ศาลฮ่องกงมีคำสั่งให้บริษัท Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน ยกเลิกกิจการ ขณะที่แต่บริษัทกล่าวว่าจะยังคงพยายามหาทางฟื้นฟูกิจการต่อไป ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น กลายเป็นสัญลักษณ์ของปัญหาเศรษฐกิจที่เลวร้ายของประเทศจีน
จากการเปิดเผยของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า Evergrande ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน แต่จากปัญหาภาระหนี้มหาศาลของบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของวิกฤตการณ์ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีน ซึ่งเรื้อรังมาอย่างยาวนานหลายปีและกลายเป็นโดมิโน่ลุกลามส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ แม้ว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวเป็นหนึ่งในกระบวนการศาลที่มีการพิจารณาคดีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งน่าจะทำให้สินทรัพย์นอกอาณาเขตของ Evergrande ถูกชำระบัญชีและดำเนินการต่อผู้บริหารที่จะเข้ามาแทนที่ หลังจากที่บริษัทล้มเหลวในการพัฒนาแผนการปรับโครงสร้างการทำงาน
โดยก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการบริหารของบริษัท ให้คำสัตย์ต่อแผนฟื้นฟูกิจการว่าคำตัดสินของศาลฮ่องกง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในประเทศ ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่าคำตัดสินดังกล่าวจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในจีนเป็นอย่างมาก และอาจทำให้เม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะเคลื่อนย้ายเข้ามาในจีน ต้องยืดระยะเวลาออกไป หรือย้ายไปยังแหล่งลงทุนประเทศอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า
"จากการพิจารณาของศาล ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า Evergrande ขาดความคืบหน้าในแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ในการยื่นข้อเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นไปได้ และความเห็นถึงการตัดสินการล้มละลายของบริษัท ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการสมควร ที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนกิจการของบริษัท และฉันก็ได้ตัดสินแล้ว" ลินดา ชาน ผู้พิพากษาศาลสูงฮ่องกง กล่าว
ในคำพิพากษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเธอที่ออกเมื่อบ่ายวันจันทร์ ชานเขียนว่าผลประโยชน์ของเจ้าหนี้จะได้รับการ "ปกป้องที่ดีกว่า" หากบริษัทถูกยุบ และผู้ชำระบัญชีอิสระสามารถเข้าควบคุมตรวจสอบเพื่อรักษาทรัพย์สินและปรับโครงสร้างใหม่ได้ตามความจำเป็น
โดยล่าสุด ลินดา ชาน ผู้พิพากษาศาลสูงฮ่องกง ลงนามแต่งตั้ง Edward Middleton และ Tiffany Wong จากสำนักงานกฎหมาย Alvarez & Marsal ให้เป็นผู้ตรวจสอบชำระบัญชีของ Evergrande
ทั้งนี้ Evergrande ได้ถูกยื่นคำร้องเพิกถอนให้ยกเลิกกิจการในปี 2565 โดยเจ้าหนี้ Top Shine Global ซึ่งต้องการเงินคืนหลังจากที่ Evergrande ผิดนัดอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2564
ขณะที่นักวิเคราะห์การลงทุนต่างตั้งข้อสงสัยว่าจะมีเจ้าหนี้รายใดที่จะได้รับชำระคืนเต็มจำนวน ซึ่งกว่า 90% ของทรัพย์สินของ Evergrande อยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามคำตัดสินของ ลินดา ชาน แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ตามกฏหมายก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งการตัดสินของศาลมีผลตามกฏหมายครอบคลุม
ขณะที่ เซลิน่า เซ็น นักวิเคราะห์สินเชื่อที่ Creditsights Singapore LLC กล่าวกับ Bloomberg ว่า “ฉันสงสัยว่าเจ้าหนี้นอกอาณาเขตของ Evergrande จะได้รับเงินจำนวนมากจากคำสั่งชำระบัญชี”
ด้าน ฌอน ซู ผู้อำนวยการบริหารของ Evergrande ให้ความเห็นถึงการตัดสินของศาลครั้งนี้ว่า "น่าเสียใจ" แต่ให้คำมั่นว่า การดำเนินงานของบริษัทในจีนจะดำเนินต่อไป
“กลุ่มบริษัทจะยังคงพยายามทำทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อปกป้องเสถียรภาพของธุรกิจและการดำเนินธุรกิจในประเทศ” พร้อมเสริมว่าสาขาในฮ่องกงของ Evergrande เป็นอิสระจากบริษัทในเครือในประเทศ
บริษัทจะ "ผลักดันงานหลักในการรับประกันการส่งมอบอาคารอย่างต่อเนื่อง และรักษาคุณภาพของการบริการด้านอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ได้รับผลกระทบ" ซู กล่าวเสริม
ขณะที่ภาพรวมราคาหุ้นของ Evergrande ปรับตัวร่วงลง 20.87% แตะ 0.16 ดอลลาร์ฮ่องกงในฮ่องกง ภายหลังการพิจารณาคดี ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดพักการซื้อขายระหว่างวันในภาคเช้า
นอกจาก Evergrande จะได้รับผลกระทบยด้านปัญหาหนี้สิน ในธุรกิจอสังหาฯแล้ว ภาคส่วนของบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้าของ Evergrande ก็ประสบปัญหา ต้องหยุดชะงักด้วยเช่นกัน
หุ้นเซี่ยงไฮ้ร่วงลงเกือบร้อยละ 1 แต่ฮ่องกงปิดตัวสูงขึ้น
การสั่งเพิกถอนกิจการเอเวอร์แกรนด์ของศาล ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากครั้งหนึ่งเอเวอร์แกรนด์เคยเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจจีน โดยภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ครั้งหนึ่งเคยคิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
โดยเฉพาะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นว่า หนี้ที่เกิดขึ้นโดยเอเวอร์แกรนด์และบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ต่อระบบการเงินและสุขภาพทางเศรษฐกิจของจีน
โดยปีที่แล้ว สวี เจียหยิน ประธานเอเวอร์แกรนด์ถูกดำเนินคดีให้ "อยู่ภายใต้มาตรการบังคับ" จากทางการในข้อหาต้องสงสัย "ก่ออาชญากรรม"
นอกจากนี้ในคำพิพากษา ซึ่งชานเขียนว่าคำสั่งให้เพิกถอนมี "ข้อได้เปรียบ" ในการตรวจสอบและควบคุมบริษัท โดยตัดอำนาจการบริหารของ ซู ออกไป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการปรับโครงสร้างใหม่
ขณะที่เจ้าหน้ามีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในการเข้าถึงสินเชื่อของนักพัฒนาตั้งแต่ปี 2563
ทั้งนี้ประเมินว่าจนถึงภายในสิ้นเดือนมิถุนายน Evergrande มีหนี้สินอยู่ที่ 328 พันล้านดอลลาร์
ด้าน เคน เช็ง หัวหน้านักยุทธศาสตร์ FX ในเอเชียของ Mizuho กล่าวว่าผลกระทบของการตัดสินใจเมื่อวันจันทร์ เกี่ยวกับกิจกรรมการก่อสร้างของ Evergrande ในประเทศจีนนั้นยังไม่เด่นชัดมากนัก แต่ในส่วนของการชำระบัญชี มีแนวโน้มที่จะเตือนนักลงทุนถึงความเสี่ยงของภาคส่วนนี้และ "อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติโอนย้ายการลงทุนออกไป"
ในขณะที่การเลิกกิจการเป็นไปตามที่ "คาดหวังกันอย่างกว้างขวาง" แต่ความท้าทายอยู่ที่ "ผู้ชำระบัญชีจะประสบความสำเร็จในการได้รับการยอมรับจากศาลแผ่นดินใหญ่เพื่อยึดสินทรัพย์ที่มีอยู่กหรือไม่
นอกจากนี้ โจนาธาน ลีตช์ หุ้นส่วนการปรับโครงสร้างของบริษัทกฎหมาย โฮแกน โลเวลล์ส บอกกับเอเอฟพีว่า "ศาลจีนสามารถปฏิเสธที่จะยอมรับหรือช่วยเหลือผู้ชำระบัญชีในฮ่องกงได้"
และเชน โอลิเวอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท AMP ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการทางการเงินในซิดนีย์ ออสเตรเลีย กล่าวเสริมว่า "เจ้าหน้าที่อาจจะจัดการการชำระบัญชีนี้ในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ" แต่ไม่ได้หมายความว่า "สิ่งนี้บอกเราว่าวิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยังห่างไกลจากการแก้ไข และยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง"