อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน ระหว่างพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในกรุงมอสโก เมื่อวันพฤหัสบดี(7ธ.ค.) ประณามการจู่โจมกาซาของอิสราเอล และกล่าวหาตะวันตกสนับสนุนรัฐยิว "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนแห่งนี้
ปูติน ให้การต้อนรับ ไรซี เมื่อวันพฤหัสบดี(7ธ.ค.) ส่วนหนึ่งของยุทธการสานสัมพันธ์ทางการทูตกับตะวันออกกลาง ซึ่งในนั้นรวมถึงการเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย ในความพยายามยกระดับความน่าเชื่อถือของรัสเซีย ในฐานะคนกลางที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคแห่งนี้
ประธานาธิบดีรัสเซียให้คำจำกัดความสงครามอิสราเอลกับฮามาส ว่าเป็นความล้มเหลวทางการทูตของสหรัฐฯ และบ่งชี้ว่ามอสโกอาจเป็นคนกลางในความขัดแย้งระหว่งอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ลากยาวมานานหลายทศวรรษ
ระหว่างให้การต้อนรับ ไรซี ที่วังเครมลิน ประธานาธิบดีปูติน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนปาเลสไตน์
ไรซี ตอบกลับผ่านล่าม ระบุว่า "แน่นอนว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปาเลสไตน์และกาซา คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับภูมิภาค แต่มันเป็นประเด็นปัญหาของมนุษยชาติทั้งมวล" เขาบอกกับผูติน "มันจำเป็นต้องหาทางออกอย่างรวดเร็ว"
อิหร่าน สนับสนุนกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ "ฮามาส" ซึ่งปกครองฉนวนกาซา ในขณะที่ รัสเซีย มีความสัมพันธ์กับผู้เล่นหลักๆทุกรายในตะวันออกกลาง ในนั้นรวมถึงฮามาสและอิสราเอล แต่ฝ่ายหลังเคยแสดงความขุ่นเคืองใส่รัสเซีย จากกรณีให้การต้อนรับคณะผู้แทนของฮามาส ในกรุงมอสโก เมื่อเดือนตุลาคม
พวกนักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่าความขัดแย้งในฉนวนกาซา เป็นประโยชน์กับรัสเซีย เนื่องจากมันช่วยหันเหความสนใจของโลกไปจากสงครามในยูเครน และเปิดโอกาสให้มอสโก อยู่ในแนวเดียวกับบรรดาชาติกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์
เมื่อวันพุธ(6ธ.ค.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เดินทางทัวร์ตะวันออกกลางแบบที่ไม่พบเห็นบ่อยนักเป็นเวลา 1 วัน ซึ่งเขาได้เยือนซาอุดีอาระเบีย หลังจากแวะช่วงสั้นๆในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทั้งนี้ ปูติน เดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฏาคม 2022 โดยคราวนั้นเขาได้พบปะกับ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ในเตหะราน
ผู้นำรัสเซียไม่ค่อยออกเดินทางเยือนต่างแดนมากนัก หลังศาลอาญาระหว่างประเทศ(ไอซีซี) ออกหมายจับเขาเมื่อเดือนมีนาคม ตามคำกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม ด้วยการบังคับเนรเทศเด็กๆชาวยูเครน
เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ ซึ่งผู้นำคิม จองอึน ประชุมซัมมิตร่วมกับ ปูติน ในดินแดนตะวันออกไกลของรัสเซีย เมื่อเดือนกันยายน อิหร่าน คือศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ และมีศักยภาพจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารแก่รัสเซีย สำหรับนำไปใช้ในสงครามในยูเครน ดินแดนที่รัสเซียใช้โดรนอิหร่าน ในปฏิบัติการต่างๆอย่างกว้างขวาง
สหรัฐฯ ส่งเสียงแสดงความกังวลต่อความร่วมมือทางทหารที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆระหว่างมอสโกกับเตหะราน และเตือนว่า อิหร่าน อาจกำลังเตรียมการมอบขีปนาวุธล้ำสมัยแก่รัสเซีย สำหรับใช้ในสงครามยูคเรน
เครมลิน เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัสเซียกับอิหร่าน กำลังพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ "ในนั้นรวมถึงขอบเขตความร่วมมือเทคโนโลยีทหาร" แต่ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้
(ที่มา:อัลจาซีราห์/รอยเตอร์)