ราคาน้ำมันขยับลงต่ออีกราว 2% ในวันศุกร์ (2 ก.พ.) หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ บั่นทอนโอกาสที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งนี้ ซึ่งมันอาจบั่นทอนอุปสงค์ทางพลังงาน ขณะที่ปัจจัยดังกล่าวฉุดทองคำปรับลด ขณะที่วอลล์สตีทปิดบวกแข็งแกร่ง ได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการบริษัท
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1.54 ดอลลาร์ ปิดที่ 72.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 1.37 ดอลลาร์ ปิดที่ 77.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ข้อมูลที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (2 ก.พ.) เผยให้เห็นว่าพวกนายจ้างสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดหมายไว้ในเดือนมกราคม ลดโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยในระยะสั้น ขณะที่มันยังผลักให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 187,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8%
ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก สมาชิกรายหนึ่งของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป บ่งชี้เช่นกันว่ายังเร็วเกินไปที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในยูโรโซน
ข้อมูลการจ้างงานที่กัดเซาะความหวังที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการแข็งค่าของดอลลาร์ ฉุดราคาทองคำปิดลบแรงในวันศุกร์ (2 ก.พ.) โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 17.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 2,053.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกในวันศุกร์ (2 ก.พ.) จากรายงานผลประกอบการที่แข็งของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ และข้อมูลการจ้างงานที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอเมริกา แม้อีกด้านหนึ่งมันจะกัดเซาะความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ก็ตาม
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 134.58 จุด (0.35 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 38,654.42 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 52.42 จุด (1.07 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,958.61 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 267.31 จุด (1.74 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 15,628.95 จุด
นอกเหนือจากข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งแล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจาก รายงานผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่งของเมตา แพลตฟอร์มส์ และแอมะซอน เป็นตัวหนุนสำคัญของเอสแอนด์พี 500
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 79.0 ในเดือน ม.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 78.8 จากระดับ 69.7 ในเดือน ธ.ค.
ผู้บริโภคเพิ่มความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่คลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
(ที่มา : รอยเตอร์)