สหรัฐฯ แบกหนี้สาธารณะหลังแอ่น พุ่งแต่ 33.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,200 ล้านล้านบาท หรือ 3.55 ล้านบาทต่อคนอเมริกัน 1 คน ต้องแก้ปัญหาแบบแชร์ลูกโซ่ หาเงินจากนักลงทุนใหม่มาใช้หนี้นักลงทุนเก่า เพิ่มผลตอบแทนพันธบัตรทำให้ต้องแบกภาระดอกเบี้ย ต้องจ่ายหนี้ต่อปีเพิ่มเป็น 6 แสนล้านดอลลาร์ เสี่ยงเจอภาวะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ประเทศต่างๆ พากันลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หันไปซื้อทองคำแทน ความน่าสนใจของพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง ส่งสัญญาณถึงการล่มสลายของระบบดอลลาร์
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงวิกฤติหนี้สินของสหรัฐอเมริกา ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันสหรัฐฯ ก่อหนี้สาธารณะสะสมมากถึงเกือบ 33.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,200 ล้านล้านบาท
การก่อหนี้สาธารณะอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดไม่หย่อนของสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานมาหลายต่อหลายปี โดยนับตั้งแต่ปี 2563 มาเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว หนี้สาธารณะสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 90%
ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา จึงมีประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก นั่นคือเพดานหนี้สาธารณะ หรือ National Debt Ceiling
เมื่อประมาณ 1 ปีกว่าที่แล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ตัวเลขหนี้สาธารณะของสหรัฐฯพุ่งสูงถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์ (เป็นไทยเกือบ 1,000 ล้านล้านบาท)เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเป็นระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประเทศถึงเกือบ 1.3 เท่า(ปัจจุบัน GDP สหรัฐฯ อยู่ที่ราว 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 930 ล้านล้านบาท)ทั้งยังส่งให้สหรัฐฯ เข้าไปอยู่ในลำดับต้น ๆ ของรายชื่อประเทศที่มีภาระหนี้สินหนักที่สุด ตามรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
ในความเป็นจริง หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษ หรือ 20 ปีที่ผ่านมา แต่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมาตรการรับมือการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่รวมความถึงการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเร่งอัตราการขยายตัวของประเทศ โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ชี้ว่า ณ สิ้นปี 2562 หรือก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 22.7 ล้านล้านดอลลาร์
ปี 2563 ปรับขึ้นมาเป็น 27.7 ล้านล้านดอลลาร์
ปี 2564 เพิ่มเป็น 30 ล้านล้านดอลลาร์(ราว 1 พันล้านล้านบาท)
ต่อมาใน วันที่ 3 ตุลาคม 2565 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ออกมายอมรับว่า หนี้สาธารณะสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 31.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 1,075 ล้านล้านบาท)แล้วอย่างรวดเร็ว
โดยต้นปีที่ผ่านมา เมื่อ วันที่ 19 มกราคม 2566 หนี้สาธารณะสหรัฐฯ ก็แตะเพดานหนี้ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 1,120 ล้านล้านบาท) ทำให้รัฐบาลนายโจ ไบเดนต้องเจรจากับรัฐสภาเพื่อขยายเพดานหนี้เพิ่มเติมขึ้นไปอีก
จนกระทั่ง วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 สภาคองเกรส ประชุมเพื่อพิจารณาและลงมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ กับ นายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาคองเกรส และทีมงานร่วมร่างขึ้น หลังจากการเจรจากันมาหลายเดือน เรียกว่ารอดพ้นแบบเฉียดฉิวในการที่สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566
อย่างไรก็ตามหลังจากที่พ้นวิกฤตเรื่องเงินกู้ยืมชนเพดานหนี้ มาได้แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ กลับ กู้ยืมเงินมาเพื่อใช้จ่ายอย่างมือเติบมาตลอดไม่ว่าจะเป็นโครงการภายในประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงการสนับสนุนสงครามในยูเครน และล่าสุดคือ การให้คำมั่นสัญญากับ“อิสราเอล”ว่าจะช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการจัดการปัญหาปาเลสไตน์
โดยเมื่อ วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีข่าวแพร่สะพัดออกมาว่านายไบเดนกำลังจะของบประมาณจำนวนมหาศาลจากสภาคองเกรสอีก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการช่วยทำสงครามตัวแทนในหลายภูมิภาคทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น ยูเครน อิสราเอล หรือ ไต้หวัน
1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 3.55 ล้านล้านบาทหรือ มากกว่างบประมาณประจำปีของประเทศไทยทั้งปี แต่นี่เป็นงบประมาณที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขอเพื่อสนับสนุนการทำสงครามเพิ่มเติมในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเท่านั้น !
นี่เองจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า นับจากปลายเดือนพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายน 2566 หรือ แค่ระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา หนี้สาธารณะสหรัฐฯ ถึงได้พุ่งกระฉูดจาก 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 1,120 ล้านล้านบาท) มาปัจจุบัน เกือบแตะ 33.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 1,200 ล้านล้านบาท เข้าไปแล้ว !
หากกล่าวง่าย ๆ เพียงระยะเวลา 5 เดือน หนี้สาธารณะสหรัฐฯ พุ่งกระฉูดขึ้นกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ 80 ล้านล้านบาท !?!
หนี้สาธารณะ 33.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับ 1,200 ล้านล้านบาท นั้นมากมายมหาศาลขนาดไหน?
มีการคำนวณว่า หนี้สาธารณะสหรัฐฯ ที่สูงขนาดนี้เท่ากับว่า ประชากร 330 กว่าล้านคนของสหรัฐฯ ทุกคนนั้นมีหนี้ติดตัวตั้งแต่เกิด สูงถึง คนละกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็คน 3.55 ล้านบาท
นอกจากนี้ หนี้สาธารณะดังกล่าวของสหรัฐฯ สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ราว 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 930 ล้านล้านบาท)ไปแล้ว โดย หนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 129% ของ GDP ทั้งปีของสหรัฐฯ
ยิ่งไปกว่านั้น หนี้สาธารณะ 33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีมูลค่าสูงพอ ๆ กับขนาดของระบบเศรษฐกิจของชาติยักษ์ใหญ่ของโลก 4 ชาติ รองๆ ลงมา คือจีน ญี่ปุ่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักรรวมกันอีกด้วย!
นอกจากนี้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก หากคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของประเทศไทยในปี 2565 ที่ทั้งปีอยู่ที่ราว 17.5 ล้านล้านบาทดู ก็จะพบว่าถ้าเอา GDP ของไทยทั้งประเทศไปชำระหนี้ดังกล่าวของสหรัฐฯ ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 68 ปีเลยทีเดียว
ดังนั้นหากเปรียบ ประเทศสหรัฐฯ เป็นครอบครัว ๆ หนึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่า ครอบครัวใหญ่ครอบครัวนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว รายได้ที่หามาได้ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี นั้นไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนต้องไปกู้หนี้ยืมสินญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน คนรู้จักก็กู้ยืมมาหมดแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย
คำถาม ที่น่าสนใจต่อมาก็คือ การก่อหนี้สาธารณะที่มากมายมหาศาลของนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ หามาจากไหน?
คำตอบ ก็คือ การกู้ยืมผ่านการพิมพ์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ พิมพ์เงินดอลลาร์ขึ้นมาจ่ายคืนนั่นเอง
นี่เองเป็นสาเหตุให้ของรั ฐบาลสหรัฐฯต้องขยายเพดานหนี้ขึ้นไปเรื่อย ๆ จาก20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็น 22 ล้านล้าน, 27 ล้านล้าน, 30 ล้านล้าน, 31 ล้านล้าน, 33 ล้านล้าน และต่อไป ๆแล้วต้องบอกว่าจริง ๆ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ณ วันนี้ไม่ได้ต่างอะไรไป “แชร์ลูกโซ่” หรือ “Ponzi Scheme” แต่อย่างใดเลย
ทำไมจึงเป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่?
ก็เพราะว่า โดยธรรมชาติของ “แชร์ลูกโซ่” ก็คือ การที่ไม่ได้ทำธุรกิจ สร้างผลิตภาพหรือผลิตผลใด ๆ เพื่อหารายได้มาโปะกับรายจ่ายจริง ๆ แต่คือ การเร่หา“เงินลงทุนใหม่”เข้ามาเพื่อเอาไปจ่าย“เงินลงทุนเก่า”ที่หลอกมาก่อนหน้านี้ โดยหากไม่สามารถหาเงินลงทุนใหม่ มาได้“เครือข่ายแชร์ลูกโซ่”นั้น ๆ ก็ต้องประสบกับความล่มสลาย หรือ หายนะในที่สุด
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสถานะของการเป็นเจ้าโลก ทั้งในทางเศรษฐกิจ และการทหาร“สหรัฐอเมริกา”ไม่เคยต้องกลัวที่จะต้องหา“เงินลงทุนใหม่”เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯหรือพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อจ่ายหนี้คืน
เพราะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกหนุนหลังโดยระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่โต และทรงอิทธิพลที่สุดในโลก สหรัฐอเมริกาเปรียบตัวเองเป็นเจ้าโลก-ตำรวจโลก มีความน่าเชื่อถือที่สุดในโลก จะทำอะไรก็ได้ จะบีบบังคับให้การซื้อขายน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานต่าง ๆ ของทุกประเทศบนโลกนี้ ต้องใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นก็ทำได้ จะจับกุม อายัดบัญชีใคร/บริษัทไหน หรือ จะเก็บภาษีใครเพิ่มก็หาเหตุผลขึ้นมาอ้างได้ตลอด
แต่ ณ วันนี้เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์กับไม่ได้เป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว
จีนเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อเนื่องแล้วกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จีนซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของอเมริกา ได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างหนักและต่อเนื่องไปแล้วกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จีนยังถืออยู่ ณ เดือนสิงหาคม 2566 ลดลงเหลือ 805,400 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งในเวลานั้น จีนถือพันธบัตรสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 776,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทำให้เกิดความกังวลและความผันผวนในตลาดการเงิน ว่าหากมีการเทขายพันธบัตรและเงินสกุลดอลลาร์ออกมาอย่างหนักและต่อเนื่อง เงินก็จะไหลกลับไปที่อเมริกาโดยตรง และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้คนหวั่นเกรงว่า จะเกิด “สงครามค่าเงิน” ขึ้น
นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คือเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปีพุ่งเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ส่งผลให้นักลงทุนแห่เทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะเมื่อไรที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (Bond Shock) แทนที่จะสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี กลับเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีวิกฤตตลาดการเงินเกิดขึ้นแทน
ยกตัวอย่างเช่น “วัฎจักรอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ” ที่มักพุ่งขึ้นสูงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น
- เหตุการณ์ Black Monday ตลาดหุ้นล่มสลายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2530 (ค.ศ.1987)
- ต่อมาในปี 2537 (ค.ศ.1994) ก่อนเกิดวิกฤตเตกีล่าในละตินอเมริกาที่ค่าเงินเปโซของเม็กซิโกลดค่าลงครึ่งหนึ่ง หลังจากทั้งสองเหตุการณ์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงอย่างรวดเร็วสู่ระดับต่ำสุดใหม่ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นสูง
- จนกระทั่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในเอเชียเมื่อปี 2539-2540 (ค.ศ.1996-1997)
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2542 (ค.ศ.199) ก่อนจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ดอทคอมแตก (Dot-com Bubble) หลังจากทั้งสองเหตุการณ์ อัตราผลตอบแทนลดลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้นในปี 2549 ก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลก
- และอีกครั้งในปี 2553 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์เงินยูโร
- อัตราผลตอบแทนยังเพิ่มขึ้นก่อนที่ราคาน้ำมันจะตกต่ำในปี 2557 ในทุกกรณี อัตราผลตอบแทนจะพุ่งสูงก่อนลดลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่
ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งเกือบ 5% ล่าสุด จึงเป็นตัวบั่นทอนการขยายตัวของบริษัทต่าง ๆ เพราะต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจจะสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่ Bond Yield พุ่งสูงขึ้น นักลงทุนจะรู้สึกว่า ทำไมต้องไปรับความเสี่ยงจากตลาดหุ้นที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง สู้ไปซื้อพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำและได้ดอกเบี้ยที่แน่นอนไม่ดีกว่าเหรอ?
เท่ากับว่า วันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ ได้ดำเนินนโยบายผลักความเสี่ยง ไปสู่ผู้ลงทุนในตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ (Bond)
ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาวะขาลงของตลาดหมี (Bear Market) หรือก็คือ ภาวะที่ราคาหุ้นต่ำลงต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ปริมาณการซื้อขายก็มีน้อย เปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวของหมีที่อืดอาดเชื่องช้า ซึ่งครั้งนี้รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
โดยอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 160 จุดตั้งแต่กลางปี 2566 นี้ สวนทางกับมูลค่าแท้จริงของพันธบัตร ขณะที่ต้นทุนการจัดหาเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ควบคู่ไปกับ สถานะหนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐฯ ที่ผมบอกไปแล้วว่า “หนี้สินล้นพ้นตัว” เพราะพุ่งขึ้นแตะ 33.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้ารวมทุกภาคส่วนเข้าไป หนี้รวมทั้งหมดประมาณ 86 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่จีดีพีสหรัฐฯ อยู่ในระดับ แค่ 26 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น ดูเหมือนอเมริกาจงใจทำให้เหมือนตัวเองอ่อนแอ เพื่อดันเงินเฟ้อให้เกิดขึ้น จะได้สามารถเพิ่มค่าแรง โดยที่ค่าแรงถูกจากค่าเงินที่มันอ่อน ก็จะสามารถดึงอุตสาหกรรมกลับ โดยแลกกับความขัดแย้งและวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น
คนที่ถือดอลลาร์สหรัฐฯ แห่เทขายออกมา บวกกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ล้นระบบมากเกินไปไม่หมุนเวียนจึงเกิดการเสื่อมค่า บวกกับเรื่อง “สงครามทั้งสงครามยูเครน-รัสเซีย” และ “สงครามฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์” ก่อให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่า คือการนำโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดแตกพร้อม ๆ กันทั้งในตราสารหนี้ ,ตลาดหุ้น,ตลาดตราสารอนุพันธ์เพื่อซ่อนหนี้และฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์
ขณะนี้คนที่ถือตราสารหนี้อเมริกา คือธนาคารกลางทั่วโลกกำลังลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ ลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินหนุนหลังการพิมพ์เงินของทุกประเทศลง (De-dollarization) หันมาให้ความสำคัญกับทองคำ ส่งผลให้บทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินสำรองหลักของโลกอ่อนแอลง นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลและสกุลเงินที่หนุนด้วยทองคำ กำลังท้าทายการครอบงำของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และระบบพันธบัตรแบบดั้งเดิมของสหรัฐฯ ทำให้เกิดระเบียบโลกทางการเงินรูปแบบใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
สหรัฐฯ ต้องแบกรายจ่าย “ค่าดอกเบี้ย” มหาศาลจากการกู้ยืมเงิน
นอกจากนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยังทำให้ต้นทุนการจัดหาเงินกู้ในสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน
โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 33.7 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดใน วันที่ 30 กันยายน 2566
ด้วยเหตุนี้ ในปีงบประมาณ 2566 รายจ่ายดอกเบี้ย ของหนี้สาธารณะทั้งหมดของสหรัฐฯ จึงพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 660,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 23.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าที่อยู่ที่แค่ราว 475,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 16.95 ล้านล้านบาท)
ด้วยเหตุนี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จึงให้สัมภาษณ์กล่าวเตือนว่า จากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของประเทศ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มากกว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าต้นทุนหนี้สาธารณะของสหรัฐในช่วงอีกสิบปีข้างหน้า จะพุ่งทะลุเกินปีละ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 42.5 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว
หากความขัดแย้ง “สงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์” ยังคง ยืดเยื้อบานปลายต่อไป จนสหรัฐฯ ต้องหากู้เงินเพื่อนทุ่มงบประมาณสนับสนุนสงครามต่อไปในระยะยาว อาจก่อให้เกิดวิกฤติพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ“สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์”กำลังส่งผลกระทบต่อตลาดโลก กองทุน Safe-Haven ที่คาดว่าจะรักษาเงินต้นหรือเพิ่มมูลค่าในช่วงเวลาที่สภาวะเศรษฐกิจเกิดการผันผวน และสามารถลดความเสี่ยงในกรณีที่กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อาจไม่จำเป็นต้องสนับสนุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอีกต่อไป และอาจหันไปใช้ตัวเลือก Safe-Haven อื่นๆ หรือสินทรัพย์แบบดั้งเดิม เช่น ทองคำแทน
โดย พันธบัตรกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นเครื่องวัดสำคัญของราคาสินทรัพย์โลก กำลังกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับทองคำ
ในขณะเดียวกัน การที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสำคัญกับทองคำอย่างต่อเนื่อง ไม่สนใจคำเรียกร้องให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาดอลลาร์ โดยหาทางเลือกอื่นแทนถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้โมเดลหนี้ที่อาศัยสถานะดอลลาร์สหรัฐฯ ป็นเงินสำรองหลักของโลกกำลังอ่อนแอลง และถูกผลักดันให้เข้าใกล้จุดแตกหักมากขึ้น จากความผันผวน และความไม่แน่นอนของสถานะในอนาคตของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังกล่าว
เมษายน 2566 ที่ผ่านมาสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกัน จำนวน 3 คน ประกอบไปด้วยอเล็กซ์ มูนี่ย์, แอนดี บิกซ์และพอล โกซาร์ได้เรียกร้องให้มีการนำ “มาตรฐานทองคำ (Gold Standard)” กลับคืนมา โดยพวกเขาระบุว่า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินสำรอง ระบบการเงินนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามระบบเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานของ Ponzi Schemeหรือแชร์ลูกโซ่โดยใช้เงินจากนักลงทุนใหม่ และผูกติดแน่นอยู่กับหนี้ของสหรัฐฯ ทำให้บรรดาประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่พากันถอนตัวออกจากพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว และสั่นคลอนตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ลดการครอบงำสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและการลดค่าสกุลเงินทั่วโลก
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะต้องเดินทางไปยังปักกิ่ง และโค้งคำนับผู้นำจีนอย่างอ่อนน้อมก็ยอม
ฝ่าย นายเรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates เฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เตือนว่าปัญหาเกี่ยวกับเงินดอลลาร์สหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าสหรัฐฯจะพยายามขายพันธบัตรและนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐนำมาใช้ก็ตาม
ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการเรื่องการลดการพึ่งพาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะแกนหลักของระบบการเงินโลกถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ
สิ่งนี้น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากสหรัฐอเมริกามักเผชิญกับวิกฤติหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงอีก
การล่มสลายของพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าและสถานะของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และผลประโยชน์ทางการเงินที่สำคัญที่ได้รับในฐานะสกุลเงินสำรองหลักของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังค่อย ๆ ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และแนวโน้มการเปลี่ยนไปใช้ทองคำกำลังเกิดขึ้น
รายงานล่าสุดจาก “สภาทองคำโลก” ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของทองคำจะเป็นไปอย่างโดดเด่นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ 2566 โดยได้แรงหนุนจากเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น จากสงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่กระตุ้นให้เกิดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และการหยุดชะงักของซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานน้ำมันที่มาจากตะวันออกกลาง
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงต้องการ ลงทุนในทองคำมากขึ้นต่อไป ในเดือนสิงหาคม 2566 ธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มการลงทุนในทองคำสุทธิ 77 ตัน นับเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันของการซื้อสุทธิและมีการซื้อทองคำสุทธิรวม 219 ตัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนได้กลายเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐและพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันตะวันออกกลางก็เป็นผู้ซื้อที่มีศักยภาพ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาจากรายงานจากสื่อ The Straits Times ของสิงคโปร์ ระบุว่า จากข้อมูลของ สภาทองคำโลก (World Gold Council) นับตั้งแต่ต้นปี 2566 สิงคโปร์ติด 3 อันดับแรกของ ประเทศที่ระดมซื้อทองคำเก็บสำรองมากที่สุดในโลก คือ
1.ประเทศจีน โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ธนาคารกลางจีนได้เพิ่มการถือครองทองคำขึ้นอีก 181 ตันรวมเป็นทั้งหมด 2,192 ตัน
2.โปแลนด์ นับตั้งแต่ต้นปี ธนาคารแห่งชาติโปแลนด์สะสมทองคำเพิ่มขึ้นอีก 105 ตัน
3.สิงคโปร์ โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 ธนาคารกลางสิงคโปร์ซื้อทองคำเก็บสำรองไปแล้ว 75 ตัน
นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ยังมีรายงานว่าอิหร่าน กับรัสเซีย กำลังวางแผนใน การออกสกุลเงินสำรองดิจิทัลที่หนุนด้วยทองคำ โดยสกุลเงินนี้จะช่วยให้อิหร่านสามารถผูกติดกับอัตราทองคำระหว่างประเทศและใช้สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ข้ามพรมแดน และเชื่อมต่อระบบหักบัญชีระหว่างประเทศ และธนาคารกลางของอิหร่านยังอนุญาตให้ทำธุรกรรมทองคำในสกุลเงินต่างประเทศ เช่น เงินหยวนและเงินยูโร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์
เมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2566สถาบันวิจัย McGill International แนะนำว่าผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง ประเทศต่างๆ เช่นอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรักและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถแปลงส่วนหนึ่งของรายได้น้ำมันของตนให้เป็นทองคำสำรองได้ คล้าย ๆ กับที่ธนาคารกลางทั่วโลกขายพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อซื้อทองคำ ซึ่งสนับสนุนโอกาสสร้างระบบสกุลเงินสำรองดิจิทัลทั่วโลกที่ยึดกับทองคำ
ความหลากหลายในการชำระหนี้สินค้าโภคภัณฑ์ สินทรัพย์ทุนสำรองระหว่างประเทศ สกุลเงินดิจิทัลและสกุลเงินที่ใช้น้ำมัน บ่งชี้ว่า การครอบงำของเปโตรดอลลาร์ (Petro Dollar) ที่กินเวลาอย่าง มายาวนานครึ่งศตวรรษและระบบพันธบัตรสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาความท้าทาย และความเชื่อมั่นในพันธบัตรสหรัฐฯที่หนุนหลังหนี้ของประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต
ท่ามกลางด้วยการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลควบคู่ไปกับทองคำ ระเบียบโลกทางการเงินใหม่คู่ขนานกับดอลลาร์สหรัฐฯ ก็กำลังเกิดขึ้น เพราะสกุลเงินดิจิทัลสามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับธนาคารกลางทั่วโลกจำนวนมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านระบบธนาคารที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ
บทบาทของดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังถูกประเมินใหม่ และมีสัญญาณถึงการล่มสลายของระบบดอลลาร์ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังต่อสู้กับภาวะถดถอย และสงครามปาเลสไตน์-อิสราเอล อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และความเสี่ยงการขาดดุลทางการคลังกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ที่กัดกร่อนความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และพันธมิตรของอเมริกาเร่งจัดการลดความเสี่ยงโดย De-dollarisation ลดการพึ่งพาดอลลาร์
ขณะที่จีนกำลังตัดขาดการถือพันธบัตรสหรัฐ และธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเพิ่มทุนสำรองเป็นทองคำมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลทำให้เกิดศักยภาพใน การสร้างระเบียบโลกการเงินใหม่ (New Monetary Order) โดยมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และระบบการเงินโลก
สถานการณ์นี้ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ โดยเฉพาะความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ เช่น สงครามระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของตลาดและประเทศต่าง ๆ จะต้องจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง !