อันโตนีโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเตือนวานนี้ (23 ม.ค.) ว่าการที่รัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธแนวทาง 2 รัฐ (two-state solution) เพื่อยุติความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ พร้อมเตือนว่าจุดยืนเช่นนี้จะยิ่ง “กระพือความฮึกเหิมให้พวกหัวรุนแรงสุดโต่งในทุกๆ ที่”
ระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นว่าด้วยสถานการณ์ในตะวันออกกลาง กูเตียร์เรส กล่าวว่า “การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาลอิสราเอลออกมาประกาศและย้ำท่าทีปฏิเสธแนวทาง 2 รัฐอย่างชัดเจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นสิ่งที่รับไม่ได้
“การปฏิเสธและไม่ยอมรับสิทธิของคนปาเลสไตน์ในการมีรัฐเป็นของตนเอง จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งซึ่งกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกยืดเยื้อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
กูเตียร์เรส ยังระบุชัดเจนว่า “การยึดครองโดยอิสราเอลจะต้องสิ้นสุดลง”
สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นทั้ง 15 ชาติต่างเห็นพ้องต้องกันมานานแล้วว่า อิสราเอลและปาเลสไตน์จำเป็นจะต้องมีรัฐของตนเองที่อยู่เคียงข้างกัน ภายใต้พรมแดนที่ปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งชาวปาเลสไตน์นั้นต้องการสถาปนารัฐของตนเองบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน รวมถึงพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออก และฉนวนกาซา ซึ่งล้วนแต่เป็นดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดไปในปี 1967
ด้วยภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยังคงร้อนระอุ นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ออกมาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อิสราเอลจำเป็นต้องมีอำนาจควบคุมความมั่นคงเหนือดินแดนทั้งหมดบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งรวมถึงดินแดนปาเลสไตน์ด้วย และย้ำว่า “มันขัดแย้งกับหลักอธิปไตยก็จริง แต่จะทำยังไงได้”
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กลุ่มติดอาวุธฮามาสได้บุกโจมตีข้ามแดนไปยังตอนใต้ของอิสราเอล สังหารประชาชนไปราว 1,200 คน และจับคนไปเป็นตัวประกันอีก 253 คน ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลก็แก้แค้นด้วยการโจมตีทางอากาศและเปิดปฏิบัติการจู่โจมภาคพื้นดินจนบ้านเมืองในกาซาพังย่อยยับ และมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 25,000 คน
“ประชาชนในกาซาต้องเผชิญกับการทำลายล้างในระดับที่รุนแรงและรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่” กูเตียร์เรส กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงฯ
“การลงโทษชาวปาเลสไตน์แบบเหมารวมเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดจะอ้างความชอบธรรมได้เลย” เขากล่าว
ริยาด อัล-มาลิกี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ บอกกับคณะมนตรีความมั่นคงฯ ว่า เนทันยาฮู “มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือทำให้ตัวเองอยู่รอดในทางการเมือง แม้จะต้องแลกกับชีวิตคนปาเลสไตน์นับล้านๆ ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล ตลอดจนสันติภาพและความมั่นคงของทุกๆ ฝ่ายก็ตาม”
อัล-มาลิกี ยังระบุด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “ยอมรับรัฐปาเลสไตน์เข้าสู่ยูเอ็น” ซึ่งกระบวนการนี้จำเป็นต้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ (ที่สหรัฐฯ ถือสิทธิวีโต) ยื่นเรื่องเสนอแนะสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อให้รัฐสมาชิกยูเอ็น 193 ประเทศร่วมกันพิจารณา
“อิสราเอลไม่ควรคิดเพ้อฝันไปว่ายังมีหนทางที่ 3 ที่พวกเขาจะสามารถยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ใช้แนวคิดแบบเจ้าอาณานิคม และใช้มาตรการกีดกันทางเชื้อชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคได้อีกต่อไป” อัล-มาลิกี กล่าว
ด้าน กีลาด เออร์ดัน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น ระบุว่าหากพวกฮามาสยอมส่งตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. มารับโทษ และปล่อยตัวประกันทั้งหมดออกมา “สงครามก็จะสิ้นสุดทันที” และย้ำว่าอย่างไรเสียอิสราเอลก็จะไม่ยอมให้ฮามาสกุมอำนาจปกครองกาซาต่อไปอีก
ที่มา : รอยเตอร์, The Guardian