ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวเตือนพวกผู้นำรัฐสภาอเมริกันในวันอังคาร (27 ก.พ.) ว่าจะต้องจ่ายด้วยราคาเลวร้ายมากจากความล้มเหลวที่ไม่เข้าช่วยเหลือยูเครน หลังจากการเจรจาซึ่งมีเดิมพันสูงลิ่วที่ทำเนียบขาวยุติลงโดยไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ ในอีกด้านหนึ่ง ทางทำเนียบขาวออกมายืนยันว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารไปสู้รบในยูเครน ถึงแม้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แถลงว่าไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ของการส่งกองกำลังฝ่ายตะวันตกเข้าไป
ไบเดนจัดให้มีการพบปะหารือกับพวกผู้นำรัฐสภาในห้องทำงานรูปไข่ที่ทำเนียบขาวซึ่งนานๆ จึงจะเกิดขึ้นสักครั้งคราวนี้ ด้วยจุดประสงค์ที่จะโน้มน้าว ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯที่สังกัดพรรครีพับลิกัน ให้ยอมเลิกสกัดกั้นงบช่วยเหลือซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับยูเครน ขณะเดียวกันก็ยอมทำความตกลงกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะที่พวกหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯหมดงบประมาณและต้องปิดทำการ หรือที่เรียกกันว่า “ชัตดาวน์”
พวกผู้นำที่เข้าประชุมครั้งนี้บอกว่าพวกเขามีความรู้สึกในทางบวกว่าจะสามารถทำความตกลงประนีประนอมกันไม่ให้เกิดภาวะชัตดาวน์ได้สำเร็จ ทว่าเกี่ยวกับเรื่องยูเครน พวกเขายังคงเผชิญทางตัน โดยที่จอห์นสันยืนกรานว่าก่อนอื่นเลยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเรื่องพรมแดนของสหรัฐฯเองให้มากกว่านี้เสียก่อน
“เกี่ยวกับยูเครน ผมคิดว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนมาก” เป็นคำกล่าวของไบเดน ผู้ซึ่งมีรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ขนาบข้าง ในขณะเจรจาที่ห้องทำงานรูปไข่คราวนี้
ไบเดนกล่าวต่อไปว่า “ผลต่อเนื่องของการไม่ลงมือทำอะไรในเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นกับยูเครนในแต่ละวันเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก”
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ออกมากล่าวเตือนหลายครั้งว่า ยูเครนมีความจำเป็นอย่างเหลือเกินที่จะต้องได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตกเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อทำให้การรุกรานของรัสเซียพ่ายแพ้ไป และวาดหวังว่าสหรัฐฯจะอนุมัติแพกเก็จงบช่วยเหลือก้อนใหม่ที่มีทั้งเรื่องอาวุธและอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์
ทว่า จอห์นสัน ซึ่งเป็นพันธมิตรคนหนึ่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงปฏิเสธไม่ยอมแม้กระทั่งนำเอาร่างกฎหมายที่บรรจุงบช่วยเหลือยูเครนก้อนนี้เอาไว้ เข้าสู่การโหวตของสภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำ แม้มันจะผ่านวุฒิสภามาได้เป็นสัปดาห์แล้ว
จอห์นสัน ผู้ซึ่งในคราวนี้ยังได้พบหารือแบบเดี่ยวๆ กับไบเดนด้วย ยืนกรานว่าวิกฤตการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่พรมแดนสหรัฐฯติดต่อกับเม็กซิโกคือเรื่องที่เขาให้ความสำคัญลำดับสูงสุด
เขากล่าวว่า สภาล่างจะหันมาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับที่มีงบช่วยยูเครนรวมอยู่ด้วยนี้ “เมื่อถึงเวลาที่สมควร แต่นั่นแหละเรื่องสำคัญลำดับแรกของประเทศเราก็คือเรื่องพรมแดนของเรา และการทำให้แน่ใจว่าพรมแดนของเรามีความมั่นคงปลอดภัย”
ในการหารือที่ทำเนียบขาวคราวนี้ ไบเดนนอกจากเจรจากับจอห์นสันแล้ว ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ยังประกอบด้วย ฮาคีม เจฟฟรีส์ ผู้นำของพรรคเดโมแครตในสภาล่าง ตลอดจน ชัค ชูเมอร์ ผู้นำของเดโมแครตในวุฒิสภา และ มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำรีพับลิกันในสภาสูง
“มีความเห็นเป็นฉันทามติในห้องนั้นว่า เซเลนสกี้และยูเครนจะพ่ายแพ้สงคราม” ถ้าปราศจากความช่วยเหลือ ชูเมอร์ กล่าว
วุฒิสมาชิกประสบการณ์สูงผู้นี้ ซึ่งเพิ่งไปเยือนยูเครนเมื่อเร็วๆ นี้ บอกว่า การเจรจาที่ห้องทำงานรูปไข่คราวนี้ บรรยากาศ “ตึงเครียดที่สุด” เท่าที่เขาเคยมีประสบการณ์มา
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอังคาร (27) เช่นกัน เอเดรียน วัตสัน โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า "ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารเข้าไปสู้รบในยูเครน"
ขณะที่ จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกคน บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า บุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ในยูเครน มีเพียงพวกที่อยู่กับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงเคียฟเท่านั้น โดยที่คนเหล่านี้ “กำลังทำงานสำคัญ” เกี่ยวกับความรับผิดชอบสำหรับอาวุธซึ่งจัดส่งไปให้แก่ยูเครน
นอกจากนี้ เคอร์บียังปฏิเสธความเป็นไปได้ของการส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปยูเครน เพื่อทำหน้าที่เก็บกู้กับระเบิด, ผลิตอาวุธ, หรือปฏิบัติการทางไซเบอร์ ถึงแม้ สเตฟาน เซฌูร์เน รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ได้บ่งชี้เอาไว้ว่าอาจเป็นสิ่งซึ่งพวกทหารตะวันตกอาจถูกส่งเข้าไปทำในยูเครน
เขากล่าวต่อว่า "มันจะเป็นการตัดสินใจอย่างมีอธิปไตย” โดยฝรั่งเศส หรือประเทศสมาชิกใดๆของนาโตว่าจะส่งทหารเข้าไปยูเครนหรือไม่
ในส่วนของ แมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อถูกถามว่าอเมริกาจะส่งทหารเข้าไปยูเครน สำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่นการฝึกทหารหรือไม่ เขาก็ตอบว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คัดค้านการประจำการทางทหารใดๆ ในยูเครน
"เราจะไม่ส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปในยูเครน ท่านประธานาธิบดีแสดงจุดยืนชัดเจนมาก"
(ที่มา: เอเอฟพี,เอพี, เอเจนซีส์)