โมฮัมเหม็ด เชีย อัล-ซูดานี นายกรัฐมนตรีอิรัก ให้สัญญาว่าเริ่มกระบวนการขับไล่กองกำลังพันธมิตรนานาชาติพ้นจากอิรัก ตามหลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ได้สังหารผู้บัญชาการระดับสูงรายหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธในแบกแดด ในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวาระครบรอบ 4 ปีเหตุลอบสังหารนายพลกอเซม สุไลมานี แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน
สหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่กองบัญชาการของกองกำลังระดมประชาชน (Popular Mobilization Forces) องค์กรร่ม (Umbrella Organization) ที่รัฐอิรักให้การสนับสนุน และประกอบด้วยกลุ่มก๊กติดอาวุธต่างๆ หลายสิบกลุ่ม เมื่อวันพฤหัสบดี (4 ม.ค.) มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 รายในเหตุโจมตีดังกล่าว ในนั้นรวมถึงมุชทาค ทาเลบ อัล-ไซดี ผู้นำกลุ่มฮะรอกัต ฮิซบุลเลาะห์ อัลนุจบา (Harakat Hezbollah al-Nujaba หรือ HHN) ซึ่งวอชิงตันตราหน้าว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน
"กองกำลังระดมประชาชนเป็นตัวแทนในฐานะมีความเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับรัฐ ขึ้นกับกองทัพของเรา และเป็นส่วนสำคัญของกองทัพของเรา" นายกรัฐมนตรีอิรักเน้นย้ำ "เราขอประณามการโจมตีนี้ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานกองกำลังด้านความมั่นคงของเรา ซึ่งมีความสำคัญกว่าตัวอักษรและเจตนารมณ์ของคำสั่งจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรนานาชาติ"
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ยืนยันว่าแบกแดดเองเป็นฝ่ายเชิญกองกำลังอเมริกา ให้เข้าช่วยสู้รบกับกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) ขณะที่ พล.ต.แพท ไรเดอร์ โฆษกเพนตากอน ปกป้องเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 4 มกราคม ว่า เป็นการกระทำที่จำเป็นและสมเหตุสมผล ท่ามกลางการโจมตีเล่นงานที่ตั้งทางทหารของอเมริการะลอกแล้วระลอกเล่าในภูมิภาค
แบกแดด อ้างว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนเงื่อนไขของคำเชิญ และทางอัล-ซูดานี จะเริ่มพูดคุยเจรจาผ่านคณะกรรมการทวิภาคีที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหาสรุปข้อตกลงต่างๆ เพื่อยุติการปรากฏตัวของกำลังพลพันธมิตรนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ ในอิรัก
"เรายืนยันในจุดยืนโดยหลักการของเรา ในการสิ้นสุดการมีอยู่ของพันธมิตรนานาชาติ หลังจากเหตุและผลของการดำรงอยู่นี้หมดลง" เขากล่าว พร้อมเน้นน้ำว่าแบกแดดกำลังหาทางฟื้นฟูอธิปไตยเหนือดินแดน น่านฟ้าและน่านน้ำของอิรักโดยสมบูรณ์
ฐานทัพทหารของสหรัฐฯ ในอิรัก เช่นเดียวกับฐานทัพที่ผิดกฎหมายในซีเรีย ประเทศเพื่อนบ้าน ถูกโจมตีด้วยโดรนและจรวดอย่างต่อเนื่องมากกว่า 110 ครั้งนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา ท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาค อันมีบ่อเกิดจากสงครามของอิสราเอลในกาซา
แม้การโจมตีส่วนใหญ่ดำเนินการโดยฝ่ายที่ไม่สามารถระบุตัวได้อย่างเจาะจง แต่วอชิงตันกล่าวโทษไปที่เตหะราน สำหรับการให้การสนับสนุนอยู่หลังฉาก และประกาศขอสงวนสิทธิไว้ซึ่งการตอบโต้แก้แค้น หากพิจารณาแล้วว่ามันมีความเหมาะสม
"เราเน้นย้ำว่าในกรณีที่มีการล่วงละเมิดใดๆ ต่อฝ่ายอิรัก หรือกฎหมายของอิรักถูกล่วงละเมิด รัฐบาลอิรักจะเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่มีสิทธิชี้ถูกผิดของการล่วงละเมิดเหล่านั้น" นายกรัฐมนตรีอิรักกล่าว พร้อมกล่าวหาวอชิงตันละเมิดอธิปไตยของอิรักเป็นประจำ และย้อนรำลึกถึงการกระทำที่ชั่วร้ายที่ก่อโดยรัฐบาลอเมริกาเมื่อ 4 ปีก่อน
นายพลกอเซม สุไลมานี แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ถูกสังหารในปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 ตามคำบัญชาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกา ณ ขณะนั้น โดยที่วอชิงตันกล่าวอ้างว่า สุไลมานี กำลังวางแผนโจมตีเล่นงานกองกำลังสหรัฐฯ
ในวาระครบรอบ 4 ปีการเสียชีวิตของสุไลมานี ได้เกิดเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อน ผ่ากลางพิธีรำลึกถึงนายพลรายนี้ในอิหร่าน สังหารผู้คนไปเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บหลายร้อยคน กลุ่มนักรบอิสลาม (ไอเอส) ออกมากล่าวอ้างความรับผิดชอบอย่างรวดเร็บบนเทเลแกรม ในขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันว่าวอชิงตันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)