยูเครนและปัญหาไต้หวันเข้าด้วยกัน พร้อมกับอ้างว่าหนึ่งใน “บทเรียนสำคัญ” ที่ฝ่ายจีนสามารถเก็บรับจากสถานการณ์ยูเครนก็คือ “ความสมัครสมานเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาคมโลก” และยังบอกอีกว่าถ้าจีนประพฤติตนในทำนองเดียวกันต่อเกาะไต้หวันหรือต่อเพื่อนบ้านอื่นๆ “อะไรบางอย่างที่เข้มข้นกว่านี้อีกจะเกิดขึ้นมา”
ถ้าหากสหรัฐฯไม่ได้คำนึงถึงความกังวลของจีนอย่างจริงจัง และเพียงต้องการหาความช่วยเหลือจากจีนเพื่อสนองวัตถุประสงค์ของตนเองเท่านั้นแล้ว แบบแผนของปฏิสัมพันธ์เช่นนี้จะไม่บังเกิดผลดีอะไรออกมาได้หรอก และรังแต่จะเพิ่มพูนความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นอีกเข้าไปในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯเท่านั้น พวกนักวิเคราะห์เตือน
(เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถดูได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202203/1255263.shtml)
หมายเหตุผู้แปล
โกลบอลไทมส์ สื่อในเครือเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังเสนอรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่ง ระบุว่า กระทั่งภายหลังการประชุมซัมมิตเสมือนจริงระหว่าง สี จิ้นผิง กับ โจ ไบเดน แล้ว สหรัฐฯยังตามบีบคั้นกดดันไม่ยอมเลิก เพื่อให้จีนเปลี่ยนจุดยืนเรื่องวิกฤตการณ์ยูเครน จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้:
ปักกิ่งโวยสหรัฐฯยังปล่อยข่าวเท็จไม่เลิก เพื่อบีบคั้นกดดันจีนในเรื่องวิกฤตยูเครน
โดย โกลบอลไทมส์
US continues to push harsh narrative to pressure China over Ukraine crisis; a self-deceiving move of no help
By Xu Hailin and Liu Xin, Global Times
19/03/2022
สหรัฐฯยังคงมองตนเองว่าเป็นข้อยกเว้นพิเศษ ความคิดจิตใจแบบถือว่าเหนือกว่าใครๆ เช่นนี้ทำให้สหรัฐฯเชื่อว่าตนสามารถที่จะกำนหดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาทั่วโลก แล้วจากนั้นก็ประพฤติตนเหนือกว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้น วอชิงตันคิดว่าการรณรงค์สร้างแรงบีบคั้นกดดัน สามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันการแซงก์ชั่นก็สามารถทำให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนต้องการ
หลังจากการประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (18 มี.ค.) เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบางรายและพวกสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐฯ ยังคงพยายามต่อไปที่จะผลักดันกระแสเรื่องเล่าเกรี้ยวกราดมุ่งต่อต้านโจมตีจีน ซึ่งใช้พาดหัวอย่างเช่น “ไบเดนเตือนจีนถึง ‘ผลพวงที่จะตามมา’” ความเคลื่อนไหวเช่นนี้แหละที่พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่าคือความพยายามในการโฆษณาป่าวร้องเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย รวมทั้งเพื่อแสดงให้เห็น “ความแข็งกร้าว” ของสหรัฐฯในการมุ่งเล่นงานจีน โดยพวกนักวิเคราะห์ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า เรื่องเล่าเพื่อมุ่งหลอกลวงตัวเองเหล่านี้จะไม่ช่วยอะไรในการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน และถ้าหากสหรัฐฯยังคงไม่มีการกระทำในทางปฏิบัติใดๆ แล้ว ผลพวงต่อเนื่องของวิกฤตการณ์คราวนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแบกรับกันไหว ไม่เฉพาะเพียงสำหรับยุโรปเท่านั้น กระทั่งสหรัฐฯก็ไม่อาจรอดพ้นไปได้
ไม่นานนักหลังจากการประชุมซัมมิตผ่านจอวิดีโอเป็นเวลาร่วม 2 ชั่วโมงคราวนี้ จีนได้เผยแพร่บันทึกย่ออย่างเป็นทางการของสิ่งที่ผู้นำทั้งสองได้พูดจากัน ขณะที่บันทึกย่ออย่างเป็นทางการของฝ่ายทำเนียบขาวออกมาหลายชั่วโมงหลังจากนั้น และมีความยาวที่สั้นเอามากๆ โดยที่มีการอ้างอิงว่าในระหว่างการเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนนั้น ไบเดน “ได้บรรยายถึงความหมายโดยนัยต่างๆ และผลพวงต่อเนื่องต่างๆ ถ้าหากจีนจัดหาความสนับสนุนทางวัตถุให้แก่รัสเซีย ขณะที่รัสเซียดำเนินการโจมตีอย่างโหดเหี้ยมใส่เมืองใหญ่ๆ ของยูเครนและพลเรือนชาวยูเครน”
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะบริหารไบเดนเพื่ออธิบายให้ภูมิหลังเพิ่มเติมแก่สื่อมวลชนภายหลังการประชุมระหว่าง สี-ไบเดน เมื่อตอบคำถามจากสื่อมวลชนที่ว่าผลพวงต่อเนื่องที่จะตามมา ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯกล่าวถึงนี้คืออะไร และไบเดนพูดกับสีเอาไว้อย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะบริหารไบเดนซึ่งเป็นผู้แถลงให้ภูมิหลัง กลับแสดงอาการลังเลที่จะให้รายละเอียด และกล่าวว่าพวกเขาจะไม่ “นำเอาทางเลือกต่างๆ มาวางเรียงรายให้สาธารณชนทราบ”
จากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังกล่าวต่อไปว่า “ท่านประธานาธิบดีจริงๆ แล้วไม่ได้เรียกร้องอย่างเป็นพิเศษเจาะจงจากฝ่ายจีน ท่านกำลังวางแบข้อประเมินสถานการณ์ของท่านออกมาให้เห็น” เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังกล่าวซ้ำอีกว่า “จีนจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง”
สำหรับบันทึกย่อของฝ่ายจีนมีการให้รายละเอียด เรื่องนี้ หลี่ ไห่ตง (Li Haidong) ศาสตราจารย์แห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of International Relations) ของมหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศจีน (China Foreign Affairs University) บอกกับ โกลบอลไทมส์ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าจีนทำงานอย่างไตร่ตรองและระมัดระวังในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสหรัฐฯ มันแสดงให้เห็นว่า จีนมีความรับผิดชอบสูงในการจัดการกับความผูกพันที่มีกับสหรัฐฯ และปรารถนาที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายผลักดันความสัมพันธ์ของพวกเขาให้คืบหน้าไปบนพื้นฐานของการบริหารจัดการความแตกต่าง
“บันทึกย่อของฝ่ายทำเนียบขาวเปิดเผยให้เห็นถึงการยึดอยู่กับลัทธิประโยชน์นิยม (utilitarianism) ของสหรัฐฯในความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับจีน มุ่งโฟกัสเฉพาะสิ่งที่พวกเขากังวลสนใจโดยไม่คำนึงถึงวิธีในการรักษาภูมิทัศน์โดยรวมของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มันยังสะท้อนให้เห็นถึงการมีความเข้าใจเกี่ยวกับซัมมิตครั้งนี้อย่างไม่ถูกต้องของฝ่ายสหรัฐฯอีกด้วย” หลี่ ชี้
ทางด้าน หลี่ว์ เสียง (Lü Xiang) นักวิจัยของบัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences) บอกกับ โกลบอลไทมส์ ว่า จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯเผยแพร่บันทึกย่อแบบพูดถึงความเห็นเพียงข้างเดียว นี่จึงเป็นความพยายามเพื่อประโคมสร้างบรรยากาศต่อไปอีกว่ารัสเซียถูกโดดเดี่ยวจากประเทศจำนวนมาก และทำเนียบขาวมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในสมรภูมิสร้างเรื่องเล่า เพื่อกดดันประเทศต่างๆ มากขึ้นให้ถอยห่างออกจากรัสเซีย
หลังจากการเจรจาของสี-ไบเดนเมื่อวันศุกร์ สื่อมวลชนกระแสหลักบางรายของสหรัฐฯ รวมทั้ง นิวยอร์กไทมส์ และวอชิงตันโพสต์ พากันรายงานเหตุการณ์คราวนี้โดยใช้พาดหัวข่าวซึ่งเน้นย้ำว่า “ไบเดนเตือนจีน”
การเน้นย้ำให้เห็นไปว่า ไบเดน “เตือน” จีน คือวิธีการของรัฐบาลสหรัฐฯในการกำหนดจัดวางเรื่องเล่าทางการทูตของตนเองขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะโชว์ให้สาธารณชนชาวอเมริกันเห็นไปว่า ตนเองมีความแข็งกร้าวแลมีะสมรรถนะในการบีบคั้นกดดันจีน, ทำให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยวยิ่งขึ้นไปอีก, และยังสามารถตอกลิ่มให้เกิดความเหินห่างระหว่างจีนกับรัสเซีย หลี่ว์ ชี้ พร้อมกับระบุว่า นี่เป้นเพียงเรื่องเล่าเพื่อหลอกตัวเองของฝ่ายสหรัฐฯเท่านั้น
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กระตุ้นสหรัฐฯและนาโต้ ให้สนทนากับรัสเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตการณ์ยูเครน รวมทั้งแสดงการคัดค้านการใช้มาตรการแซงก์ชั่นแบบเหวี่ยงแหไม่มีการจำแนกแยกแยะ
วอชิงตันมีความกระหายที่จะส่งอิทธิพลต่อท่าทีของจีนในเรื่องวิกฤตการณ์ยูเครน แต่ขณะที่สถานการณ์วิวัฒนาการไป จุดยืนแบบเป็นกลางโดยส่วนใหญ่ในประเด็นปัญหานี้ของจีนกลับเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ การสู้รบขัดแย้งกันระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นมีผลกระทบที่สำคัญ แต่มันก็เป็นการเปิดกว้างพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ผู้สังเกตการณ์หลายรายกล่าว
สหรัฐฯพยายามที่จะใช้อำนาจบังคับจีนให้ทำตามความต้องการของสหรัฐฯเอง วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่มีอันตรายและสร้างปัญหาในการนำมาใช้กับจีนและมหาอำนาจใหญ่รายอื่นๆ แต่นี่ก็สอดคล้องกับธรรมชาติและตรรกะมุ่งข่มเหงรังแกคนอื่นของสหรัฐฯ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นที่ยอมรับของจีนและของประเทศอื่นๆ จำนวนมาก นอกจากนั้น เป็นเพราะบรรทัดฐานมุ่งข่มเหงรังแกคนอื่นเช่นนี้เอง ซึ่งทำให้ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศจำนวนมากมีความลำบากมากขึ้นที่จะแก้ไขคลี่คลาย ศาสตราจารย์หลี่ กล่าว
เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการเจรจาหารือสี-ไบเดน จีนมีการเคลื่อนไหวที่นานๆ ครั้งจะได้เห็นกัน ด้วยการส่งสัญญาณอย่างแข็งกร้าวออกมาว่า ตนจะไม่มีวันยอมอ่อนข้อต่อการข่มขู่คุกคามและการมุ่งใช้อำนาจบังคับของสหรัฐฯในประเด็นปัญหายูเครน พร้อมกับประกาศด้วยว่าจะดำเนินการตอบโต้อย่างแข็งแกร่งถ้าหากสหรัฐฯใช้มาตรการต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน โดยที่ในการให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ โกลบอลไทมส์ เจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งซึ่งมิได้มีการเปิดเผยนาม กล่าวว่า จีนยอมรับข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯในการพบปะเจรจาผ่านจอวิดีโอระหว่างประมุขแห่งรัฐของทั้งสองประเทศ ในเรื่องความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และเรื่องสถานการณ์ยูเครน ก็เนื่องจากคำนึงถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี, การส่งเสริมการเจรจาเพื่อสันติภาพ, และการรบเร้าสหรัฐฯให้หันมายึดจุดยืนที่ถูกต้อง
(ดูเพิ่มเติมคำให้สัมภาษณ์พิเศษนี้ ได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202203/1255235.shtml)
หลี่ ชี้ว่า สหรัฐฯยังคงมองตนเองว่าเป็นข้อยกเว้นพิเศษ ความคิดจิตใจแบบถือว่าเหนือกว่าใครๆ เช่นนี้ทำให้สหรัฐฯเชื่อว่าตนสามารถที่จะกำนหดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาทั่วโลก แล้วจากนั้นก็ประพฤติตนเหนือกว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้น เขากล่าวต่อไปว่า วอชิงตันคิดว่าการรณรงค์สร้างแรงบีบคั้นกดดัน สามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันการแซงก์ชั่นก็สามารถทำให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนต้องการ
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯเมินเฉยมองไม่เห็นว่า ความผูกพันระหว่างตนเองกับรัสเซียที่แตกหักเสียหายไปนั้น สืบเนื่องจากการรณรงค์สร้างแรงกดดันบีบคั้นและการแซงก์ชั่นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตการณ์ยูเครนขึ้น ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯยังต้องการนำอาตรรกะเช่นนี้มาใช้กับความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับจีนอีก “สหรัฐฯไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากโศกนาฏกรรมนี้บ้างเลยหรือ?” หลี่ ตั้งคำถาม
(เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถดูได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202203/1255284.shtml)