xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : ‘สุลต่านอิบราฮิม’ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียองค์ที่ 17

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุลต่านอิบราฮิม (Sultan Ibrahim) แห่งรัฐยะโฮร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 17 แห่งมาเลเซียในวันนี้ (31 ม.ค.) โดยพระราชพิธีสาบานตนขึ้นเป็นกษัตริย์ถูกจัดขึ้น ณ พระราชวังหลวง กรุงกัวลาลัมเปอร์

แม้สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียจะทรงปฏิบัติหน้าที่ในเชิงพิธีการเสียเป็นส่วนใหญ่ ทว่าความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในมาเลเซียตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้กษัตริย์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการมีพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินในเรื่องต่างๆ

มาเลเซียมีระบบการคัดเลือกสุลต่านขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีหรือ “ยัง ดิ-เปอร์ตวน อากง” (Yang di-Pertuan Agong) หมุนเวียนกันไปใน 9 รัฐ โดยสุลต่านแต่ละพระองค์จะทรงดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดคราวละ 5 ปี

สุลต่านอิบราฮิม พระชนมายุ 65 พรรษา ทรงเข้ารับตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อะหมัด ชาห์ ซึ่งจะเสด็จกลับไปครองรัฐปะหังตามเดิม หลังจากปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียครบวาระ 5 ปี

แม้สถาบันกษัตริย์มาเลเซียจะอยู่เหนือการเมือง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า สุลต่านอิบราฮิมทรงมีบุคลิกที่โดดเด่น และเคยออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบตรงไปตรงมาอยู่หลายครั้ง

นอกจากจะทรงสะสมรถยนต์หรูและรถจักรยานยนต์ราคาแพงเอาไว้เป็นจำนวนมากแล้ว สุลต่านอิบราฮิมยังทรงมีอาณาจักรธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์เรื่อยไปจนถึงเหมืองแร่ รวมถึงทรงถือหุ้นในโครงการ Forest City ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ในรัฐยะโฮร์ที่มีกลุ่มทุน “จีน” เข้ามาสนับสนุนอยู่ด้วย


สุลต่านอิบราฮิมได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ The Straits Times ก่อนจะเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า ทรงตั้งพระทัยเป็นกษัตริย์ที่ “กระตือรือร้น” และยังทรงเสนอให้รัฐวิสาหกิจน้ำมัน Petroliam Nasional Berhad หรือ Petronas ของมาเลเซีย รวมถึงสำนักงานปราบปรามการทุจริตต้องทำงานขึ้นตรงต่อสมเด็จพระราชาธิบดีด้วย

สุลต่านอิบราฮิมยังตรัสถึงแผนฟื้นฟูโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมมาเลเซียกับสิงคโปร์ โดยมีจุดผ่านแดนอยู่ที่โครงการ Forest City

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ได้ออกมา “แบ่งรับแบ่งสู้” โดยระบุว่าความคิดเห็นต่างๆ ล้วนนำมาอภิปรายถกเถียงกันได้ทั้งสิ้น หากไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การเมืองมาเลเซียเริ่มระส่ำระสายเรื่อยมานับตั้งแต่กลุ่มแนวร่วม บาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional) ซึ่งครองอำนาจปกครองประเทศมานานเกือบ 60 ปี พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งในปี 2018 และทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีต้องทรงเข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น

โดยปกติแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงปฏิบัติตามข้อแนะนำจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทว่ารัฐธรรมนูญมาเลเซียก็ให้อำนาจสำคัญบางอย่างแก่พระองค์ ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ทรงเห็นว่ามีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่

สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ทรงใช้อำนาจพิเศษที่ว่านี้ถึง 3 ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ โดย 2 ครั้งแรกเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลล่ม และครั้งสุดท้ายในปี 2022 เมื่อทรงแต่งตั้งนายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นนายกรัฐมนตรี ตามหลังผลการเลือกตั้งที่นำมาซึ่งภาวะ “สภาแขวน”

ที่มา : รอยเตอร์










กำลังโหลดความคิดเห็น