xs
xsm
sm
md
lg

เพนตากอนส่งนายพลอเมริกันไปเป็น ‘ผู้บัญชาการเงา’ ในยูเครน ขณะรีพับลิกันไม่ยอมปล่อยผ่านงบช่วยเหลือเคียฟ แถมยังตั้งคำถามสุดแสบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ยอมรับว่าถ้าปราศจากความช่วยเหลือจากฝ่ายตะวันตกแล้ว ยูเครนก็จะพ่ายแพ้สงครามอย่างแน่นอน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

GOP holds up Ukraine aid, asking painful questions
By STEPHEN BRYEN
14/12/2023

นายพลอเมริกันที่ได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้บัญชาการเงา” ในกรุงเคียฟ เดินทางเข้าสู่ยูเครนพร้อมกับทีมงาน ทำให้รื้อฟื้นความทรงจำย้อนนึกไปถึงการส่ง “ที่ปรึกษา” ทางทหารเข้าไปในเวียดนาม ซึ่งในที่สุดก็ทำให้สงครามที่นั่นแปรเปลี่ยนไปเป็นสงครามของอเมริกัน โดยที่อเมริกันคือผู้พ่ายแพ้ปราชัยในท้ายที่สุด

พวกสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันกำลังโวยวายกันใหญ่ ไม่ว่าคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ หรือประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ต่างก็ไม่สามารถบอกกล่าวให้พวกเขาทราบอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนได้ว่า ยูเครนจะมีวิธีการอย่างไรในการเอาชนะสงครามที่กำลังรบอยู่กับรัสเซียเวลานี้ หรือคณะบริหารไบเดนมีแผนการอะไรเตรียมไว้เพื่อให้ยูเครนสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้

นอกจากนั้น ชาวรีพับลิกันเหล่านี้ยังไม่พอใจเลยที่ไม่มีความก้าวหน้าใดๆ ในการทำความตกลงกับคณะบริหารไบเดนเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของพวกเขาที่ต้องการให้ปรับปรุงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยบริเวณชายแดนเม็กซิโกให้แข็งแกร่ง จนกระทั่งถึงเวลานี้ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาก็คือว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นเป็นปัญหาที่ต้องรีบให้คำตอบเหล่านี้ (และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง) ยังคงชะงักงันอยู่ในทั้ง 2 สภาของรัฐสภาสหรัฐฯ ขณะที่เวลาก็ไม่คอยท่า โดยที่จะไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายใดๆ กันอีกแล้วจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงพักการประชุมระหว่างเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทั้งนี้ถ้าหากว่าหลังปีใหม่ไปแล้วยังมีความต้องการที่จะออกกฎหมายในเรื่องเหล่านี้กันอยู่
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnn.com/2023/12/13/politics/what-comes-next-for-ukraine/index.html)

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน พร้อมด้วย ส.ว.ชัค ชูเมอร์ (พรรคเดโมแครตจากรัฐนิวยอร์ก) ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ (ซ้าย)  และ ส.ว.มิตช์ แมคคอนเนลล์ (พรรครีพับลิกันจากรัฐเคนทักกี) ผู้นำเสียงข้างน้อย (ขวา) เดินออกมาจากการพบปะหารือกันที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2023 ทั้งนี้เซเลนสกีไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวพวกวุฒิสมาชิกโดยเฉพาะพวกพรรครีพับลิกัน ให้ยอมเร่งอนุมัติงบประมาณช่วยยูเครนเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ปัญหายูเครนของคณะบริหารไบเดนนั้นมันลงรากหยั่งลึกเกินกว่าเพียงแค่เรื่องการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือการทำสงครามแค่นั้น พวกสมาชิกรัฐสภาเวลานี้มีความเข้าอกเข้าใจกันขึ้นมาแล้วว่าสงครามนี้เป็นสงครามที่ไม่สามารถชนะได้ และต่างสงสัยข้องใจว่า คณะบริหารไบเดนไม่ได้กำลังพาตัวเองเข้าไปติดกับหรืออย่างไร จากการให้ความสนับสนุนแก่เซเลนสกีถึงขนาดนี้

กล่าวโดยสรุป ในสายตาของผู้คนจำนวนมาก การให้ความสนับสนุนเซเลนสกีภายใต้ฉากทัศน์ซึ่งไม่มีทางเป็นผู้ชนะได้ ดูจะเป็นไอเดียที่ย่ำแย่เอามากๆ

ไม่มีผู้นำทางทหารที่เคร่งครัดจริงจังคนไหนเลยซึ่งผลักดันสานต่อข้อวินิจฉัยที่ว่ายูเครนสามารถเป็นผู้ชนะในการสู้รบกับรัสเซีย ถึงแม้เรื่องนี้ได้รับคำรับประกันมาเป็นเดือนๆ แล้วจากทั้งเคียฟ และคณะบริหารไบเดน ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ พวกสมาชิกรัฐสภาซึ่งได้รับฟังเหตุผลข้อโต้แย้งเหล่านี้ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเวลานี้ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงแล้วว่า คณะบริหารไบเดนหลอกลวงพวกเขา

ห้วงขณะแห่งอาการตาสว่างในเรื่องนี้บังเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านพ้นไปของปีนี้ เมื่อการรุกของฝ่ายยูเครน ทั้งๆ ที่ได้รับความสนับสนุนแบบเพียบแปร้ด้วยอาวุธอเมริกันและการฝึกอบรมจากสหรัฐฯ และนาโต โดยยังไม่ต้องเอ่ยถึงความสนับสนุนทางข่าวกรองอย่างมากมายมหาศาล กลับบังเกิดผลเป็นความสูญเสียอย่างมโหฬาร และชัยชนะแบบเล็กๆ น้อยๆ แถมไร้ความมั่นคงแน่นอนเพียงไม่กี่ครั้ง

เซเลนสกียังคงกำลังวิ่งพล่านไปทั่วในสหรัฐฯ เที่ยวอวดอ้างว่ายูเครนได้รับชัยชนะต่างๆ เยอะแยะไปหมดในการเปิดรุก รวมทั้งได้เจาะทะลวงผ่านแนวป้องกันซูโรวิคิน (Surovikin defense line) ซึ่งฝ่ายรัสเซียก่อตั้งขึ้นมา มาถึงตอนนี้เหตุผลข้อโต้แย้งเช่นนี้ไม่ได้รับความเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว ถ้าหากก่อนหน้านี้มันยังพอจะมีเครดิตอยู่บ้าง

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความวุ่นวายอลหม่านอย่างใหญ่โตรอคอยอยู่ข้างหน้า ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เพิ่งจัดส่ง พล.ท.แอนโทนิโอ อะกูโต จูเนียร์ (Lieutenant-General Antonio Aguto Jr) ไปยังยูเครน งานของเขาคือจะเป็นผู้บัญชาการเงา (shadow commander) ของกองทัพบกยูเครน ชนิดเข้าทำหน้าที่แทนผู้บัญชาการคนปัจจุบันโดยพื้นฐาน ดังนั้นก็จะเป็นการนำเอา อะกูโต ขึ้นอยู่เหนือผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินแห่งกองทัพยูเครน (Commander of the Ground Forces of the Armed Forces of Ukraine) พล.ท.โอเลคซานดร์ ซีร์สกี (Oleksandr Syrskyi)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องการส่ง พล ท.อะกูโตไปยูเครนได้ที่ https://www.stripes.com/branches/army/2023-12-12/army-general-ukraine-eucom-12335117.html)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องของ พล.ท.ซีร์สกี ได้ที่ https://www.economist.com/the-economist-explains/2023/06/08/who-is-oleksandr-syrsky-the-head-of-ukraines-ground-forces)

คำสั่งซึ่ง อะกูโต ได้รับสำหรับการปฏิบัติหน้าที่คราวนี้มีลักษณะขัดแย้งอยู่ในตัวมันเอง ด้านหนึ่งนั้นเป็นที่เข้าใจกันว่าเขาจะต้องเป็นผู้ชี้แนะนำทางฝ่ายยูเครนในเรื่องยุทธศาสตร์แห่งการ “รักษาและสร้าง” (“hold and build” strategy) แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาจะต้องบอกเซเลนสกีให้แช่แข็งการสู้รบขัดแย้งนี้เอาไว้ให้ได้ อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง

พลโทแอนโทนิโอ อะกูโต จูเนียร์ (ภาพจากกองทัพบกสหรัฐฯ)  ตามรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ และสตาร์ส แอนด์ สไตรปส์ (Stars and Stripes) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เน้นรายงานข่าวเกี่ยวกับกองทัพสหรัฐฯ นายพลผู้นี้ที่เป็นผู้นำของแผนการริเริ่มเพื่อช่วยเหลือด้านความมั่นคงสำหรับยูเครน (security assistance initiative for Ukraine) ของกองทัพ โดยนั่งทำงานอยู่ที่กองบัญชาการยุโรปของกองทัพสหรัฐฯ ณ เมืองวีสบาเดน (Wiesbaden), เยอรมนี กำลังถูกจัดให้ไปทำงานที่กรุงเคียฟเป็นระยะๆ ในลักษณะหมุนเวียน เพื่อแสดงบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องการปรับปรุงยกระดับคุณภาพของคำปรึกษาแนะนำที่สหรัฐฯให้แก่ฝ่ายทหารของยูเครน
“รักษา” (Hold) หมายถึงไม่พยายามที่จะรุกคืบหน้า ทว่าให้ยึดดินแดนต่างๆ ที่อยู่ใต้การควบคุมของยูเครนเอาไว้ให้มั่นคง ทว่าแนวความคิดนี้ได้ถูกบ่อนทำลายไปเรียบร้อยแล้วจากข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายรัสเซียต่างหากที่กำลังรุกคืบเข้ามาแทบจะตลอดทั่วทั้งแนวของการประจันหน้ากัน

พวกเขาเข้าไปถึงเมืองมารินกา (Marinka) เรียบร้อยแล้ว เมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ ในแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) ซึ่งเคยอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายยูเครน ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายรัสเซียยังกำลังบุกคืบหน้าไปในบริเวณรอบๆ เมืองอัฟดิอิฟกา (Avdiivka) และควบคุมหลายๆ ส่วนของเมืองนี้เอาไว้ได้แล้ว โดยที่ยังจะมีส่วนอื่นๆ ตามมาอีก

ตรงรอบๆ เมืองบัคมุต (Bakhmut) ฝ่ายรัสเซียก็อยู่ในกระบวนการของการชิงหมู่บ้านบางแห่งกลับคืน หลังจากฝ่ายยูเครนบุกยึดเอาหมู่บ้านเหล่านี้ไปได้ระหว่างการสู้รบใหญ่เพื่อชิงบัคมุตหลายระลอกที่ผ่านมา สถานการณ์ดูเหมือนกับว่าพวกเขาจะสามารถช่วงชิงคืนไปได้สำเร็จในเร็วๆ นี้ และจากนั้นก็จ่อคุกคามมืองชาซิฟ ยาร์ (Chasiv Yar) ที่เป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงที่สำคัญแห่งหนึ่งของฝ่ายยูเครน

ในทำนองเดียวกัน ที่แนวรบแคว้นซาโปริซเซีย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ฝ่ายรัสเซียเวลานี้กำลังกดดันหมู่บ้านโรโบทีน (Robotyne) หมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่ที่ถูกเรียกขานกันว่าจัตุรัสแบรดลีย์ (Bradley Square) ซึ่งเป็นบริเวณที่ฝ่ายยูเครนได้เปิดการรุกอย่างแท้จริงเมื่อตอนที่พวกเขาพยายามผลักดันเคลื่อนตัวไปสู่ตัวแนวป้องกันซูโรวิคินจริงๆ ของฝ่ายรัสเซีย รัสเซียจะประสบความสำเร็จตรงจุดนี้หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายยูเครนต้องการเสียสละชีวิตกำลังพลมากมายขนาดไหนสำหรับการรักษาหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งเอาไว้

ดังนั้น แนวความคิดของการ “รักษา” เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ใช่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีการยึดเกาะกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างเหนียวแน่นจริงจังอะไรเลย พล.อ.วาเลรี ซาลุจนี (General Valery Zaluzhny) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพยูเครน ( Commander-in-Chief of the Armed Forces of Ukraine) คนปัจจุบัน อีกทั้งป็นคู่แข่งขันคนสำคัญคนหนึ่งของเซเลนสกี ได้เสนอให้ถอนกำลังทหารยูเครนออกมา แล้วจัดตั้งแนวป้องกันที่แท้จริงขึ้นด้วยซ้ำ

แต่ว่าแนวป้องกันที่แท้จริงที่ว่านี้จะตั้งอยู่ตรงไหนล่ะ? รวมทั้งมันจะสามารถหยุดยั้งการรุกคืบหน้าของฝ่ายรัสเซียได้อย่างไร? ตัวเซเลนสกีเองนั้นดูเหมือนรับรองสนับสนุนไอเดียที่ให้ยืนหยัดรักษาสมรภูมิรอบๆ บัคมุต และอัฟดิอิฟกา เอาไว้

ในส่วนของ “สร้าง” นั้น เป็นแนวความคิดหนึ่งของสหรัฐฯ ที่จะให้สร้างกองทัพยูเครนขึ้นมาใหม่ หลังจากถูกทำลายเสียหายไปอย่างเลวร้ายมากจากการสู้รบที่ยังกำลังดำเนินอยู่จนถึงเวลานี้ การสร้างในด้านหนึ่งหมายถึงการนำเอากำลังพลใหม่ๆ เข้ามา เวลาเดียวกันนี้ก็เน้นหนักเรื่องการติดอาวุธให้ครบครันขึ้นมาใหม่ และจัดการฝึกอบรมต่างๆ ให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม ยูเครนเวลานี้มีปัญหากำลังพลที่หนักหนาสาหัสมาก และในการหาทางเกณฑ์ทหารใหม่ๆ พวกเขาต้องใช้ยุทธวิธีที่ทั้งงุ่มง่ามเงอะงะและทั้งรุนแรงโหดเหี้ยม บางส่วนของกำลังคนที่ยังไม่ได้ถูกแตะต้องนั้นอยู่ตามตัวเมืองใหญ่ๆ นั่นก็คือพวกลูกชายและลูกสาวของชนชั้นปกครองทรงอิทธิพลแบบที่ในรัสเซียนิยมเรียกขานกันว่า “โนเมนคลาทูรา” (nomenklatura) และจวบจนกระทั่งบัดนี้ พวกเขาส่วนใหญ่ที่สุดยังคงได้รับการปกป้องคุ้มครองจากระบอบปกครองในเคียฟ

การอำลาจากไปของลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่ได้หมายความว่าในยูเครนไม่มีพวกชนชั้นนำที่ได้รับการปรนเปรอและประคบประหงมอย่างสูงส่ง เช่นเดียวกับที่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้มีอยู่ในรัสเซียเวลานี้ แล้วเมื่อคุณสร้างแรงกดดันใส่ผู้คนในชนชั้นนี้ คุณก็กำลังสร้างปัญหาการเมืองภายในที่ร้ายแรงขึ้นมา

ขณะที่มีการประกาศแล้วว่าจะไม่มีการจัดการเลือกตั้งใดๆ ขึ้นในยูเครน แต่ว่าความไม่พอใจนั้นยังคงดำรงอยู่ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดาวิด อาราคาเมีย (David Arakhamia) ที่เป็นผู้นำพรรคการเมืองของเซเลนสกี เพิ่งพูดถึงการกบฏแข็งข้อในเวอร์คอฟนา ราดา (Verkhovna Rada) หรือก็คือรัฐสภาของยูเครน ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทำหน้าที่แค่เป็นกระบอกเสียงให้แก่เซเลนสกีเท่านั้น ทว่าตอนนี้สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จำนวนมากส่งสัญญาณว่าพวกเขาต้องการออกไปจากยูเครนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ มีบางคนกระทั่งเดินทางออกไปเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/arakhamia_david?lang=en)

นี่คือสัญญาณประการหนึ่งของเรือที่กำลังจมลงทะเล และของการสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวผู้นำระดับสูงสุด เพราะแม้กระทั่งพวกที่ต้องการผละจากไปก็ยังพบว่าเป็นเรื่องยากลำบากที่จะทำเช่นนั้นได้ (ชาวยูเครนไม่ได้กำลังผละออกจากประเทศไปในเวลานี้ เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตทำเช่นนั้นได้ แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกนอกประเทศอย่างถูกต้องจากรัฐสภาราดาแล้วด้วยซ้ำ ก็ยังถูกหยุดยั้งเอาไว้ที่ชายแดนและต้องเดินทางกลับ เพราะเซเลนสกีไม่ต้องการให้เขาออกไปพูดจาหารือกับพวกผู้นำฝ่ายตะวันตก)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องของโปโรเชนโก ได้ที่ https://www.france24.com/en/europe/20231202-ukraine-blocks-ex-president-from-leaving-country-amid-alleged-plan-to-meet-pro-putin-hungary-s-orban)

เป็นเรื่องลำบากที่จะมองให้เห็นว่า อะกูโต สามารถแก้ไขปัญหากำลังคนของยูเครนได้ด้วยวิธีไหน หรือซ่อมแซมสภาวะที่ภายในประเทศเองสูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลยูเครนได้อย่างไร

ถ้าคณะบริหารไบเดนมีความต้องการจริงๆ ที่จะแช่แข็งการสู้รบขัดแย้งนี้ พวกเขาก็ควรต้องอธิบายว่าจะสามารถทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง หากปราศจากการเจรจาต่อรองกันและการประนีประนอมรอมชอมบางอย่างบางประการขึ้นมาแล้ว สงครามนี้ก็จะยังดำเนินไปเรื่อยๆ ถ้าฝ่ายรัสเซียมีความมุ่งมั่นตั้งใจว่าพวกเขาต้องการอยู่สู้รบต่อไปอีก

เวลาเดียวกัน การปรากฏตัวของ พล.ท.อะกูโต ในลักษณะของการข้ามหน้าข้ามตาประดาผู้บังคับบัญชาทหารของยูเครน รวมทั้งจะเป็นผู้คอยบอกกล่าวบงการว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรบ้าง เช่นนี้แล้วย่อมมีแต่นำไปสู่ปัญหา

นอกจากนี้ มันยังมีอีกปัญหาหนึ่งจากการที่ อะกูโตไปนั่งทำงานอยู่ในกรุงเคียฟ กล่าวคือ เรื่องเช่นนี้ไม่เพียงสร้างความอับอายขายหน้าอย่างแรงให้แก่พวกผู้นำทางทหารของยูเครนเท่านั้น แต่มันยังกำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะของสงครามครั้งนี้ให้กลายเป็นสงครามของอเมริกัน อะกูโตไม่ใช่มาโดยลำพังตัวคนเดียว –เขายังนำทีมงานที่ประกอบด้วยคนในกองทัพบกสหรัฐฯ มากับตัวเขาด้วย ทีมงานเล็กๆ นี้น่าที่จะเติบโตขยายตัว มันดูมีความละม้ายคล้ายคลึงกับการจัดส่ง “ที่ปรึกษา” สหรัฐฯ ไปยังเวียดนาม ซึ่งไม่ช้าไม่นานก็แปรเปลี่ยนเข้าไปอยู่ในสงคราม และในท้ายที่สุดแล้ว สหรัฐฯ ก็เป็นฝ่ายปราชัย

ไม่มีหลักฐานใดๆ ซึ่งชี้ชวนให้เห็นว่า แผนการของอะกูโต –ถ้าหากเราสามารถเรียกมันว่าอย่างนั้นได้— กำลังก่อให้เกิดความมั่นอกมั่นใจ หรือว่าจะสามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของมัน (รักษาและสร้าง) ทว่ามันกลับทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามขึ้นมาในยุโรป ใกล้กลายเป็นความจริงมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฝ่ายรัสเซียอาจจะตัดสินใจว่า พวกเขาไม่สามารถแกล้งทำเป็นว่าสงครามนี้สามารถจำกัดเขตให้อยู่แต่เฉพาะภายในชายแดนของยูเครนได้อีกต่อไป

เป็นความจริงอย่างแน่นอนว่า ฝ่ายรัสเซียนั้นก็มีปัญหาต่างๆ ของพวกเขาเองเหมือนกัน โดยยังไม่ต้องพูดถึงความพยายามหลายต่อหลายครั้งของยูเครน สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯที่จะสังหารประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน การที่ไบเดนตัดสินใจใช้เซเลนสกีในความพยายามครั้งล่าสุดของเขาที่จะให้ได้เงินงบประมาณจากรัฐสภาสหรัฐฯ ในตัวมันเองก็มีความเสี่ยงอยู่ด้วยเช่นกัน กล่าวคือทำให้ไบเดนติดแน่นอยู่กับบุรุษผู้ซึ่งไม่มีความปรารถนาที่จะเข้าสู่การเจรจาต่อรองใดๆ จนกว่าฝ่ายรัสเซียยอมถอนตัวออกไปจากยูเครน และปูตินถูกเปลี่ยนตัว แนวความคิดเช่นนี้ย่อมไม่ใช่สูตรที่จะนำไปสู่การยุติการสู้รบขัดแย้งซึ่งกำลังดำเนินอยู่คราวนี้เลย

สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute

ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน

พื้นที่หัวหาดของฝ่ายยูเครนบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนิเปอร์ และพื้นที่ป่าซึ่งเป็นจุดที่เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดที่สุด (ภาพ: Reporting from Ukraine)
หมายเหตุผู้แปล

เอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2023 ยังได้เสนอข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของ สตีเฟน ไบรเอน ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า More good money after bad for Ukraine? ถึงแม้เนื้อหาส่วนหนึ่งของข้อเขียนนี้ล้าสมัยไปเสียแล้ว แต่ก็มีส่วนที่พูดถึงสถานการณ์ในยูเครนซึ่งยังคงมีความน่าสนใจอย่างมาก รวมทั้งไม่ได้พูดเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นอื่นๆ ผู้แปลจึงขอแปลเก็บความเฉพาะส่วนดังกล่าวนี้ ซึ่งก็คือส่วนท้ายของข้อเขียนชิ้นนี้นั่นเอง มาเสนอ ณ ที่นี้ ดังนี้:


พื้นที่หัวหาดทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำดนิเปอร์ของยูเครน

ในยูเครน กองกำลังรัสเซียกำลังกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบในสมรภูมิสำคัญๆ รอบๆ เมืองบัคมุต (Bakhmut) อัฟดิอิฟกา (Avdiivka) โบห์ดานิวิกา (Bohdanivika) มารินกา (Marinka) และโนโวมิฮาอิลอฟกา (Novomikhailovka) ขณะที่ฝ่ายรัสเซียดูเหมือนสามารถที่จะเสริมกำลังทหารของพวกเขาเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นมา ฝ่ายยูเครนกลับทำเช่นนี้ได้ยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปืนใหญ่ของฝ่ายรัสเซียสามารถหมุนเวียนกันเข้าโจมตีใส่พื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ทว่ายูเครนมีกำลังทหารน้อยกว่าสำหรับการทุ่มเทเข้าไปในสมรภูมิหลายๆ แห่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศยูเครน

หนึ่งในสมรภูมิที่แปลกประหลาดที่สุดได้แก่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีชื่อว่า ครีนกี (Krynky) ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper River) และอยู่ไปทางด้านตะวันตกของเมืองเคียร์ซอน (Kherson)

ผลลัพธ์ประการหนึ่งจากการที่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา (Kakhovka Dam) ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำดนิเปอร์ ได้ถูกทำลายพังลงไปในเดือนมิถุนายน 2023 ก็คือหมู่บ้านครีนกี แทบจะจมอยู่ใต้น้ำอย่างสิ้นเชิง และชาวบ้านเกือบทั้งหมดต่างพากันหลบหนี เมื่อถึงช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ยูเครนได้เริ่มจัดส่งกำลังทหารข้ามแม่น้ำดนิเปอร์ไปสร้างหัวหาดแห่งหนึ่งขึ้นในครีนกี

ฝ่ายยูเครนสามารถที่จะเคลื่อนย้ายกำลังทหาร ทว่าแทบโยกย้ายพวกยานเกราะไม่ได้เลยเนื่องจากพวกเขาขาดแคลนยานขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดหนัก กระนั้นก็ตาม การเคลื่อนย้ายกำลังทหารซึ่งส่วนใหญ่แล้วกระทำในตอนกลางคืนก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จวบจนกระทั่งเมื่อฝ่ายรัสเซียนำเอาโดรนแบบแลนสิต (Lancet) ซึ่งติดตั้งกล้องที่สามารถมองเห็นในเวลากลางคืนเข้ามาใช้งาน คราวนี้ความพยายามที่จะจัดส่งเสบียงสัมภาระให้แก่กองทหารซึ่งอยู่ในครีนกี รวมทั้งการนำเอาทหารใหม่ๆ เข้าไปก็กลับกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากอย่างยิ่งยวด
(เรื่องโดรนแบบแลนสิตซึ่งติดกล้องมองเห็นในเวลากลางคืน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://email.mg2.substack.com/c/eJxMkMmu0zAYRp_G3iXyGNsLLyhgWlARCETZIQ9_mpRMsl1V4enRvXfT7fedzTnRV7iuebf3ArnJsE07TlYkqqXGYKkijFNCqMSDJaFnMnIWouGBA9Osp0pHpRIhveQRj5a94IxSKiXnsqXB8E5LIkEYEzuBBJmvrC33UKqPf9u4zniyQ61bQfwdYg4x93wi5jKkMUOsiDmmlTLep0aFKBoRQ2iC4qrpuo4H0AyS0Ii7G-IfYP9MT7d1PF9-DfBp6E4Lac35_c8f6pv4Mn797g6zum1ur05djiLqf_D47dyhT0fe--Yj3tZS_4zJUm46IwWjb0vdN7ALPMoEtULG2ZYK2wBLG_IOCxLkOvtxevUq95DW2Y-LfYDf1qXg-hT5fwAAAP__LyJ2BQ)

เท่าที่สามารถวินิจฉัยกันออกมาได้ แนวความคิดดั้งเดิมของการสร้างหัวหาดขึ้นที่ครีนกี ก็คือต้องการตัวที่จะเบี่ยงเบนหันเหความสนใจ เพื่อบังคับให้ฝ่ายรัสเซียต้องใช้กำลังทหารของตนเพิ่มมากขึ้นมาสู้รบกับฝ่ายยูเครนที่ครีนกี เรื่องเช่นนี้ก็ได้เกิดขึ้นมาจริงๆ ในขอบเขตประมาณหนึ่ง ทว่ามันดูเหมือนไม่ได้สร้างผลกระทบอย่างสำคัญใดๆ ต่อกำลังสู้รบของฝ่ายรัสเซียในสถานที่อื่นๆ ในยูเครน

เวลาเดียวกันนั้น ทหารนาวิกโยธินของยูเครนซึ่งสามารถถอนกำลังและเข้าเสริมกำลังได้อย่างคล่องตัวทว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงทีเดียว ก็กำลังอยู่ในสภาพที่เคลื่อนย้ายไปที่อื่นอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ได้ แถมยังกำลังสูญเสียทหารชั้นเลิศที่สุดของพวกตนไปเป็นบางส่วนอยู่เรื่อยๆ มีสำนักข่าวของเมืองโอเดสซา (Odessa news service) แห่งหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า ดุมสกายา (Dumskaya ซึ่งหมายถึง ดูมา Duma หรือรัฐสภานั่นเอง) กำลังออกมาเรียกร้องให้กองทหารยูเครนซึ่งอยู่ในครีนกี ถอนตัวออกไปก่อนที่พวกเขาทั้งหมดจะถูกทำลายเรียบ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://email.mg2.substack.com/c/eJxMkLtu2zAYRp-G3CTwKpEDh7ota7dw0SJBnC3g5ZclRzeQNAzl6YMki9fvO8s5wRU4L2kz1wypSrCOG45GRKqkwmBoSxinhFCJe8Mki9QTCJ5qGiUTrQOtNHOtlA5agQfDPnBGKZWSc1lTr3mjJJEgtA6NQIJMZ1bnq8_Fhdc6LBMeTV_KmhH_hphFzN6fiNkEcUgQCmKWa-1CE3xFYoiViKSrlPaxYiEIz1mnolKI2wviP2D7TQ-XZTiennr41TeHmdT6-P3xof0n_gx__9vd1F5WuxXbnvYiqDe4PVu76-Ked676idcll5chGsp1o6Vg9Gsp2wpmhlseoRRIOJlcYO1hrn3aYEaCnCc3jJ9e-erjMrlhNjdw6zJnXO4ivwcAAP__X0F2ZA)

นักหนังสือพิมพ์ของดุมสกายา ชื่อ นิโคไล ลาริน (Nikolai Larin) เขียนเอาไว้ดังนี้: “พวกทหารเรือข้ามแม่น้ำด้วยเครื่องมืออุปกรณ์เท่าที่จะหาได้เฉพาะหน้า และส่วนใหญ่ถูกฆ่าตายตรงบริเวณเส้นทางไปถึงชายฝั่งของพวกเขา พวกที่รอดชีวิตมาได้และข้ามแม่น้ำไปได้สำเร็จ ก็จะถูกเปิดเผยตัวตนให้แก่ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งอยู่ในคลังแสงของรัสเซีย จากที่ตรงนั้นพวกเขาไม่มีการนำเอาคนบาดเจ็บออกมาหรอก ผู้คนจึงกำลังถูกโยนลงไปในแม่น้ำอย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ ระลอกแล้วระลอกเล่า”

การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสงครามและยุทธวิธีในสงครามถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติเอาเลยในยูเครน แต่ ลาริน ไปค่อนข้างไกลทีเดียวเมื่อเขาเขียนเอาไว้ดังนี้: “นี่คือสไตล์ของการทำสงครามที่เลวร้ายอย่างยิ่ง! เรามีความเชื่อมั่นว่าความพยายามที่จะสงวนรักษาพื้นที่ซึ่งอยู่ในลักษณะเป็นเศษที่ดินเหล่านี้เอาไว้ต่อไปคืออาชญากรรม บางทีเราอาจจะถูกตั้งข้อกล่าวหาอะไรซึ่งแย่ๆ แต่เราไม่สามารถอยู่นิ่งๆ เงียบๆ ได้อีกต่อไปแล้ว”

รัฐมนตรีกลาโหม รุสเตม อูเมรอฟ ของยูเครน ที่คุยอวดว่าเคียฟมีแผนการหลักแหลมมากซึ่งเตรียมจะนำมาใช้ในปีหน้า
ยูเครนกำลังพล่าผลาญกองกำลังไปอย่างไร้ประโยชน์ทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ กระนั้น รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน รุสเตม อูเมรอฟ (Rustem Umerov) ยังคงบอกว่า “ยูเครนกำลังตระเตรียมแผนการที่ฉลาดหลักแหลมมากแผนหนึ่งสำหรับปีหน้า ซึ่งจะบังคับให้ฝ่ายรัสเซียต้องถอนตัวออกจากไครเมียไปตลอดกาล เมื่อพวกคุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับแผนการนี้ พวกคุณก็จะต้องรู้สึกเซอร์ไพรส์”

รัฐสภาสหรัฐฯ อาจจะลงเอยด้วยการอนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติมจำนวนหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครนอย่างไม่เต็มใจ แต่ไม่ว่าจะโยนดอลลาร์มากมายแค่ไหนเข้าไปในปัญหานี้ มันก็ไม่น่าที่จะเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ของสมรภูมิซึ่งกำลังกางออกมาให้เห็นกันได้อย่างถนัดชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น