xs
xsm
sm
md
lg

เป็นปี่เป็นขลุ่ย! สภาอิสราเอลโหวตหนุนจุดยืน ‘เนทันยาฮู’ คัดค้านการรับรองรัฐปาเลสไตน์ ‘ฝ่ายเดียว’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสภาอิสราเอลมีมติสนับสนุนจุดยืนของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งคัดค้านการกระทำฝ่ายเดียว (unilateral) ในการรับรองรัฐปาเลสไตน์ ท่ามกลางกระแสกดดันจากนานาชาติที่เรียกร้องให้ฟื้นกระบวนการเจรจาเปิดทางให้ชาวปาเลสไตน์ได้มีรัฐอิสระเป็นของตนเอง

โฆษกรัฐสภาอิสราเอล หรือ Knesset ระบุว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวนมาก โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโหวตสนับสนุนถึง 99 จากทั้งหมด 120 เสียง

รัฐบาลอิสราเอลแถลงจุดยืนชัดเจนว่า ข้อตกลงถาวรใดๆ ก็ตามกับชาวปาเลสไตน์จะต้องมาจากการเจรจาทางตรงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่เกิดจากคำสั่งของนานาชาติ

“สมาชิกสภา Knesset พร้อมใจกันโหวตต่อต้านความพยายามกดดันให้เราต้องยอมรับการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ ซึ่งไม่เพียงไม่อาจสร้างสันติภาพ แต่ยังเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอลด้วย” เนทันยาฮู กล่าว

มติของรัฐสภาอิสราเอลเมื่อวานนี้ (21 ก.พ.) เรียกเสียงประณามจากกระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ ซึ่งกล่าวหาว่าอิสราเอลกำลังยึดสิทธิของชาวปาเลสไตน์เป็นตัวประกัน และบังคับยึดครองดินแดนที่ชาวปาเลสไตน์หวังใช้ในการก่อตั้งรัฐ

“ทางกระทรวงขอยืนยันอีกครั้งว่า การที่รัฐปาเลสไตน์จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติอย่างเต็มรูปแบบ และได้รับการรับรองจากนานาชาตินั้นไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาต เนทันยาฮู ก่อน” คำแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ ระบุ

จนถึงขณะนี้ความพยายามใช้แนวทาง 2 รัฐ (two-state solution) ซึ่งหมายถึงการตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นในเขตเวสต์แบงก์และกาซาให้ดำรงอยู่เคียงข้างกับอิสราเอลเพื่อยุติความขัดแย้งยิว-ปาเลสไตน์ ยังแทบจะไร้ความคืบหน้า นับตั้งแต่มีการทำข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางการถือกำเนิดของรัฐปาเลสไตน์ก็คือ การที่อิสราเอลยังคงขยายนิคมชาวยิวเข้าไปในดินแดนซึ่งยึดครองเอาไว้หลังสงครามตะวันออกกลางปี 1967

หลายชาติมองว่า การก่อสร้างนิคมชาวยิวซึ่งในหลายๆ กรณีส่งผลให้ชุมชนชาวปาเลสไตน์ถูกตัดขาดออกจากกัน ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวทาง 2 รัฐยังคงถือเป็นนโยบายหลักที่ชาติตะวันตกมีต่อปัญหาความขัดแย้งยิว-ปาเลสไตน์ และตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว สหรัฐฯ ก็ได้พยายามนำกระบวนการสถาปนารัฐปาเลสไตน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในดีลระดับภูมิภาค โดยหวังให้ซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับต่างๆ ยอมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติกับอิสราเอล

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น