องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ควรเลิกสำแดงอำนาจทางทหาร แล้วเริ่มหันมาส่งเสริมสันติภาพโลกแทน จากเสียงเหน็บแนมของ จาง จุน ผู้แทนทูตจีนที่กล่าวกับที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในวาระครบรอบ 2 ปีของความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
การต่อสู้ระหว่างมอสโกกับเคียฟ ซึ่งลุกลามบานปลายเข้าสู่ความขัดแย้งทางทหารอย่างเปิดเผยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 คือเรื่องน่าเศร้าที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จากคำกล่าวของ จาง ที่เน้นย้ำระหว่างกล่าวปราศรัยในวันศุกร์ (23 ก.พ.) "สถานการณ์ที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการแผ่ขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกรอบแล้วรอบเล่าของนาโต นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น"
รัสเซียอ้างเหตุผลขัดขวางยูเครนจากการเข้าร่วมนาโต เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในปฏิบัติการทางทหารของพวกเขา ทั้งนี้ มอสโกส่งเสียงเตือนในหลายโอกาสว่าพวกเขามองความเป็นไปได้ที่เคียฟจะเข้าเป็นสมาชิกในพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ คือภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของพวกเขา
เอกอัครราชทูตจีนรายนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเคารพความกังวลด้านความปลอดภัยที่ชอบธรรมของทุกประเทศ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ "ความมั่นคงของภูมิภาคไม่อาจการันตีได้จากการเสริมความเข้มแข็งหรือแม้แต่ขยายกลุ่มก้อนด้านการทหาร" เขากล่าว "เราสนับสนุนนาโตให้ค้นหาจิตวิญญาณ ออกจากกรงความคิดสงครามเย็น และอดทนอดกลั้นจากการทำตัวเป็นนายหน้าแห่งปัญหาที่ยุยงการเผชิญหน้า"
นอกจากนี้ จาง ยังเรียกร้อง เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต "ให้มองโลกผ่านเลนส์แห่งเป้าหมาย หยุดกวัดแกว่งอาวุธสำแดงแสนยานุภาพ และทำสิ่งต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อสันติภาพโลกอย่างแท้จริง"
ผู้แทนทูตจีนกล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายในความขัดแย้งยูเครนควรทำงานร่วมกันในการสร้าง "สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้ออำนวยสำหรับการหวนคืนสู่การเจรจา ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้การบรรลุสันติภาพเป็นไปได้อย่างขั้น จัดหาอาวุธน้อยลง อย่าโหมกระพือเปลวไฟ สาดน้ำมันเข้ากองเพลิง และแสวงหากำไรจากวิกฤตจากยืดเยื้อ"
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับ ทัคเกอร์ คาร์ลสัน ผู้สื่อข่าวชาวสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเน้นย้ำว่า "นาโตเคยให้คำสัญญาจะไม่ขยายอาณาเขตมาทางทิศตะวันออก ตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 แต่ตะวันตกหลอกลวงมอสโก กลุ่มพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เดินหน้าเพิ่มเติมสมาชิกใหม่ๆ ทั้งในหมู่ชาติยุโรปตะวันออกและอดีตสหภาพโซเวียต ในหลายวาระนับตั้งแต่นั้น"
ในปี 1999 สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และโปแลนด์ เป็นกลุ่มชาติอดีตสหภาพโซเวียตชุดแรกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต จากนั้นในปี 2004 ในความเคลื่อนไหวขยายอาณาเขตครั้งใหญ่ที่สุดของพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ทางนาโตได้อ้าแขนรับบัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวะเกียและสโลวีเนีย เป็นสมาชิกเพิ่มเติม
ณ ที่ประชุมซัมมิตบูคาเรสต์ปี 2008 พันธมิตรทหารนาโต บอกว่าจอร์เจีย และยูเครนจะกลายมาเป็นสมาชิกของพวกเขาในอนาคต ความเคลื่อนไหวที่ก่อเสียงประท้วงเดือดดาลจากรัสเซีย
ในปีถัดมา นาโต เพิ่มเติมแอลเบเนีย และ โครเอเชีย เข้าเป็นสมาชิก ตามด้วยมอนเตเนโกร และนอร์ทมาซิโดเนีย ในปี 2017 และ 2020 ตามลำดับ
ประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมคือฟินแลนด์ ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกในปีที่แล้ว โดยอ้างถึงความกังวลด้านความปลอดภัยสืบเนื่องจากความขัดแย้งยูเครน ส่วนเพื่อนบ้านอย่างสวีเดน ก็จ่อเข้าร่วมเช่นกัน โดยเหลือเพียงขอการอนุมัติจาก ฮังการีเพียงชาติเดียว ก็จะกลายมาเป็นรัฐสมาชิกนาโตในที่สุด
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)