ออล นิปปอน แอร์เวย์ส (เอเอ็นเอ) สายการบินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในวันเสาร์ (13 ม.ค.) เปิดเผยว่าเครื่องบินภายในประเทศเที่ยวบินหนึ่งต้องวกกลับไปลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินต้นทาง หลังพวกนักบินตรวจพบรอยร้าวบริเวณหน้าต่างกระจกในห้องนักบินของเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ขณะที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า
โฆษกของออล นิปปอน แอร์เวย์ส บอกว่าไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้โดยสารทั้ง 59 คน และลูกเรือทั้ง 6 คน ที่อยู่บนเที่ยวบินปลอดภัยดี พร้อมเผยว่ารอยร้าวถูกพบที่ส่วนนอกสุดของกระจก 4 ชั้นที่ล้อมรอบห้องนักบิน "รอยร้าวไม่ถึงขั้นส่งผลกระทบกับการควบคุมการบินหรือแรงดัน" โฆษกระบุ
เที่ยวบิน 1182 ของสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ส กำลังเดินทางไปสนามบินโทยามะ ทางภาคใต้ของประเทศ แต่ต้องบินกลับไปสนามบินซัปโปโร-นิว ชิโตเซะ หลังจากพบรอยร้าว
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นาน ตามหลังความกังวลที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ 9 ของโบอิ้ง
เครื่องบินของออล นิปปอน แอร์เวย์ส ไม่ใช่เครื่องบิน 737 แม็กซ์ 9 แต่เป็นรุ่นหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกัน ทว่าเป็นซีรีส์ 737-800 ที่มีอายุมากกว่ามาก กระนั้นบริษัทการบินและอวกาศยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ แห่งนี้กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น หลังเกิดเหตุผนังลำตัวของเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9 ลำหนึ่ง ของสายการบินอะแลสกา แอร์ไลน์ส เกิดหลุดกลางอากาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉิน
ผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านการบินของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ (12 ม.ค.) เปิดเผยว่าพวกเขากำลังขยายขอบเขตคำสั่งห้ามบิน 737 แม็กซ์ 9 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยรอบใหม่
สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) ระบุว่า ทางหน่วยงานจะยกระดับการกำกับดูแลโบอิ้งและตรวจสอบการผลิตโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9 พร้อมบอกว่าพวกเขาจะตัดสินหาข้อสรุปว่าโบอิ้งและบรรดาบริษัทซัปพลายเออร์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานด้านคุณภาพตามที่ได้รับความเห็นชอบหรือไม่
เครื่องบินตระกูล 737 คือซีรีส์ที่ขายดีที่สุดของโบอิ้ง และเป็นรองเพียงแค่ A320 ของแอร์บัส บริษัทคู่แข่ง ในแง่ของยอดสั่งซื้อโดยรวมสำหรับสายการบินพาณิชย์
นอกจากนี้ ทางหน่วยงานผู้ควบคุมกฎระเบียบ บอกว่าพวกเขาจะพิจารณาทบทวนแนวทางปฏิบัติที่ทำกันมาอย่างช้านาน ในการพึ่งพิงบรรดาพนักงาน ณ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ให้เป็นผู้ทำการวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยบางอย่างของเครื่องบินเอง
สมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนเคยวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันต่อแนวทางปฏิบัติตั้งพนักงานของโบอิ้งเป็นผู้ตรวจสอบเอง ตามหลังเกิดโศกนาฏกรรมเลวร้าย 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 ในปี 2018 และ 2019 ซึ่งส่งผลให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวถูกสั่งห้ามบินเป็นเวลากว่า 1 ปี ก่อนได้รับไฟเขียวกลับสู่ท้องฟ้าอีกครั้งจากการอนุมัติของเอฟเอเอในช่วงปลายปี 2020
(ที่มา : เอพี/รอยเตอร์)