xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : สะเทือนโลก! ‘ปูติน’ จับเข่าคุยพิธีกรดัง ‘ทัคเกอร์ คาร์ลสัน’ ลั่นสงครามจบแน่หากตะวันตก ‘เลิกส่งอาวุธ’ ช่วยยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเปิดใจผ่านบทสัมภาษณ์กับพิธีกรชื่อดังชาวอเมริกัน ระบุรัสเซียไม่เคยคิดขยายสงครามในยูเครนให้ลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวหา ขณะเดียวกัน ก็ย้ำเตือนชาติตะวันตกว่าการจะทำให้รัสเซียพ่ายแพ้สงครามในยูเครน “เป็นไปไม่ได้เลย” และหากต้องการให้สงครามยุติก็เพียงแค่หยุดส่งอาวุธช่วยยูเครนเท่านั้น

ผู้นำรัสเซียได้เปิดเผยมุมมองดังกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ ทัคเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) อดีตผู้สื่อข่าวฟ็อกซ์นิวส์ และพิธีกรหัวอนุรักษนิยมชื่อดังชาวอเมริกัน โดยการพูดคุยนาน 2 ชั่วโมงนี้เกิดขึ้นที่กรุงมอสโก เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.พ. และถูกนำออกอากาศทางเว็บไซต์ tuckercarlson.com ในวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.พ.

แม้จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019 ที่ ปูติน ยอมเปิดโอกาสให้สื่อตะวันเข้าสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ทว่า คาร์ลสัน ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกับอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครประธานาธิบดีตัวเต็งของรีพับลิกัน กลับไม่ได้ใช้โอกาสนี้ตั้งคำถามแรงๆ กับผู้นำรัสเซียสักเท่าไหร่ และในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นฝ่ายนั่งฟัง ปูติน สาธยายประวัติศาสตร์รัสเซียในมุมมองของเขา รวมถึงอ้างว่ารัสเซียคือเหยื่อการทรยศหักหลังของพวกชาติตะวันตก

ปูติน ยังคงอ้างเหตุผลและความชอบธรรมในการสั่งบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปี 2022 โดยบอกว่าที่ทำไปนั้นก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัสเซีย และขัดขวางไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งอาจก่อภัยคุกคามร้ายแรงต่อแดนหมีขาว

เขายังฝากเตือนชาติตะวันตกให้ตระหนักเสียทีว่า อย่างไรเสียรัสเซียก็ไม่มีทางแพ้สงคราม ต่อให้สหรัฐฯ ยุโรป และนาโต จะอัดฉีดทั้งเงินและอาวุธช่วยยูเครนก็ตามที

“จนถึงตอนนี้มีหลายเสียงพยายามตะโกนเรียกร้องว่าต้องทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ในเชิงยุทธศาสตร์ให้ได้ แต่พวกเขาน่าจะเริ่มตระหนักแล้วล่ะว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะสำเร็จ หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ซึ่งในมุมของผมต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้มากกว่า” ปูติน กล่าว

ผู้นำรัสเซียยังฝากแง่คิดไปถึงสภาคองเกรสสหรัฐฯ ซึ่งบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกันที่หนุนหลัง ทรัมป์ ไม่เต็มใจที่จะผ่านงบประมาณสนับสนุนอาวุธและความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมแก่ยูเครน

“ผมจะบอกคุณให้ว่าเราคุยอะไรกันบ้างเกี่ยวกับประเด็นนี้ และอะไรบ้างที่เราบอกไปยังคณะผู้นำสหรัฐฯ... ผมบอกพวกเขาว่าถ้าอยากให้การสู้รบยุติลง พวกคุณต้องหยุดส่งอาวุธช่วยยูเครน” ปูติน กล่าว

ผู้นำรัสเซียยังบอกด้วยว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ ว่าจะหยุดส่งอาวุธช่วยยูเครน และโน้มน้าวเคียฟให้ยอมเปิดเจรจากับรัสเซียหรือไม่ พร้อมย้ำว่าสงครามจะยุติได้ก็ด้วยการ “ทำข้อตกลง”

“เราไม่เคยปฏิเสธการเจรจา” ปูติน กล่าว “คุณควรไปบอกคณะผู้นำยูเครนชุดปัจจุบันให้หยุด และเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจาเสียที”

เมื่อ คาร์ลสัน ตั้งคำถามต่อว่า มีโอกาสหรือเงื่อนไขใดๆ หรือไม่ที่จะทำให้รัสเซียตัดสินใจรุกรานประเทศอื่นในภูมิภาค รวมถึงรัฐสมาชิกนาโตอย่างโปแลนด์และลัตเวีย หรือแม้กระทั่งชาติยุโรปอื่นๆ ซึ่งก็ได้รับคำตอบชัดเจนจากผู้นำหมีขาวว่า “ไม่เคยมีความคิดแบบนั้นเลย”

“เราไม่เคยสนใจโปแลนด์ ลัตเวีย หรือว่าประเทศอื่นใด เราจะทำแบบนั้นไปทำไมเล่า? ก็ในเมื่อเราไม่ได้สนใจพวกเขา... มันก็แค่การกระพือข่าวให้ผู้คนหวาดกลัวภัยคุกคาม” ปูติน กล่าว

ผู้นำรัสเซียย้ำว่าสงครามกับโปแลนด์จะเกิดขึ้นได้ “ในกรณีเดียวเท่านั้น นั่นคือโปแลนด์เป็นฝ่ายรุกรานรัสเซียก่อน”


เมื่อถูกถามเรื่องโอกาสในการเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐฯ ในศึกเลือกตั้งเดือน พ.ย. ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะต้องมาดวลกับ ทรัมป์ อีกครั้งเหมือนเมื่อปี 2020 ปูติน ให้คำตอบว่า “คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่”

“คุณกำลังถามผมว่า เป็นไปได้ไหมที่จะมีผู้นำคนอื่นเข้ามา และทำให้บางอย่างเปลี่ยนไป? มันไม่ได้เกี่ยวกับตัวผู้นำ และไม่ใช่เรื่องบุคลิกภาพของคนใดคนหนึ่ง”

ทั้งระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ และหลังจากที่แพ้เลือกตั้งให้กับ โจ ไบเดน เมื่อปี 2020 ทรัมป์ ยังคงเอ่ยปากชื่นชม ปูติน อยู่เสมอและไม่เคยประณามการรุกรานยูเครน มิหนำซ้ำยังบอกด้วยว่า หากตนได้กลับมาครองทำเนียบขาวอีกครั้งก็จะทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนปิดฉากลง “ภายใน 24 ชั่วโมง”

ในทางตรงกันข้าม ไบเดน ตราหน้า ปูติน ว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” และถือว่าการหนุนหลังรัฐบาลยูเครนที่มาจากการเลือกตั้งและมีจุดยืนโปรตะวันตกคือหนึ่งในนโยบายแกนหลักของรัฐบาลอเมริกันชุดนี้

ในบทสัมภาษณ์ซึ่งมีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนจะครบรอบ 2 ปีที่รัสเซียปิดศึกรุกรานยูเครน ปูตินยังแย้มเป็นนัยๆ ว่าอาจจะยอมทำข้อตกลงปล่อยตัว อีแวน เกิร์ชโกวิช (Evan Gershkovish) นักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัล ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในรัสเซียด้วยข้อหาเป็นสายลับ

“ตอนนี้กำลังมีการเจรจาเงื่อนไขบางอย่างผ่านช่องทางพิเศษ” ปูติน วัย 71 ปีกล่าว พร้อมยืนยันข้อครหาว่าผู้สื่อข่าวรายนี้ทำตัวเป็น “สายลับ” ซึ่งทางวอลล์สตรีทเจอร์นัลและรัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว พยายามออกมาเบรกผลกระทบของบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ตั้งแต่ก่อนจะถูกเผยแพร่ โดยระบุว่า “ขอให้จำกันไว้ด้วยว่าพวกคุณกำลังจะได้ฟังสาส์นจาก วลาดิมีร์ ปูติน และสิ่งที่เขาพูดนั้นใช่ว่าจะเชื่อถือได้ทั้งหมด”


ด้าน วลาดีสลาฟ โคซิเนียก-คามีซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมโปแลนด์ ก็ได้ออกมาตอบโต้คำพูดของ ปูติน ที่ว่าไม่เคยคิดรุกรานโปแลนด์ โดยชี้ว่าลมปากของผู้นำหมีขาวรายนี้ “มีความน่าเชื่อถือเป็นศูนย์”

“ไม่มีอะไรจะทำให้เราลดการป้องกันตนเองได้ และคำพูดเช่นนี้ก็ยิ่งให้ผลตรงกันข้ามเลย เวลาใครบอกว่าไม่มีแผนจะทำอะไร คุณยิ่งต้องระวัง” โคซิเนียก-คามีซ บอกกับสื่อเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.พ.

โปแลนด์มีพรมแดนติดต่อกับเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย และยังอยู่ติดกับแคว้นคาลินินกราด (Kaliningrad) ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของรัสเซียที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลบอลติก

ผู้นำโลกอีกคนที่ออกมาโต้คำกล่าวอ้างของ ปูติน แบบทันทีทันใดเช่นกันก็คือ ซาเคีย เอลเปกตอร์ช (Tsakhia Elbegdorj) อดีตประธานาธิบดีมองโกเลียซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2009-2017 และเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเขาได้ออกมาโพสต์ข้อความเย้ยหยันผู้นำรัสเซีย พร้อมกับแชร์ภาพแผนที่ “จักรวรรดิมองโกล” ในอดีต ซึ่งเคยมีอำนาจครอบคลุมถึงดินแดนบางส่วนของรัสเซียในปัจจุบันด้วย

“หลังจากที่ฟัง ปูติน พูด ผมก็ไปเจอแผนที่ในประวัติศาสตร์ของมองโกเลีย แต่ไม่ต้องกังวล พวกเราเป็นชาติที่ใฝ่สันติและเสรีภาพ” เอลเปกตอร์ช กล่าว

อดีตผู้นำมองโกเลียรายนี้มักออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนยูเครนอยู่เสมอ ขณะที่รัฐบาลมองโกเลียชุดปัจจุบันไม่แสดงท่าทีเห็นดีเห็นงามกับปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ทว่าก็ไม่เคยประณามอย่างโจ่งแจ้ง

บทสัมภาษณ์ ปูติน ครั้งนี้ถูกสื่อรัสเซียนำไปเผยแพร่กันอย่างครึกโครม พร้อมชี้ว่านี่คือ “ดาบที่พุ่งแทงทะลุม่านแห่งการโฆษณาชวนเชื่อของพวกสื่อหน้าไว้หลังหลอกแห่งโลกอารยะ”

ก่อนที่จะลาออกจากฟ็อกซ์นิวส์ คาร์ลสันเคยตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ที่สหรัฐฯ จะอุดหนุนเงินทองและความช่วยเหลือแก่ยูเครน? และยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเหตุใดชาวอเมริกันถึงถูกเสี้ยมให้เกลียดชัง ปูติน มากมายขนาดนี้? ซึ่งข้อคิดเห็นของเขามักจะถูกสื่อรัสเซียนำไปตีแผ่อยู่เสมอ

ก่อนจะเริ่มการสัมภาษณ์ คาร์ลสัน ได้อ้างอย่างผิดๆ ว่า “ไม่มีสื่อหรือนักข่าวตะวันตกแม้แต่คนเดียว” ที่สนใจมาขอสัมภาษณ์มุมมองของผู้นำรัสเซียนับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วมีนักข่าวตะวันตกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ยื่นเรื่องของสัมภาษณ์ผู้นำรัสเซีย รวมถึง สตีฟ โรเซนเบิร์ก บรรณาธิการข่าวของ BBC ประจำรัสเซียด้วย ทว่าสื่อเหล่านี้ไม่เคยได้รับไฟเขียวจากทำเนียบเครมลิน


ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ออกมายอมรับว่าสิ่งที่ คาร์ลสัน พูดนั้น “ผิดพลาด” และบอกว่าเหตุผลที่ผู้นำรัสเซียเลือกที่จะคุยกับ คาร์ลสัน เป็นเพราะจุดยืนของอดีตพิธีกรฟ็อกซ์นิวส์รายนี้แตกต่างจากสื่ออื่นๆ ที่นำเสนอข่าวเพียง “ด้านเดียว”

ปูติน แทบไม่เปิดโอกาสให้สื่อต่างประเทศได้สัมภาษณ์เลยนับตั้งแต่เปิดศึกรุกรานยูเครนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะที่ทางการรัสเซียเองก็กวาดล้างพวกสื่ออิสระในประเทศ และสั่งให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติจำนวนมากเดินทางออกจากรัสเซีย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การไปเยือนมอสโกของ ทัคเกอร์ คาร์ลสัน ในครั้งนี้เป็นโอกาสให้ผู้นำรัสเซียสามารถเข้าถึงและอาจจะเรียกความเห็นอกเห็นใจจากฐานผู้ฟังอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ ได้ไม่น้อย ขณะเดียวกันบทสัมภาษณ์นี้ก็ยังถูกเผยแพร่ในห้วงเวลาที่สภาคองเกรสกำลังอภิปรายถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะให้งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับความพยายามในการทำสงครามของยูเครนหรือไม่ด้วย

วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้มีมติอนุมัติงบช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนและชาติพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐฯ จำนวน 95,340 ล้านดอลลาร์เมื่อวันอังคาร (13) ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากจะยอมรับข้อเสนอนี้หรือไม่

เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ออกมาเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เร่งผ่านร่างงบประมาณ “ที่สำคัญยิ่ง” ดังกล่าว และย้ำเตือนว่าชัยชนะของรัสเซียในสงครามยูเครนอาจจะทำให้ “จีน” ยิ่งเหิมเกริมมากขึ้น

รัฐบาล ไบเดน ได้อนุมัติความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนแล้วเป็นจำนวนกว่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดสงครามรุกรานเคียฟในปี 2022
กำลังโหลดความคิดเห็น