แผนของอิสราเอลที่หวังทำลายล้างกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ "ฮามาส" ในฉนวนกาซา กำลังไม่ได้ผล และสหภาพยุโรปจำเป็นต้องหาทางผลักดันสถาปนาแนวทางสองรัฐ (Two-State solution) ที่อยู่เคียงคู่กัน แม้อิสราเอลคัดค้าน จากคำกล่าวของ โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ระบุในวันจันทร์ (22 ม.ค.)
นายกรัฐมตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เมื่อวันอาทิตย์ (21 ม.ค.) เน้นย้ำจุดยืนคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ใดๆ ที่จะเสี่ยงก่ออันตรายต่อการดำรงอยู่ของอิสราเอล เขาบอกว่าอิสราเอลจะยังคงยืนกรานถึงความจำเป็นต้องควบคุมด้านความมั่นคงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือทุกดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ในนั้นรวมถึงฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์ ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล
บอร์เรล กล่าว ณ ที่ประชุมรายเดือนของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียู แต่คราวนี้มีบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศจากซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และจอร์แดน รวมถึงเลขาธิการสันติบาตอาหรับเข้าร่วมด้วย การพูดคุยจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญส่วนใหญ่ไปที่ผลสืบเนื่องจากการโจมตีของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม และปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นของอิสราเอลในกาซา
อิสราเอล แคทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล และริยาด อัล-มาลิกิ รัฐมนตรีต่างประเทศปาเลสไตน์ ปรากฏตัวต่อที่ประชุมคนละเวลา ในขณะที่ประชุมดังกล่าวยังมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับสงครามในยูเครนเช่นกัน
ในการพูดพาดพิงถึงเป้าหมายของอิสราเอลในการกำจัดพวกฮามาส ในสงครามทำลายล้างที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือนในกาซา ทาง บอร์เรล บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "อะไรคือทางออกอื่นในความคิดของพวกเขา ให้ชาวปาเลสไตน์ทุกคนอพยพออกมางั้นหรือ? ฆ่าพวกเขาทั้งหมดงั้นหรือ? แนวทางของการทำลายฮามาสไม่ใช่แนวทางที่จะทำแบบนั้น พวกเขากำลังประทับตราความเกลียดชังไปอีกหลายชั่วอายุคน"
บอร์เรล กล่าวว่าเขาต้องการกดดันให้เดินหน้าด้วยความพยายามของนานาชาติ ในการจัดทำกระบวนการหนึ่งซึ่งนำไปสู่ความเป็นรัฐปาเลสไตน์ ที่อยู่ร่วมกันเคียงข้างกับอิสราเอล ทั้งนี้ การเจรจาครั้งสุดท้ายในประเด็นดังกล่าวจบลงด้วยความพังครืนเมื่อราว 1 ทศวรรษก่อน ท่ามกลางความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันและจุดยืนที่ไม่ประนีประนอม
ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและจู่โจมทางภาคพื้นครั้งใหญ่ของอิสราเอลในกาซา ฉนวนเล็กๆ ที่มีพลเรือนพักอาศัยอยู่หนาแน่น ได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปมากกว่า 25,000 คน ทำลายล้างพื้นที่ต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลองและทำให้ประชาชนส่วนใหญ่จากทั้งหมดราว 2.3 ล้านคน ต้องไร้ถิ่นฐาน
อิสราเอล บอกว่าสงครามอาจลากยาวไปอีกนานหลายเดือน และพวกเขาจะไม่หยุดพัก จนกว่าฮามาสจะถูกขุดรากถอนโคน ตัวประกันอิสราเอลทุกคนได้รับการปล่อยตัว และฉนวนกาซาไม่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงอีกต่อไป
"เราง่วนอยู่กับกระบวนการนี้มานานกว่า 30 ปี แล้วดูซิ ตอนนี้เรามาอยู่ที่จุดไหน" อัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดนบอกกับพวกผู้สื่อข่าว อ้างถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990
"นี่คือเวลาแห่งความเป็นจริงสำหรับเรา เราจะปล่อยให้วาระเหยียดเชื้อชาติสุดขั้วเป็นตัวกำหนดอนาคต หรือจะร่วมมือกันแล้วพูดว่า เส้นทางนั้นชัดเจนมาก เราต้องการสันติภาพสำหรับทุกคนและทางออก 2 รัฐคู่ขนาน เป็นเพียงเส้นทางเดียว จงเดินหน้าและทำมันให้ลุล่วง"
รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ระบุว่าเขาเดินทางมายังบรัสเซลส์ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นตัวประกันที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของฮามาส และรับประกันว่าอิสราเอลจะขุดรากถอนโคนฮามาส รวมถึงฟื้นฟูความมั่นคงแห่งชาติของอิสราเอล
ก่อนหน้าการประชุมในบรัสเซลส์ บรรดาหน่วยงานทางการทูตของอียู ได้ส่งเอกสารหารือฉบับหนึ่งไปยังเหล่าประเทศสมาชิก 27 ชาติ แนะนำโรดแมปหนึ่งในกระบวนการสันติภาพในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
แก่นกลางของแผนดังกล่าวคือการเรียกร้องให้จัดการประชุมเตรียมการสันติภาพที่ดำเนินการโดยอียู อียิปต์ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบียและรัฐต่างๆ ในสันนิบาตอาหรับ ในขณะที่สหัฐฯ และสหประชาชาติก็จะได้รับเชิญให้เป็นผู้ประสานงานการประชุมเช่นกัน
การประชุมนี้จะเดินหน้าแม้หากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ปฏิเสธเข้าร่วม แต่จะมีการพูดคุยหารือกับทั้งสองฝ่ายในทุกๆ ก้าวย่างของการเจรจา ในระหว่างที่บรรดาคณะผู้แทนหาทางร่างแผนสันติภาพ
เอกสารภายในฉบับนี้ เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของแผนสันติภาพ ก็คือการสถาปนารัฐเอกราชปาเลสไตน์ ซึ่งดำรงอยู่เคียงข้างอิสราเอล อย่างสันติและมีความมั่นคง
พวกเจ้าหน้าที่อียูยอมรับว่าเวลานี้บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้แทนทูตของอิสราเอลยังไม่สนใจในสิ่งที่เรียกว่าแนวทางสองรัฐ (Two-State solution) แต่ยืนยันว่ามันเป็นทางเลือกเดียวสำหรับสันติภาพในระยะยาว
ในฝั่งของปาเลสไตน์ มีความเห็นแตกแยกกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ด้วยองค์การปาเลสไตน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกและปกครองตนเองอย่างจำกัดในเขตเวสต์แบงก์ กำลังเจรจากับอิสราเอล แต่ทาง ฮามาส คู่อริขององค์การปาเลสไตน์ สาบานว่าจะทำลายล้างอิสราเอล
ทำเนียบนายกรัฐมนตรีของเนทันยาฮู ระบุในวันเสาร์ (20 ม.ค.) หลังจากพูดคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ว่าอิสราเอลยังจำเป็นต้องควบคุมด้านความมั่นคงเหนือกาซา เพื่อรับประกันว่ากาซาจะไม่เป็นภัยคุกคามอิสราเอลอีกต่อไป เงื่อนไขที่ขัดแย้งกับเสียงเรียกร้องความเป็นอธิปไตยของปาเลสไตน์
อียู คือผู้มอบความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจรายสำคัญแก่ปาเลสไตน์ และมีข้อตกลงความร่วมมืออย่างกว้างๆ กับอิสราเอล ในนั้นรวมถึงเขตการค้าเสรี ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่บางส่วนแนะนำอย่างลับๆ ว่าอาจใช้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นตัวอิทธิพลกดดันอิสราเอล
(ที่มา : รอยเตอร์)