xs
xsm
sm
md
lg

อิสราเอลเริ่มเจอไฟย้อนศร! โบลิเวียตัดสัมพันธ์ประท้วงถล่มกาซา สหภาพเบลเยียมปฏิเสธขนส่งอาวุธให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบลิเวียในวันอังคาร (31 ต.ค.) ประกาศตัดขาดความสัมพันธ์กับอิสราเอล พร้อมตำหนิปฏิบัติการจู่โจมนองเลือดในฉนวนกาซา ท่ามกลางเสียงขุ่นเคืองที่เดือดดาลขึ้นเรื่อยๆ ของนานาชาติ ต่อการแก้แค้นอันเลยเถิด กรณีนักรบฮามาสโจมตีสังหารผู้คนในอิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานขนส่งของเบลเยียมก็ปฏิเสธบริหารจัดการยุทโธปกรณ์ทางทหารที่มีปลายทางอิสราเอล เนื่องจากไม่ต้องการขนส่งอาวุธที่จะถูกนำไปใช้เข่นฆ่าชีวิตผู้บริสุทธิ์

"รัฐบาลตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐอิสราเอล และประณามปฏิบัติการจู่โจมทางทหารที่ก้าวร้าวและไม่สมเหตุสมผลของกองทัพอิสราเอลที่กำลังดำเนินการในฉนวนกาซา" เฟรดดี มามารี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโบลิเวียกล่าว

ด้าน มาเรีย เนลา ปราดา รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี แถลงเช่นกันว่า โบลิเวียกำลังจัดส่งความช่วยหลือด้านมนุษยธรรมไปยังฉนวนกาซา "เราเรียกร้องให้หยุดโจมตีในฉนวนกาซา ซึ่งจนถึงตอนนี้ได้ทำให้พลเรือนเสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน และบีบให้ชาวปาเลสไตน์ต้องไร้ที่พักพิง" เธอกล่าวในการแถลงข่าวเดียวกัน

รัฐบาลฝ่ายซ้ายของประธานาธิบดีลุยส์ อาร์เซ ถือเป็นชาติแรกในละตินอเมริกาที่ตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสรอบล่าสุดปะทะขึ้น โดยมันเริ่มต้นจากการที่พวกนักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้โจมตีนองเลือดแบบไม่คาดคิด เล่นงานอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปมากกว่า 1,400 ราย

นับตั้งแต่นั้น อิสราเอลตอบโต้แก้แค้นด้วยการทิ้งบอมบ์อย่างไม่รามือถล่มฉนวนกาซา ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารงานโดยฮามาส บอกว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 8,500 ราย ราว 2 ใน 3 เป็นผู้หญิงและเด็ก

โบลิเวียเพิ่งประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอลในปี 2019 หลังจากหนึ่งทศวรรษก่อนหน้านั้น ได้ทำการตัดความสัมพันธ์กับรัฐยิว ต่อกรณีโจมตีฉนวนกาซาครั้งก่อนๆ ส่วนการตัดความสัมพันธ์อีกรอบในครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่พวกผู้นำหลายคนในภูมิภาคละตินอเมริกา ส่งเสียงคัดค้านปฏิบัติการบุกกาซาของอิสราเอลเช่นกัน

การตัดสินใจของโบลิเวีย มีขึ้นหลังจาก โคลอมเบียไล่เอกอัครราชทูตอิสราเอลกลับประเทศ แต่ถอนคำพูดในความคิดเห็นที่จุดชนวนประเด็นพิพาททางการทูตกับอิสราเอล เกี่ยวกับเหตุรุกรานฉนวนกาซา

ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งปัจจุบัน บราซิลเป็นประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้หยุดยิง

เขาบอกว่าการโจมตีก่อการร้ายของพวกนักรบฮามาสเล่นงานอิสราเอล ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายล้ายคนในกาซา "เพียงเพราะฮามาสก่อการโจมตีก่อการร้ายเล่นงานอิสราเอล ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจำเป็นต้องฆ่าผู้บริสุทธิ์หลายล้านคน"

ในทางฝั่งยุโรป ความไม่พอใจต่อปฏิบัติการของอิสราเอลในฉนวนกาซา ก็ขยายวงกว้างเช่นกัน โดยสหภาพแรงงานคนงานด้านการขนส่งของเบลเยียมในวันอังคาร (31 ต.ค.) เรียกร้องสมาชิกปฏิเสธบริหารจัดการยุทโธปกรณ์ทางทหารที่กำลังถูกส่งไปอิสราเอล สำหรับสู้รบกับกลุ่มนักรบฮามาส

สหภาพแรงงาน ACV Puls, BTB, BBTK และ ACV-Transcom ระบุในถ้อยแถลงร่วมว่า "ในขณะที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กำลังเกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ แรงงานของเราตามสนามบินต่างๆ ในเบลเยียมพบเห็นมีการส่งมอบอาวุธไปในทิศทางของโซนสงคราม"

อิสราเอลเคยชี้แจงว่าปฏิบัติการทางทหารของพวกเขาเล็งเป้าไปที่พวกฮามาส ไม่ใช่พลเรือน และทางโฆษกรัฐบาลเบลเยียม ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นว่ามีการส่งมอบอาวุธไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางผ่านเบลเยียมหรือไม่

แต่ทางบรรดาสหภาพแรงงานเน้นย้ำว่าการขนส่งอาวุธเหล่านี้อาจหมายถึงการยุยงสนับสนุนจัดหายุทโธปรกณ์ป้อนแก่องค์กรต่างๆ ที่เข่นฆ่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ "เราเรียกร้องให้สมาชิกของเราอย่าได้บริหารจัดการเที่ยวบินใดๆ ที่ส่งมอบยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ปาเลสไตน์หรืออิสราเอล ดังเช่นที่มีข้อตกลงและกฎระเบียบอย่างชัดเจนในช่วงแรกเริ่มของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน"

นอกจากนี้ ทางสหภาพยังได้เรียกร้องให้หยุดยิงในทันที และขอให้รัฐบาลเบลเยียมอย่ายอมอดทนต่อการส่งมอบอาวุธใดๆ ผ่านสนามบินต่างๆ ของเบลเยียม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันเสาร์ (28 ต.ค.) มีประชาชนหลายแสนคนเดินขบวนตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น