xs
xsm
sm
md
lg

คณะสุลต่านมาเลเซียเลือก ‘สุลต่านรัฐยะโฮร์’ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 17

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อะหมัด ชาห์ (ซ้าย) และสุลต่านอิบราฮิม อิสกันดาร์ แห่งรัฐยะโฮร์ ทรงพระดำเนินเคียงข้างกัน หลังจากที่สภาสุลต่านทั้ง 9 รัฐได้มีมติคัดเลือกสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียพระองค์ที่ 17 ณ พระราชวังหลวงกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันนี้ (27 ต.ค.)
คณะสุลต่านผู้ปกครอง 9 รัฐแห่งมาเลเซียลงมติเลือกสุลต่าน อิบราฮิม สุลต่าน อิสกันดาร์ แห่งรัฐยะโฮร์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 17

แม้สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียจะทรงปฏิบัติหน้าที่ในเชิงพิธีการเสียเป็นส่วนใหญ่ ทว่าความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในมาเลเซียตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้กษัตริย์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการมีพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินในเรื่องต่างๆ

มาเลเซียมีระบบการคัดเลือกสุลต่านขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีหมุนเวียนกันไปใน 9 รัฐ โดยแต่ละพระองค์จะทรงดำรงตำแหน่งประมุขรัฐคราวละ 5 ปี

แถลงการณ์จากสมุหพระราชลัญจกร (keeper of the rulers’ seal) ระบุว่า สุลต่านอิบราฮิมแห่งรัฐยะโฮร์จะทรงรับตำแหน่งประมุขต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ในวันที่ 31 ม.ค. ปี 2024

สุลต่านอิบราฮิมทรงมีอาณาจักรธุรกิจที่หลากหลายตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์เรื่อยไปจนถึงเหมืองแร่ และเป็นที่ทราบกันว่าทรงสะสมรถยนต์หรู และรถจักรยานยนต์ราคาแพงเอาไว้เป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมา พระองค์เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมาอยู่บ่อยครั้ง และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม

แม้รัฐธรรมนูญมาเลเซียจะให้อำนาจแก่สมเด็จพระราชาธิบดีในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ทรงเห็นว่ามีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ ทว่าที่ผ่านมาแทบไม่มีกษัตริย์มาเลเซียองค์ใดใช้อำนาจดังกล่าวนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ขึ้นเป็นนายกฯ จะมาจากผลการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากที่พรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งในปี 2018 ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีต้องทรงเข้ามามีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูง โดยทรงเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 3 คน

ที่มา : รอยเตอร์






กำลังโหลดความคิดเห็น