ทำเนียบขาวออกมายืนยันในวันอังคาร (27ก.พ.) ว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารไปสู้รบในยูเครน หลังประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ปฏิเสธตัดความเป็นไปได้ของการส่งกองกำลังตะวันตกเข้าไปจัดการกับรัสเซีย
อาเดรียน วัตสัน โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุในถ้อยแถลงว่า "ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารเข้าไปสู้รบในยูเครน"
ส่วน จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกคน บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "มีเพียงบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ในยูเครนที่อยู่กับสถานทูตสหรัฐฯ ในเคียฟเท่านั้น ที่กำลังทำงานสำคัญ รับผิดชอบด้านการส่งมอบอาวุธแก่ยูเครน"
นอกจากนี้ เคอร์บียังปฏิเสธความเป็นไปได้ของการส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปปลดชนวนกับระเบิด ผลิตอาวุธหรือปฏิบัติการทางไซเบอร์ แม้ สเตฟาน เซฌูร์เน รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส บ่งชี้ว่าทหารตะวันตกอาจถูกส่งเข้าไปยังยูเครน
เขากล่าวต่อว่า "มันจะเป็นการตัดสินใจโดยอธิปไตยโดยฝรั่งเศส หรือประเทศสมาชิกใดของนาโตว่าจะส่งทหารเข้าไปยูเครนหรือไม่"
ในส่วนของ แมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถูกถามว่าอเมริกาจะส่งทหารเข้าไปยูเครน สำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่นการฝึกฝนหรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คัดค้านการประจำการทางทหารใดๆ ในยูเครน "เราจะไม่ส่งทหารภาคพื้นเข้าไปในยูเครน ท่านประธานาธิบดีแสดงจุดยืนชัดเจนมาก"
ทั้งทำเนียบขาว และกระทรวงการต่างประเทศ บอกตรงกันว่าเป้าหมายที่พวกเขาให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ในตอนนี้คือความเคลื่อนไหวของสภาคองเกรสในการอนุมัติความช่วยเหลือทางทหารรอบใหม่แก่ยูเครน "โดยพื้นฐานแล้ว เราคิดว่าเส้นทางแห่งชัยชนะสำหรับยูเครนในตอนนี้อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ" มิลเลอร์กล่าว
ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พันธมิตรของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และแกนนำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากรีพับลิกัน ปฏิเสธเปิดทางให้มีการโหวตคำร้องขอของไบเดน สำหรับเงินช่วยเหลือรอบใหม่ราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะมอบให้แก่ยูเครน
(ที่มา : เอเอฟพี)