ศาลฮ่องกงสั่งไชน่า เอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่ติดหนี้สินสูงที่สุดในโลก เลิกกิจการและนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด หลังจากไม่สามารถเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้มูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์อย่างเป็นที่น่าพอใจได้ จุดชนวนความกังวลรอบใหม่เกี่ยวกับปัญหาหนี้ของจีน
ผู้พิพากษาลินดา ชาน แถลงเมื่อวันจันทร์ (29 ม.ค.) ว่า เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์ปราศจากความคืบหน้าในการนำเสนอข้อเสนอปรับโครงสร้างและแผนการล้มละลายที่เป็นไปได้ จึงเห็นควรสั่งให้บริษัทแห่งนี้ปิดกิจการ และนำทรัพย์สินที่เหลืออยู่ออกขายทอดตลาด
ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีนที่อยู่ในอาการพังพาบ หลังจากทางการปักกิ่งเข้าควบคุมภาวะหนี้สินในระบบที่พุ่งสูง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจจีนที่การเติบโตกำลังชะลอตัว
ทว่าความพยายามปราบปรามการกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำธุรกิจอย่างน่ากลัวอันตรายดังกล่าว ก็ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของแดนมังกรเข้าสู่ภาวะวิกฤต และกำลังเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจในเวลานี้ ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์มากมายประสบปัญหา รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่ระบบการเงินทั้งในและนอกประเทศ
ในช่วงแรกๆ ของการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (29) ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วนจากความกังวลว่า การขายทรัพย์สินของเอเวอร์แกรนด์อาจส่งผลกระทบทั่วโลก แต่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนยืนยันว่า สามารถควบคุมความเสี่ยงได้ โดยจากเอกสารซึ่งยื่นต่อศาลที่ได้เห็นกันในวันจันทร์ (29) แสดงว่าเอเวอร์แกรนด์ติดหนี้พวกเจ้าหนี้ต่างชาติ 25,400 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ติดหนี้ภายในประเทศสูงกว่านี้มาก โดยตามการประมาณการของเอเวอแกรนด์เอง ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว บริษัทมีหนี้สินรวม 328,000 ล้านดอลลาร์ ยอดภาระหนี้มหึมาเช่นนี้ ล้นเกินยอดทรัพย์สินรวมของเอเวอร์แกรนด์ที่มีราวๆ 240,000 ล้านดอลลาร์ไปอย่างมหาศาล
ธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์ประมาณ 90% อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยที่ประธานของบริษัท คือ สี่ว์ เจียอิ้น (ภาษาจีนกลาง) หรือรู้จักเรียกขานกันด้วยภาษาจีนท้องถิ่นว่า ฮุย คายัน ได้ถูกทางการจีนควบคุมตัวตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปีที่แล้ว เนื่องต้องต้องสงสัยว่า “ทำความผิดคดีอาญา” ทำให้ยิ่งเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่ความพยายามในการฟื้นตัวของบริษัท
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า คำสั่งขายทรัพย์สินเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลต่อระบบการเงินของจีนอย่างไรบ้าง ขณะที่บริษัทดิ้นรนที่จะส่งมอบที่พักอาศัยให้แก่พวกลูกค้าซึ่งนำเอาเงินออมตลอดชีวิตของพวกเขามาจ่ายเงินผ่อนซื้อเพราะคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง หล่นฮวบลงมาเกือบๆ 21% ในช่วงแรกๆ ของการเทรดเมื่อวันจันทร์ (29) ก่อนที่จะถูกสั่งระงับการซื้อขายไป แต่ดัชนีหุ้นหั่งเส็ง ที่เป็นดัชนีตัวหลักของฮ่องกงสูงขึ้น 0.9% โดยที่ราคาหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางแห่งขยับขึ้น
กิจการพัฒนาเรียลเอสเตตรายใหญ่ที่สุดของจีน คือ คันทรี การ์เดน ตอนต้นๆ ขึ้นไปเกือบ 3% ก่อนถอยลงมาอยู่ระดับเก่า ขณะที่ ซูแนค ไชน่า โฮลดิ้งส์ สูงขึ้น 2.4%
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม เอเวอร์แกรนด์ได้รับการผ่อนผันจากศาลฮ่องกง หลังจากแจ้งว่า บริษัทกำลังพยายามปรับปรุงแผนปรับโครงสร้างหนี้มูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชานที่เผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันจันทร์ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรม ซึ่งทำให้ศาลควรยับยั้งคำร้องของเจ้าหนี้ เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์ไม่ได้เสนอแผนปรับโครงสร้าง สิ่งที่นำเสนอมีเพียงแนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งที่บริษัทอาจทำได้หรือทำไม่ได้ในการเสนอรูปแบบแผนปรับโครงสร้าง ขณะที่ศาลเห็นว่า ผลประโยชน์ของเจ้าหนี้จะได้รับการปกป้องมากกว่าถ้าศาลมีคำสั่งให้เอเวอร์แกรนด์เลิกกิจการ
ด้าน ชอว์น ซิว ซีอีโอเอเวอร์แกรนด์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว 21 เจียงจื่อ ว่า บริษัทเสียใจอย่างยิ่งกับคำสั่งของศาลฮ่องกง แต่ย้ำว่า คำตัดสินนี้จะมีผลกับบริษัทในเครือไชน่า เอเวอร์แกรนด์ที่จดทะเบียนในฮ่องกงเท่านั้น และสำทับว่า ธุรกิจในและนอกประเทศของเอเวอร์แกรนด์เป็นนิติบุคคลทางกฎหมายที่เป็นอิสระจากกัน
ซิวเสริมว่า เอเวอร์แกรนด์จะยังคงพยายามให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างราบรื่น และส่งมอบอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ลูกค้าต่อไป
ทั้งนี้ ดูเหมือนรายงานข่าวชิ้นนี้จะถูกถอดออกไปช่วงสั้นๆ ในตอนบ่ายวันจันทร์ ก่อนที่จะนำออกเผยแพร่ใหม่
เอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในปี 2021 หรือเพียงหนึ่งปีหลังจากปักกิ่งเข้มงวดกับเรื่องการปล่อยกู้ให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาฟองสบู่ในอุตสาหกรรมนี้
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คำสั่งขายทรัพย์สินคราวนี้จะกระทบการดำเนินงานของเอเวอร์แกรนด์ในจีนอย่างไรแค่ไหน เนื่องจากฮ่องกงนั้นมีระบบกฎหมายแยกต่างหาก ถึงแม้อยู่ใต้อิทธิพลของปักกิ่งก็ตาม
มีบางกรณีที่ศาลจีนอาจยอมรับคำตัดสินล้มละลายในฮ่องกง แต่นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า คดีเอเวอร์แกรนด์อาจเป็นกรณีทดสอบสำหรับเรื่องนี้
ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์เคยเป็นตัวจักรสำคัญที่สุดซึ่งขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทว่า บรรดาผู้พัฒนาเรียลเอสเตตได้กู้ยืมเงินก้อนมหึมาขณะเปลี่ยนเมืองเป็นป่าอพาร์ตเมนต์และอาคารสำนักงาน ส่งให้หนี้สินทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นเป็นกว่า 300% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปี ซึ่งถือว่า สูงผิดปกติสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างจีน
วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารของจีนเท่านั้น ยังลามไปถึงภาคอุตสาหกรรมการธนาคารเงา ของจีน ซึ่งหมายถึงพวกสถาบันที่ให้บริการทางการเงินคล้ายกับธนาคาร แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับการธนาคาร ตัวอย่างเช่น จงจื่อ เอนเตอร์ไพรส์ กรุ๊ป ที่ปล่อยกู้จำนวนมากให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์และขณะนี้ล้มละลายไปแล้ว
(ที่มา: เอพี, เอเจนซีส์)