คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“วันนี้มีหมอกบางๆ บรรยากาศสดชื่น” เจ้าเก่งมองออกไปนอกรถ พูดอย่างอารมณ์ดี มงแน่ใจนะว่าเป็นหมอก ไอ้เก่ง” พี่หมอท้วง “อ้าว! ไม่ใช่หมอกเหรอพี่หมอ” “ฝุ่น PM2.5 หนาตึ้บเลยแถบนี้” “มิน่าล่ะ ผมถึงคัดจมูก น้ำมูกไหลตั้งแต่เช้า” “เออ! เฮียก็ได้ยินข่าวเค้ารายงานว่าเป็นสีส้ม สีแดง กันเกือบทุกแห่ง ให้ระวังรักษาสุขภาพกันเอง...ไม่เห็นมีใครทำอะไรเลย” คุณชูสง่าอดบ่นไม่ได้แล้วระบายต่อ “ขืนปล่อยอย่างนี้ เราก็เหมือนตายผ่อนส่ง เป็นมะเร็งปอดกันทุกคนแน่....เวรกรรม!”
ยังไม่ทันที่ความกังวลกับสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมายังไม่ทันจางหาย เรื่องของปริมาณฝุ่นPM2.5 ที่กลับมามีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ลังกระหน่ำซ้ำเข้ามาอีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพสะสมในระยะยาวหากได้รับอย่างต่อเนื่อง
ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 คืออนุภาคฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมฝุ่นจิ๋วนี้มักมีมากในช่วงปลายปีนี้ ไม่ยอมจางหายไปจากประเทศไทยเสียที ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนถึงสาเหตุของฝุ่นว่ามีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 แหล่งคือ
1.แหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การคมนาคมขนส่ง
2.แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ เช่น ผลจากปฏิกิริยาทางเคมีในอากาศ โดยมีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจน และแอมโมเนีย เป็นสารตั้งต้น รวมทั้งสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก
ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่สามารถควบคุมให้ปริมาณมลพิษทางอากาศเหล่านี้ให้ลดลงได้ รวมถึงสภาพความกดอากาศต่ำทำให้ไม่สามารถถ่ายเทมลพิษนี้โดยง่าย
-สัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
ฝุ่น PM2.5 นี้สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะถ้ามีการสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ เช่น
1.ต่อระบบผิวหนัง ทำให้มีปัญหาผื่นคัน ผื่นแพ้ลมพิษ ผิวหนังแพ้ง่าย ผิวหน้าเหี่ยว และเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย
2.ต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นอาการภูมิแพ้ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง ทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง มะเร็งปอด และยังทำให้เกิดโรคหลอดเลือด และโรคหัวใจเรื้อรัง
3.มีผลต่อพัฒนาการ และสติปัญญาของเด็ก
4.กระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็ก และสามารถส่งผลถึงทารกในครรภ์ ทำให้เจริญเติบโดตช้า หรือคลอดก่อนกำหนดได้
-วิธีป้องกัน และดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 3วิธีหลักๆ คือ
1.ใช้หน้ากากที่มีคุณภาพ เช่น N95 หากไม่มีอาจใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น และใส่ให้ถูกต้อง ให้แนบสนิทกับใบหน้าทุกส่วน
2.ควรอยู่ในอาคาร หรือพื้นที่ปิดมิดชิดมากกว่าการอยู่นอกบ้านหรือในพื้นที่โล่ง เพราะจะทำให้สัมผัสฝุ่นน้อยลง
3.ควรเปิดเครื่องกรองอากาศที่มีแผ่นกรองที่มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น PM2.5 และปิดห้องให้มิดชิด ไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาในห้อง
เท่านี้ก็ช่วยลดโอกาสการสัมผัสฝุ่นPM2.5ไปได้แล้ว อย่าน้อยอย่าลืมใส่หน้ากากป้องกันโรคป้องกันฝุ่นกันนะครับ