xs
xsm
sm
md
lg

มุกแป้ก!! ชาติอียู-นาโต-มะกันต่างปฏิเสธไม่เห็นงามกับ‘มาครง’ ที่เสนอส่งทหารภาคพื้นดินไปยูเครนสู้รบกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ขณะแถลงข่าวในตอนสิ้นสุดการประชุมระหว่างประเทศที่จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนในกรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.) เพื่อเร่งรัดและเพิ่มความเข้มแข็งของฝ่ายตะวันตกในการช่วยเหลือยูเครน
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสทำท่ากลายเป็นคนที่เพื่อนไม่เล่นด้วย ในวันอังคาร (27 ก.พ.) หลังจาก 1 วันก่อนหน้าได้เอ่ยระหว่างการประชุมนานาชาติเพื่อเร่งรัดช่วยเหลือยูเครนว่า ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในเรื่องชาติตะวันตกจะจัดส่งกำลังทหารภาคพื้นดินไปช่วยเคียฟสู้รบรัสเซีย เมื่อปรากฏว่าพวกชาติยุโรปที่มีกองทัพแกร่งอย่าง เยอรมนี, โปแลนด์ รวมทั้งองค์การนาโต และกระทั่งทำเนียบขาว ต่างปฏิเสธไม่เอาด้วยกับเรื่องนี้

เมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.) ผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของยุโรปราว 20 ชาติประชุมกันที่ปารีส โดยที่ฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าภาพย้ำว่าเพื่อส่งสาส์นถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เกี่ยวกับความมุ่งมั่นผูกพันของยุโรปซึ่งมีต่อยูเครน และตอบโต้การกล่าวอ้างของเครมลินที่ว่า รัสเซียจะชนะสงครามในยูเครนอย่างแน่นอน

มาครง กล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ยังไม่มีมติเอกฉันท์ในขั้นตอนนี้ แต่ไม่สามารถตัดทางเลือกใดๆ ได้ รวมทั้งการส่งกำลังทางภาคพื้นดินเข้าไปในยูเครน และยุโรปจะทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อให้รัสเซียไม่ได้ชัยชนะ

ทั้งนี้ มาครงเชิญผู้นำยุโรปร่วมประชุมที่จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนที่พระราชวังเอลิเซคราวนี้ เพื่อหารือวิธีเร่งรัดจัดหาเครื่องกระสุนให้แก่ยูเครน โดยที่เขาระบุว่ารัสเซียแสดงความก้าวร้าวมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการที่ปูตินได้ขึ้นบินทดสอบเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งถูกมองว่า เพื่อข่มขวัญยุโรปในขณะที่การสนับสนุนจากอเมริกายังไร้ความแน่นอนในภาวะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะจัดขึ้นปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม มาครงปฏิเสธไม่ยอมพูดอะไรมากกว่านี้เกี่ยวกับจุดยืนของฝรั่งเศสเองว่าจะส่งทหารไปยูเครนด้วยหรือไม่ โดยอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” แต่ย้ำว่าประเด็นที่เขาพูดถึงนี้ เป็นหนึ่ง “ในบรรดาทางเลือกต่างๆ” นอกจากนั้นเขายังบอกด้วยว่า “พวกเรามีความแน่ใจกันแล้วว่า การทำให้รัสเซียประสบความพ่ายแพ้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกมาได้จากการทำให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพในยุโรป”

ทางด้านนายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต ฟิโกของสโลวาเกีย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เข้าประชุมที่ปารีสครั้งนี้ ถึงแม้เขามีจุดยืนคัดค้านการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนก็ตาม กลาวยืนยันว่า มีสมาชิกบางชาติของนาโตและสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมส่งทหารไปช่วยยูเครน ขณะที่บางประเทศรวมถึงสโลวาเกียเองจะไม่ดำเนินการดังกล่าว และอีกหลายประเทศบอกว่า จำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอนี้เพิ่มเติม

ส่วนนายกรัฐมนตรีมาร์ก รึตเตอของเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นตัวเก็งเลขาธิการนาโตคนต่อไป บอกว่า การเจรจาในวันจันทร์ไม่ได้โฟกัสประเด็นการส่งทหารไปยูเครน

สำหรับสหรัฐฯซึ่งครั้งนี้ส่งเพียง จิม โอไบรอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการยุโรปและยูเรเซีย เข้าประชุม ไม่ได้มีข่าวว่าพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เวลาต่อมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่งเปิดเผยว่า อเมริกาไม่มีแผนส่งทหารไปรบในยูเครน รวมทั้งไม่มีแผนส่งกองกำลังนาโต ไปร่วมรบด้วยเช่นกัน

ในวันอังคาร (27) โอลาฟ ช็อลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งก็ไปร่วมประชุมที่ปารีสด้วย ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในที่ประชุม ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่มาครงพูด โดยเขากล่าวว่า พวกผู้เข้าร่วมต่างเห็นพ้องกัน “ว่าจะไม่มีทหารภาคพื้นดินใดๆ ไม่มีทหารใดๆ บนแผ่นดินยูเครนซึ่งเป็นผู้ที่ถูกจัดส่งไปที่นั่นโดยพวกรัฐยุโรปหรือพวกรัฐนาโต้”

ช็อลซ์ย้ำว่า ยังมีความเห็นเป็นฉันทามติกันด้วย “ว่าทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศของพวกเราก็ไม่ได้กำลังเข้าร่วมอย่างกระตือรือร้นในสงครามคราวน้ด้วยตัวของพวกเขาเอง”

ด้าน เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีว่า “เหล่าชาติพันธมิตรนาโตกำลังให้ความสนับสนุนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนแก่ยูเครน พวกเราได้ทำเช่รนนี้มาตั้งแต่ปี 2014 และเพิ่มมากขึ้นภายหลังการรุกรานอย่างเต็มขั้น แต่ไม่มีแผนการใดๆ สำหรับการส่งกองทหารสู้รบของนาโต้ไปยังภาคพื้นดินในยูเครน”

นายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทุสก์ ของโปแลนด์ ได้กล่าวระหว่างการประชุมงานหนึ่งในกรุงปราก, สาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันอังคารว่า “โปแลนด์ไม่มีแผนการที่จะจัดส่งทหารของตนไปยังยูเครน”

เช่นเดียวกับ นายกรัฐมนตรี เปตร์ ฟิอาลา ก็ยืนยันว่า “สาธารณรัฐเช็กนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่า ไม่ได้ต้องการที่จะส่งทหารของตนไป”

ดูจะมีเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่แสดงปฏิกิริยาในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้มากกว่าเพื่อน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีริชิ ซูแน็ก ไม่ได้ไปร่วมประชุมที่ปารีสด้วย เพียงจัดส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเดวิด คาเมรอน ไป กระนั้น ผู้ทำหน้าที่โฆษกของซูแน็กก็ได้ออกคำแถลงกล่าวว่า สหราชอาณาจักรไม่มีแผนการใดๆ สำหรับการจัดส่งทหาร “ขนาดใหญ่” ไปประจำที่ยูเครน

ในส่วนของรัสเซียนั้น ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ออกมาแถลงในวันอังคารเตือนว่า การสู้รบขัดแย้งโดยตรงระหว่างนาโตกับรัสเซียจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากกลุ่มพันธมิตรนาโตจัดส่งกองทหารสู้รบเข้าไปในยูเครน

“หากเป็นกรณีเช่นนั้น เราจำเป็นต้องพูดว่ามันไม่ใช่เรื่องของความน่าจะเป็น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (ที่จะต้องมีการสู้รบขัดแย้งกัน)” เปสคอฟ ย้ำ

“เซเลนสกี้” มาแจมด้วย

ในการประชุมที่ปารีสเมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ได้ปราศรัยกับผู้นำยุโรปผ่านวิดีโอลิงก์โดยสนับสนุนคำเตือนของมาครงเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวของรัสเซีย และเสริมว่า ยุโรปต้องดำเนินการให้แน่ใจว่า ปูตินไม่สามารถรุกรานประเทศอื่นๆ ต่อไป

มาครงตั้งข้อสังเกตว่า ผู้นำหลายคนที่คัดค้านข้อเสนอในที่ประชุมเป็นกลุ่มเดียวกับที่คัดค้านการส่งรถถัง เครื่องบิน และขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครนเมื่อสองปีก่อน

ผู้นำฝรั่งเศสสำทับว่า ยุโรปมักล่าช้าไป 6-12 เดือน และวัตถุประสงค์ในการหารือครั้งนี้คือ ทุกสิ่งเป็นไปได้หากช่วยให้เป้าหมายบรรลุผล และย้ำว่า
ยุโรปไม่ควรหวังพึ่งอเมริกาสำหรับการสู้รบในยูเครน
นอกจากนั้นมาครงยังระบุว่า มีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรใหม่เพื่อจัดส่งพวกขีปนาวุธตลอดจนระเบิด ที่มีระยะทำการระดับกลางๆ ไปจนถึงไกล เพื่อให้ยูเครนสามารถโจมตีลึกขึ้นในดินแดนชั้นในของรัสเซีย และที่ประชุมมีฉันทามติอย่างกว้างๆ ในการดำเนินการเพิ่มเติมและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการเร่งผลิตอาวุธร่วมกับยูเครน และส่งเสริมอุตสาหกรรมการทหารภายในยุโรป

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเป็ตร์ ฟียาลาของสาธารณรัฐเช็ก เผยว่า 15 ประเทศเห็นด้วยกับแผนการริเริ่มจัดซื้อกระสุนจากประเทศที่สาม โดยขณะนี้มีแนวโน้มว่า อียูจะไม่สามารถจัดส่งกระสุนปืนใหญ่ให้ยูเครนครบ 1 ล้านนัดได้ภายในเดือนมีนาคมตามที่รับปากไว้

นายกรัฐมนตรีแอนโตนิโอ คอสตาของโปรตุเกส เสริมว่า รัฐมนตรีกลาโหมได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมแผนการนี้มาเสนอภายใน 10 วันข้างหน้า

(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น