xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่านยุโลกมุสลิม! ขึ้นบัญชีดำอิสราเอล 'องค์กรก่อการร้าย' แต่ที่ประชุมแค่ประณามเห็นต่างแนวทางตอบโต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน เรียกร้องในวันเสาร์ (11 พ.ย.) ขึ้นบัญชีดำกำหนดให้กองทัพอิสราเอลเป็น "องค์กรก่อการร้าย" อ้างถึงปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบันในฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมฉุกเฉินของสันนิบาติอาหรับและองค์การความร่วมมืออิสลาม แม้จะรุมประณามการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนของอิสราเอล แต่ยังคงมีความเห็นต่างในแนวทางตอบโต้

"รัฐบาลชาติอิสลามควรกำหนดให้กองทัพของรัฐบาลผู้ยึดครองและผู้รุกรานเป็นองค์กรก่อการร้าย" ไรซี กล่าว ณ ที่ประชมซัมมิตพวกผู้นำอาหรับและมุสลิม ในกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย

การประชุมฉุกเฉินของสันนิบาติอาหรับและองค์การความร่วมมืออิสลาม มีขึ้นตามหลังเหตุนักรบฮามาสบุกโจมตีนองเลือดเล่นงานอิสราเอล สังหารผู้คนไป 1,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและจับเป็นตัวประกันราว 240 คน ขณะที่ปฏิบัติการแก้แค้นของอิสราเอลในเวลาต่อมา ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้น สังหารผู้คนในฉนวนกาซาไปแล้วมากกว่า 11,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน และจำนวนมากเป็นเด็ก

อิสราเอลกล่าวโทษว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงลิ่ว มีต้นตอจากฮามาส โดยกล่าวหาว่านักรบกลุ่มนี้ใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ คำกล่าวหาที่ทางฮามาสปฏิเสธ

ในการเดินทางเยือนกรุงริยาดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย เห็นพ้องฟื้นฟูความสัมพันธ์กันในเดือนมีนาคม ไรซี เรียกร้องประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับอิสราเอล ให้ตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและยกระดับมอบแรงสนับสนุนแก่ชาวปาเลสไตน์

เขาเรียกร้องให้ตัดความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจทุกรูปแบบกับรัฐบาลไซออนิสต์ โดยชี้ว่ามันเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งที่ประเทศอิสลามทั้งหลายต้องดำเนินการ "การคว่ำบาตรทางการค้ากับรัฐบาลไซออนิสต์ โดยเฉพาะในขอบเขตพลังงาน ควรถูกวางให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก" ไรซีระบุ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งประเทศของเขาให้การสนับสนุนนักรบฮามาส ยังได้โวยวายใส่สหรัฐฯ สำหรับการมอบเงินทุนและเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอล

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ที่ประชุมของบรรดาผู้นำอาหรับและโลกมุสลิม เห็นพ้องกันในวันเสาร์ (11 พ.ย.) แค่ประณามการกระทำอันโหดร้ายป่านเถื่อนของกองกำลังอิสราเอลในกาซา แต่ปฏิเสธเห็นชอบการลงโทษทางเศรษฐกิจและทางการเมืองต่อประเทศแห่งนี้

ผลลัพธ์ของที่ประชุมร่วมสันติบาติอาหรับและองค์การความร่วมมืออิสลาม สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกในภูมิภาคเกี่ยวกับแนวทางตอบสนองต่อสงคราม แม้มีความกังวลว่ามันอาจลากประเทศอื่นๆ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเดือดดาลมากขึ้นเรื่อยๆ ในตะวันออกกลางและที่อื่นๆ ต่อปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและทางภาคพื้นถล่มฉนวนกาซาของอิสราเอล

ในปฏิญญาขั้นท้ายสุดของที่ประชุม ได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของอิสราเอลที่ว่า ปฏิบัติการทางทหารของพวกเขาเป็นเพียงแค่การ "ป้องกันตนเอง" และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บังคับใช้ญัตติที่เด็ดขาดและมีภาระผูกพันในการหยุดการรุกรานของอิสราเอล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเรียกร้องให้หยุดขายอาวุธแก่อิสราเอล และปฏิเสธทางออกทางการเมืองใดๆ ในอนาคตของความขัดแย้งนี้ ที่จะแยกกาซาออกจากเวสต์แบงก์ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล

มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัย ซึ่งก่อนเกิดสงครามกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาสถาปนาความสัมพันธ์เป็นปกติกับอิสราเอล บอกกับที่ประชุมว่า พระองค์จะหาทางให้ทางการพวกผู้ยึดครอง (อิสราเอล) รับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่างๆ ที่พวกเขาก่อกับประชาชนชาวปาเลสไตน์

เดิมทีสันนิบาติอาหรับและองค์การความร่วมมืออิสลาม ซึ่งมีสมาชิก 57 ชาติ ในนั้นรวมถึง อิหร่าน มีความตั้งใจจัดประชุมแยกกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้แทนทูตอาหรับเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ได้ตัดสินใจควบรวมการประชุมเป็นหนึ่งเดียว หลังบรรดาผู้แทนทูตสันนิบาติล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงในถ้อยแถลงขั้นท้ายสุด

บางประเทศ ในนั้นรวมถึงแอลจีเรียและเลบานอน เสนอตอบโต้หายนะในฉนวนกาซา ด้วยการขู่สร้างความยุ่งเหยิงแก่อุปทานน้ำมันที่ป้อนสู่อิสราเอลและพันธมิตร เช่นเดียวกับตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูต ที่บางชาติสันนิบาตอาหรับมีกับอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม มีอย่างน้อย 3 ประเทศ ในนั้นรวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอิสราเอลในปี 2020 ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

ในการปราศรัยผ่านสถานโทรทัศน์ในช่วงเย็นวันเสาร์ (11 พ.ย.) เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล บอกว่าพวกผู้นำอาหรับ จำเป็นต้องยืนหยัดต่อต้านฮามาส ซึ่งเขาให้คำจำกัดความว่าเป็นส่วนสำคัญของแกนหลักขบวนการก่อการร้ายที่นำโดยอิหร่าน

ส่วนฮามาส เผยแพร่ในถ้อยแถลงจากกาซา เรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมซัมมิตขับไล่เอกอัครราชทูตอิสราเอล จัดตั้งคณะกรรมาธิการทางกฎหมาย ในความพยายามเอาผิดกับ "พวกก่ออาชญากรรมสงครามอิสราเอล" และตัดตั้งเงินทุนฟื้นฟูฉนวนแห่งนี้

จนถึงตอนนี้อิสราเอลและสหรัฐฯ ผู้สนับสนุนหลักของพวกเขายังปฏิเสธเสียงเรียกร้องสำหรับข้อตกลงหยุดยิง จุดยืนที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวันเสาร์ (11 พ.ย.)

ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี บอกว่า "เป็นเรื่องน่าอดสูที่บรรดาชาติตะวันตก ซึ่งมักพูดตลอดเวลาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ กลับเงียบเฉยต่อหน้าเหตุสังหารหมู่ที่กำลังเกิดขึ้นในปาเลสไตน์" ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่งเสียงคร่ำครวญเกี่ยวกับแนวทางตอบสนองของโลกต่อสงครามที่เกิดขึ้นว่า "2 มาตรฐาน" พร้อมชี้ว่าอิสราเอลกำลังล่วงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น