xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายเองไม่ไหวแล้ว? รบ.สหรัฐฯ แบะท่าหนุนตะวันตกยึดทุนสำรองรัสเซีย $3 แสนล้านเอาไปช่วย ‘ยูเครน’ ทำสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ส่งสัญญาณแบบเงียบๆ ไปยังชาติพันธมิตร สนับสนุนให้ยึดทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ที่เก็บเอาไว้ในชาติตะวันตก และผันเงินดังกล่าวเอาไปช่วยยูเครนทำสงคราม ขณะที่ความช่วยเหลือด้านการทหารที่โลกตะวันตกมีให้เคียฟชักจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งระบุว่า ก่อนหน้านี้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เคยออกมาโต้แย้งว่าการทำเช่นนั้นโดยปราศจากความเห็นชอบจากสภาคองเกรส “ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ในสหรัฐอเมริกา” และยังมีความกังวลในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงว่า มันอาจจะทำให้อีกหลายประเทศลังเลที่จะเก็บเงินทุนสำรองเอาไว้กับ Federal Reserve Bank of New York หรือในรูปของดอลลาร์สหรัฐ หากรู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกอเมริกายึดเอาง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไบเดนซึ่งประสานความร่วมมือกับกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ได้เริ่มมองหาลู่ทางใช้อำนาจที่มีอยู่ หรือขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรสเพื่อยึดทุนสำรองของรัสเซีย ซึ่งปรากฏว่ามีสมาชิกสภาคองเกรสที่ส่งสัญญาณหนุนร่างกฎหมายลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้รัฐบาล ไบเดน มีความหวังว่าอาจจะได้รับไฟเขียว

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง นักการทูต และนักกฎหมายในประเทศต่างๆ เริ่มมีการอภิปรายประเด็นนี้มากขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น เตรียมใช้ยุทธศาสตร์นี้ภายในวันที่ 24 ก.พ. ปี 2024 หรือในช่วงครบรอบ 2 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ถูกตัดขาดจากการควบคุมของรัสเซียมานานกว่า 1 ปี เนื่องจากสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นได้ออกมาตรการคว่ำบาตรอายัดทรัพย์สินดังกล่าว และปฏิเสธไม่ให้รัสเซียเข้าถึงทุนสำรองระหว่างประเทศของตัวเอง เพื่อตอบโต้ที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ส่งทหารรุกรานเคียฟ

อย่างไรก็ตาม การยึดทรัพย์สินเหล่านั้นเอาไปใช้ถือเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีนัยสำคัญ และจำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบ

แหล่งข่าวระบุว่า ไบเดน ยังไม่ได้ “เซ็นอนุมัติ” ให้ใช้ยุทธศาสตร์นี้ และมีรายละเอียดปลีกย่อยที่พวกเจ้าหน้าที่ยังคงถกเถียงกันอยู่อย่างหนัก โดยผู้กำหนดนโยบายจะต้องตัดสินใจว่าจะนำเงินเหล่านี้ส่งให้ยูเครนโดยตรง หรือว่าจะนำมันไปใช้ประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆ


เจ้าหน้าที่ยังต้องพิจารณา “ข้อจำกัด” ในการใช้เงินทุนเหล่านี้ด้วย ตัวอย่างเช่น จะนำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูบ้านเมืองและเศรษฐกิจของยูเครนเท่านั้น หรือว่าจะจัดสรรเพื่อนำไปสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของยูเครนโดยตรง เป็นต้น

เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นประเด็นเร่งด่วน หลังสภาคองเกรสสหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่ออนุมัติความช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติมก่อนสิ้นปีนี้ โดยความพยายามเฮือกสุดท้ายต้องปิดฉากลงเมื่อวันอังคาร (19 ธ.ค.) หลังฝ่ายรีพับลิกันยังคงดึงดันเสียงแข็งที่จะผูกโยงเงินช่วยเหลือยูเครนเข้ากับมาตรการสกัดกั้นผู้อพยพจากชายแดนเม็กซิโก

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลไบเดนมีความเชื่อว่าการยึดทรัพย์สินรัสเซียนั้นพอมีช่องทางให้ทำได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ คนหนึ่งระบุในสัปดาห์นี้ว่า ต่อให้สภาคองเกรสสามารถผ่าทางตันและอนุมัติงบช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติม แต่กระแสสนับสนุนสงครามที่ลดลงในฝ่ายรีพับลิกัน ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่ายูเครนตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนชัดเจนว่า สหรัฐฯ และตะวันตกจำเป็นต้องหาแหล่งทุนอื่นๆ เตรียมไว้เป็นทางเลือกสำรอง

มีการประเมินกันว่า สถาบันการเงินสหรัฐฯ ควบคุมทรัพย์สินของรัสเซียอยู่แค่ราวๆ 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าไม่มากมายนัก ทว่าทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนใหญ่ของรัสเซียถูกเก็บอยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในสถาบันการเงินของอเมริกาและยุโรป ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันมีสิทธิใช้อำนาจควบคุมการทำธุรกรรมผ่านดอลลาร์สหรัฐ หรือใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อแช่แข็งทรัพย์สินที่อยู่ในรูปของเงินดอลลาร์


เนื่องจากทุนสำรองของรัสเซียส่วนใหญ่ถูกเก็บอยู่ตามสถาบันการเงินในยุโรป รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยียมซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G7 ดังนั้นจึงเริ่มมีความพยายามเจรจาทางการทูตกับประเทศเหล่านี้ว่าจะเข้าถึงเงินทุนดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ซึ่งทุนสำรองบางส่วนนั้นถูกเก็บในรูปเงินยูโร และสกุลเงินอื่นๆ ด้วย

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนยอมรับว่า “แปลกใจ” ที่ ปูติน ไม่ถอนทุนสำรองเหล่านั้นกลับประเทศก่อนที่จะรุกรานยูเครน แต่ก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้นำรัสเซียคงคิดว่าตะวันตกจะไม่ยึดเงินสำรองเหล่านั้น เนื่องจากตอนที่มอสโกประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียเมื่อปี 2014 ก็ไม่ได้ถูกแตะต้องทุนสำรองระหว่างประเทศเช่นกัน

ที่มา : นิวยอร์กไทม์ส
กำลังโหลดความคิดเห็น