xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 35.54 รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.20-35.80 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (22 ม.ค.) ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 34.43-35.57 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างดัชนี S&P500 ต่างปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ มีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงหลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยเร็วและลึกของเฟด ส่วนนักลงทุนต่างชาติต่างเทขายสินทรัพย์ไทย ส่วนในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น อัตราเงินเฟ้อ PCE และดัชนี PMI พร้อมเตรียมจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมีนาคมไปพอสมควร ทว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อได้ หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ หลังราคาทองคำมีแนวโน้มรีบาวนด์ขึ้นจากโซนแนวรับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ของทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าหรือช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่าเฟดจะรีบลดดอกเบี้ย หรือผลการประชุม ECB และ BOJ ชี้ว่าทั้ง 2 ธนาคารกลางหลักอาจมีแนวโน้มนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายกว่าเฟด จนกดดันให้ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลง
กำลังโหลดความคิดเห็น