มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลวิจัยเสื้อผ้าจาก 13 ประเทศ ใน 4 ทวีป พบใช้ "สารเคมีตลอดกาล" หรือ "PFAS" 65% ส่วนไทยเก็บ 6 ตัวอย่าง พบทุกตัวอย่าง ติดสูงอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศเอเชีย ย้ำเลิกใช้สาร PFAS ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่สุด เหตุกำจัดยาก เพิ่มเสี่ยงก่อมะเร็ง แจงแจ็กเก็ตกันน้ำใช้สารอื่นทดแทน PFAS ได้
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวผลการศึกษาเรื่อง "การปนเปื้อนของสาร PFAS สารเคมีตลอดกาล (Forever chemicals) ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ" โดยนายฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า สารเคมีกลุ่ม PFAS มีการใช้ในอเมริกาและยุโรป มายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่เพิ่งค้นพบว่าเป็นสารกลุ่มอันตรายต่อชีวิตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศยุติการใช้แล้ว และหลายประเทศกำลังรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ เมื่อมูลนิธิบูรณะนิเวศได้รับการติดต่อจากเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ (IPEN) จึงได้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยครั้งนี้ด้วย รวมทั้งหมด 13 ประเทศ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องของอันตรายใกล้ตัวประชาชน เพราะสารเคมีในกลุ่ม PFAS ทุกตัวมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูออรีนที่ยึดเหนี่ยวกันแน่น จึงมีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก มักถูกเรียกว่า “สารเคมีตลอดกาล” ค่อนข้างมีความเป็นอมตะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากจะสูญสลาย ทั่วโลกมีการใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์มากกว่า 4,700 รายการ ร้อยละ 50 เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ
"เสื้อผ้าที่มีองค์ประกอบของ PFAS จะสัมผัสกับร่างกายโดยตรง สามารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมโดยง่ายในสภาพอากาศทั่วไป สาร PFAS บางชนิดจัดเป็นสารที่ระเหยได้ จึงอาจสะสมในร่างกายผู้ปฏิบัติงาน การซักทำความสะอาดทำให้ PFAS หลุดจากเสื้อผ้าสู่แหล่งน้ำได้ ซึ่งจะอยู่ตลอดไปหรือยาวนาน ทั้งที่ไม่ใช่สารจำเป็นที่จะต้องใช้ในเครื่องแต่งกาย และมีสารทดแทนอื่นที่ไม่เป็นอันตรายและคุณสมบัติคล้ายคลึงกับ PFAS ขณะที่ผลกระทบของ PFAS ต่อร่างกายมนุษย์ที่มีการศึกษาแล้ว เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไทรอยด์ เพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความสามารถร่างกายในการตอบสนองต่อวัคซีน เพิ่มเสี่ยงความดันโลหิตสูงและครรภ์เป็นพิษ เพิ่มเสี่ยงมะเร็งที่ไต ไม่สามารถเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เต็มที่ในผู้หญิง เพิ่มเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวลดลง" นายฐิติกรกล่าว
นายฐิติกรกล่าวว่า ในการวิจัยเก็บตัวอย่างจาก 13 ประเทศ ใน 4 ทวีป อเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ได้แก่ เยอรมนี เช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย สหรัฐอเมริกา และเคนยา โดยส่งตัวอย่างเสื้อผ้า 72 ตัวอย่าง แบ่งเป็น แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่น 16 ตัวอย่าง ไปห้องปฏิบัติการของสถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชารล์ส สาธารณรัฐเช็ก ดำเนินการทดสอบ 2 ประเภท ได้แก่ ตรวจหาสารกลุ่ม PFAS ตัวที่ระบุ 58 ชนิด และการวัดระดับ EOF (Extractable Organic Fluorine) หรือปริมาณฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ ซึ่งผลที่ได้จะสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS พบว่า มี 47 ตัวอย่าง ร้อยละ 65.3 ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง ร้อยละ 62.5 ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว โดยกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด
"หากดูเฉพาะของไทย เาจัดส่งเสื้อแจ็กเก็ตที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าของบางยี่ห้อไปร่วมการตรวจ 6 ตัวอย่าง ปรากฏว่าพบสารเคมี PFAS ในทุกตัวอย่าง และมี 1 ตัวอย่างจากไทยที่พบสาร PFAS สูงติดอันดับสูงสุด 10 ตัวอย่างจากทั่วโลก และสูงเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศเอเชีย" นายฐิติกรกล่าว
นายฐิติกรกล่าวว่า การควบคุมสารเคมี PFAS ภาพรวมของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กำลังให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้สารกลุ่ม PFAS ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสารดับเพลิง ซึ่งแสดงให้เห็นเรา เรายังอยู่ในช่วงของการเริ่มเรียนรู้เท่านั้น ดังนั้น เรื่องของการกำหนดค่ามาตรฐานหรือการมีกฎหมายเข้ามาควบคุมการใช้สารเคมีกลุ่มนี้จึงนับว่าไม่ทันการณ์ ดังนั้น เราจึงควรกระโดดข้ามขั้นตอนดังกล่าวไปได้เลย คือตั้งเป้าหมายไปสู่การยุติการใช้ อย่างที่โลกตะวันตกต่างมีบทสรุปออกมาแล้ว
"เราอยากรณรงค์ให้เกิดการเลิกใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้า คือตั้งแต่ต้นทาง แต่หากผู้ผลิตยังไม่สามารถยกเลิกการใช้ได้ คำแนะนำของเราที่คิดว่าทำได้ในวันนี้เลยก็คือ ควรติดฉลากเพื่อบอกผู้บริโภคว่าสินค้าชิ้นไหนมีสาร PFAS เราร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคครั้งนี้ ไม่เพียงเพื่อร่วมกันเผยแพร่ข้อมูล แต่เรายังหวังว่า ในระดับนโยบาย ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน จะตระหนักถึงอันตรายและให้มีการเลิกใช้โดยสิ้นเชิงในประเทศไทย เพราะสารนี้สะสมอยู่สภาพแวดล้อมในระดับที่อันตรายแล้ว และจะไม่สลายตัวไปโดยง่าย การหยุดวงจรการใช้สาร PFAS ที่ต้นทาง จึงดีที่สุด" นายฐิติกรกล่าว
น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายเผยแพร่ และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มเสื้อผ้า สิ่งทอมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่าง ในกลุ่มกางเกงชั้นในของผู้ชาย ชุดชั้นในหญิง ในปี 2556 และเฝ้าระวังต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งผลการทดสอบยังพบสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ในตัวอย่างทุกครั้งของการตรวจ สำหรับผลการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินการใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อแจ็กเก็ตและเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งครั้งนี้ นับได้ว่ามีความน่าห่วงกังวล เนื่องจากทั้งๆ ที่มีการรณรงค์เลิกใช้สารเคมีดังกล่าวในระดับโลก แต่ผลการตรวจยังพบการปนเปื้อนจำนวนมาก และที่สำคัญคือ พบว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ตรวจพบสารเคมีนั้นเป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำหรับเด็กด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องน่ายินดีที่ผลการทดสอบยังพบว่า มีแจ็กเก็ตกันน้ำกันเปื้อนถึง 21 ตัวอย่างที่ไม่ได้ใช้สารกลุ่ม PFAS แต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า PFAS นั้นมีอยู่ และมีบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมได้นำมาใช้แล้ว
“สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน นั่นคือการเลือกสรรเฉพาะวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาใช้ในการผลิต ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยเลือกแนวทางเช่นนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความใส่ใจต่อผู้บริโภคแล้ว ยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังจะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าสิ่งทอของประเทศไทยโดยรวมด้วย” น.ส.ทัศนีย์กล่าว