(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Risking NATO’s future for its expansion to Ukraine
By STEPHEN BRYEN
21/11/2023
สงครามยูเครนกลายเป็นเวทีสาธิตให้เห็นว่านาโตไม่มีความพร้อมรับมือกับกองทัพรัสเซียที่ผ่านการปรับตัวสู่ความทันสมัยทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์และยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ดังนั้น สิ่งที่นาโตจำเป็นต้องกระทำอย่างเร่งด่วนก็คือ การฟื้นฟูให้เกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาใหม่ว่าองค์การพันธมิตรทางทหารแห่งนี้ยังคงมีสมรรถนะในทางการป้องปรามแดนหมีขาว
หากไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดใดๆ ขึ้นมาอีก ในยุโรปนอกเหนือจากยูเครน ก็คงจะไม่มีสงครามอื่นๆ ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปอีกนานทีเดียว
อย่างไรก็ดี คำทำนายนี้ยึดโยงอยู่กับความสามารถขององค์การนาโตในการป้องปรามการโจมตีของรัสเซียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทีนี้สมรรถนะในการป้องปรามของนาโตเมื่อพิจารณาจากสงครามยูเครน กำลังกลายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยข้องใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าหากนาโตไม่อาจฟื้นฟูให้เกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับความสามารถในการป้องกันของตนแล้ว องค์การนี้จะยอมต้องทำข้อตกลงกับฝ่ายรัสเซีย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแผนที่ทางยุทธศาสตร์ของยุโรป
พิจารณาจากสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ องค์การนาโตคือกลุ่มพันธมิตรนักแผ่ขยายอาณาเขต ไม่ได้เป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการป้องกันเหมือนอย่างที่กำหนดเอาไว้แต่ดั้งเดิมเลย
ลักษณะรูปโฉมที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์การนี้ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พวกผู้วางนโยบายทั้งหลายตัดสินใจที่จะแผ่ขยายนาโตให้ครอบคลุมทั้งบรรดารัฐริมทะเลบอลติกและยุโรปตะวันออก ทำให้พื้นที่ความมั่นคงของนาโตมีขนาดใหญ่โตกว้างขวางขึ้นมากมาย
มันเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ซึ่งอิงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่ารัสเซียนั้นอ่อนแอลงไปอย่างมหาศาลและอยู่ในสภาพลำบากยากจนอย่างที่สุด เป็นเวลาเกือบๆ 1 ทศวรรษทีเดียว ที่รัสเซียในยุคหลังโซเวียตได้ยุติการผลิตอาวุธและเครื่องกระสุนทั้งหลาย ขณะที่คณะผู้นำทางทหารยังคงอยู่ในอาการแข็งขืนดื้อดึง และแผนการต่างๆ สำหรับอาวุธใหม่ๆ ต่างถูกแขวนเอาไว้ก่อนเพราะไม่มีเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายดำเนินการ
หนึ่งในสัมฤทธิผลของ วลาดิมีร์ ปูติน ในช่วงระยะเวลา 17 ปีแห่งการครองอำนาจของเขา ก็คือการพลิกกลับความตกต่ำเสื่อมทรามในด้านการทหารของรัสเซีย นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย อุตสาหกรรมของรัสเซียนั้นยังอยู่ในสภาพห่างไกลจากความทันสมัยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าพวกเขาสามารถทำงานหลักๆ ของพวกเขาได้ดีสักแค่ไหนก็ตามที พวกผู้นำทางทหารในกลุ่มที่เป็นแกนกลางของรัสเซียก็มีความสามารถไม่ถึงอยู่ดีในการรับภารกิจบริหารจัดการโรงงานต่างๆ ซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐ
ฝ่ายรัสเซียปรับตัวได้อย่างเชื่องช้ามากๆ เมื่อถึงเวลาที่เกิดสงครามนากอร์โน-คาราบัค ครั้งที่ 2 (the second Nagorno-Karabakh war) ในปี 2020 [1] มันก็เป็นที่กระจ่างแจ่มแจ้งว่าพวกฮาร์ดแวร์และยุทธวิธีต่างๆ ที่จัดหาให้โดยฝ่ายรัสเซียนั้นไม่มีความสอดคล้องเหมาะสมและประสบความล้มเหลว ฝ่ายอาร์เมเนีย ซึ่งใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเป็นหลัก ต้องพบเห็นกองกำลังอาวุธของพวกเขาถูกอาเซอร์ไบจาน ฉีกขาดเป็นชิ้นๆ
ปัจจัยหลักสำคัญยิ่งประการหนึ่งในสงครามครั้งนั้น ได้แก่ การนำเอาโดรนที่ติดอาวุธและบินเตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ มาใช้งาน ทั้งในการทำลายการป้องกันภัยทางอากาศ ที่มั่นสั่งการบังคับบัญชา และอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดหนักของอาร์เมเนีย
จนกระทั่งตอนเริ่มต้นปี 2022 ฝ่ายรัสเซียก็ยังไม่ได้สรุปเรียนรู้บทเรียนของปี 2020 เช่นเดียวกับที่พวกเขาไม่ได้มีการดัดแปลงปรับปรุงยุทธวิธีของพวกเขาในเรื่องวิธีการรับมือกับพวกอาวุธอัจฉริยะทั้งหลาย อย่างเช่น ขีปนาวุธต่อสู้รถถังและระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบประทับบ่ายิงที่มีความคล่องตัวสูง
โดรนรัสเซียรุ่นแรกๆ ที่พบเห็นในสงครามยูเครน ยังมีลักษณะสร้างกันขึ้นมาแบบง่ายๆ หยาบๆ [2] ขณะที่ยานเกราะฝ่ายรัสเซียก็ถูกทหารยูเครนเลือกยิงจนกระจุยกระจาย โดยที่ทหารยูเครนเหล่านี้คอยซุ่มตีทำลายยานเกราะรัสเซียได้หลายร้อยคันทีเดียวขณะที่พวกมันแล่นเข้ามาตามท้องถนน ยูเครนซึ่งได้รับความสนับสนุนอย่างมหาศาลจากฝ่ายตะวันตกในรูปของพวกอาวุธอัจฉริยะและข่าวกรองแบบเรียลไทม์ สามารถผลักดันฝ่ายรัสเซียให้ถอยกลับไป อีกทั้งทำให้พวกเขาต้องประสบความปราชัยอย่างแสนสาหัสหลายต่อหลายครั้ง
ยูเครน (และนาโต) กลายเป็นฝ่ายที่เลือดไหลไม่หยุด
แต่ทั้งหลายทั้งปวงได้เปลี่ยนแปลงไปในตอนท้ายปี 2022 และต้นปี 2023 เมื่อฝ่ายรัสเซียสามารถปรับตัวได้ พวกเขาโยนทิ้งวิธีการเคลื่อนขบวนยานเกราะขนาดใหญ่น่าเกรงขามในสไตล์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทั้งสิ้นเปลืองอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพล แล้วหันมาใช้ระบบการป้องกันอย่างกระฉับกระเฉง [3] ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการดีไซน์วางแผนการเรื่องนี้ ก็คือ เซียร์เก โซโรวิคิน (Sergei Surovikin) [4] นายทหารยศพลเอกชาวรัสเซีย
จากนั้นรัสเซียได้หันมาใช้ทั้งพวกโดรนโจมตีรุ่นเจเนอเรชันใหม่ การใช้อาวุธปืนใหญ่ (artillery) อย่างมีการรวมศูนย์อำนาจการยิง และกับระเบิดชนิดที่ทิ้งโปรยปรายลงมาทางอากาศ เพื่อหยุดยั้งกองทัพยูเครน รัสเซียได้นำเอายุทธศาสตร์ของการมุ่งทำให้ยูเครนต้องเลือดไหลออกไม่หยุดเข้ามาใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกที่ปรึกษาชาวอเมริกันและชาวยุโรปของยูเครนไม่ได้คิดคำนวณรับมืออย่างถูกต้อง ในตอนที่พวกเขาฝึกกองพลน้อยยูเครน 9 กองพลน้อยให้เข้าโจมตีแนวป้องกันของรัสเซียในแคว้นซาโปริซเซีย
(artillery หมายถึงพวกอาวุธที่ส่งลูกกระสุนและวัตถุระเบิดต่างๆ ไปได้ไกลกว่าพิสัยทำการและพลังอำนาจของอาวุธยิงสำหรับทหารราบ ปัจจุบัน artillery หมายรวมครอบคลุมทั้งปืนใหญ่ ปืนครก และระบบจรวดหลายลำกล้อง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Artillery -หมายเหตุผู้แปล)
การทำให้ยูเครนต้องเลือดไหลออกไม่หยุดเช่นว่านี้ (อย่างน้อยที่สุดก็เท่าที่เห็นกันจนถึงตอนนี้) กลายเป็นการสาธิตให้เห็นว่าแนวความคิดทางการทหารของนาโตนั้นมีความบกพร่องและล้าสมัยเสียแล้ว เมื่อพิจารณากันอย่างภววิสัยไร้อคติ การที่ฝ่ายยูเครนต้องสูญเสียทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลอย่างมหึมาเช่นนี้ เมื่อดูกันภายในบริบทของนาโตมันก็เป็นเรื่องที่แบกรับเอาไว้อย่างยาวนานไม่ได้เช่นกัน สรุปได้ว่า องค์การนาโตขาดไร้ทั้งกองกำลังอาวุธที่ผ่านการฝึก และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่น่าพอใจ สำหรับยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพรัสเซียที่ผ่านการปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งกำลังเป็นฝ่ายรุกเข้ามา
หนึ่งในกุญแจสำคัญๆ ที่นำไปสู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ ได้แก่ พวกอาวุธปืนใหญ่ เหล่านักวางแผนของนาโตมิได้คาดคิดกันมาก่อนถึงระดับของเครื่องกระสุนที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนทัศน์สงครามสมัยใหม่อย่างที่พบกันกันในยูเครน เป็นความจริง เพื่อสนับสนุนการสู้รบคราวนี้ ยุโรปและสหรัฐฯกำลังจัดส่งกระสุนปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ระยะทำการไกล ซึ่งหลักๆ แล้วก็คือกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ไปให้แก่ยูเครน ทว่าซัปพลายเหล่านี้ยังคงต่ำกว่าที่ต้องการใช้มากมายนัก
ทั้งฝ่ายรัสเซียและนาโตต่างกำลังประสบกับภาวะขาดแคลน ทว่าการขาดแคลนของนาโตอยู่ในลักษณะที่รุนแรงร้ายกาจกว่าของรัสเซียมากมายนัก กระทั่งในทุกวันนี้หลังจากมีการลงแรงใช้ความพยายามเพื่อให้สามารถจัดส่งกระสุนปืนใหญ่ไปเพิ่มมากขึ้นอักโขแล้ว นาโตก็ยังไม่สามารถผลิตได้สูงเกินกว่า 163,000 นัดต่อเดือน –ขณะที่มีความเป็นไปได้สูงที่ฝ่ายรัสเซียน่าจะมีความสามารถผลิตได้เกินกว่า 350,000 นัดต่อเดือน
สหรัฐฯ แก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีไปบุกชิงเอามาจากคลังแสงกระสุน 155 มม.ของตนที่มีอยู่ในเกาหลีและอิสราเอล การกระทำเช่นนี้ในทั้งสองแห่งนี้ต้องถือเป็นความเคลื่อนไหวที่มีอันตรายมาก มันทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในฐานะไม่เหลืออะไรสำหรับใช้พิทักษ์ปกป้องเกาหลีใต้ ถ้าหาก คิม จองอึน เกิดตัดสินใจเริ่มเปิดสงครามรบตามแบบแผน (คือไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์) ขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่เกาหลีเหนือยังคงมีทั้งอาวุธปืนใหญ่มากมายและลูกกระสุนอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เกาหลีใต้อยู่ในภาวะมีไม่เพียงพอ
ในทำนองเดียวกัน การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจนำเอากระสุนปืนใหญ่ 155 มม.จำนวน 300,000 นัดซึ่งเก็บเอาไว้ที่คลังแสงในอิสราเอล มาจัดส่งให้ยูเครน ก็ต้องถือเป็นการตัดสินใจแย่ๆ เพราะคือการปล่อยทิ้งอิสราเอลให้แทบไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่มีอยู่ในคลังแสงสงครามของอิสราเอลเอง แล้วมาถึงตอนนี้ ด้วยการสู้รบทั้งในกาซา และในบริเวณตอนเหนือของอิสราเอลที่ต้องรบรากับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ทำให้อิสราเอลจำเป็นต้องได้กระสุน 155 มม.อย่างเร่งด่วนจากสหรัฐฯ [5] และความต้องการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อซัปพลายส่วนซึ่งถูกกำหนดเอาไว้แล้วว่าจะจัดส่งไปยังยูเครน
ฝ่ายรัสเซียก็รู้สึกว่าอยู่ในภาวะอัตคัดขัดสนอยู่บ้างเหมือนกัน และพวกเขาใช้วิธีหันไปหาเพื่อนมิตรของพวกเขาทั้งเกาหลีเหนือและอิหร่าน ทั้งคู่มีโรงงานผลิตลูกกระสุนขนาด 152 มม. (ที่จริงแล้วคือขนาด 152.4 มม.) สำหรับสนองปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ทั้งแบบที่ต้องมีพาหนะลากจูงและแบบอัตตาจรของรัสเซีย เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาจำนวนแท้จริงที่มีการจัดส่งมาให้แก่แดนหมีขาว แต่มีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่ากาหลีเหนือส่งให้เป็นจำนวน 500,000 นัด [6] แล้ว และอาจจบลงด้วยการจัดส่งเป็นจำนวน 2 ล้านนัดให้แก่รัสเซีย
มีรายงานหลายกระแสระบุว่า ลูกกระสุนจากเกาหลีเหนือและอิหร่านเหล่านี้ยังคงถูกเก็บเอาไว้ในคลังแสง ซึ่งอาจจะเพื่อให้เป็นกระสุนสำรองฉุกเฉินหรือเพื่อใช้ในการรุกครั้งใหญ่ในยูเครน –หรือกระทั่งเป็นไปได้ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ทั้งสองอย่าง
ทางยุโรปกำลังพูดกันว่าพวกเขาจำเป็นต้องเก็บเครื่องกระสุนบางส่วนเอาไว้ไม่จัดส่งไปให้แก่ยูเครนทั้งหมด เนื่องจากพวกเขาตกอยู่ในภาวะแทบไม่เหลืออะไรหรือกระทั่งไม่เหลืออะไรแล้วสำหรับการป้องกันตนเอง ขณะที่บริษัทผลิตอาวุธบางแห่งของยุโรป เป็นต้นว่า ไรน์เมทอลล์ (Rheinmetall) ได้เพิ่มการผลิตขึ้นมาแล้ว แต่พวกเขายังต้องใช้เวลาเป็นแรมปีกว่าจะสามารถผลิตถึงจำนวนที่ต้องการ สำหรับ ไรน์เมทอลล์ นั้นมีโรงงานใหม่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ในสเปน [7]
ในสหรัฐฯ มีโรงงานผลิตกระสุนรวมทั้งสิ้น 6 แห่ง แต่ 2 แห่งสำคัญที่สุดคือที่ตั้งอยู่ในรัฐไอโอวา และที่ตั้งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย
โรงงานเหล่านี้กำลังได้รับเงินจำนวนเป็นพันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ [8] เพื่อเร่งเพิ่มการผลิต อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องลำบากที่จะผลักดันให้พวกเขาพยายามให้หนักขึ้นกว่านี้ เนื่องจากพวกเขาใช้วิธีการของโรงงานการผลิตที่ล้าสมัย รวมทั้งยังพบว่าพวกเขามีความยากลำบากในการดึงดูดคนงานให้เข้ามาร่วมงาน สืบเนื่องจากสภาพและเงื่อนไขการทำงานที่โหดๆ
โรงงานในสหรัฐฯ เหล่านี้ต่างมีอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว และต้องใช้เวลาประมาณ 3 วันทีเดียวในการผลิตกระสุนปืนใหญ่ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์สักนัดหนึ่ง (โดยยังไม่นับรวมเวลาที่ต้องใช้ในการผลิตพวกดินส่งกระสุนและชนวน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลิตกันที่อื่น)
โรงงานผลิตเครื่องกระสุนไอโอวา
โรงงานเครื่องกระสุนของกองทัพบกแห่งไอโอวา (Iowa Army Ammunition Plant) แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมิดเดิลทาวน์ (Middletown) ใกล้ๆ กับเมืองเบอร์ลิงตัน (Burlington) คือผู้ผลิตกระสุน 155 มม.รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตัวโรงงานมีเนื้อที่กว้างขวางมาก นั่นคือเกินกว่า 19,000 เอเคอร์ (มากกว่า 48,000 ไร่) โดยมีอาคารต่างๆ มากกว่า 400 อาคาร และมีศักยภาพในการจัดเก็บขนาด 1.6 ล้านตารางฟุต (มากกว่า 148,600 ตารางเมตร) โรงงานแห่งนี้เป็นของกองทัพบก แต่ดำเนินงานโดยบริษัทเอกชนชื่อ อเมริกัน ออดแนนซ์ ซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด (American Ordnance LLC) ทุกวันนี้โรงงานแห่งนี้ว่าจ้างพลเรือน 830 คน และทหารราว 25 คน (ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำหน้าที่ด้านการตรวจสอบ) เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 โรงงานแห่งเดียวกันนี้เคยว่าจ้างคนงานสูงถึง 13,000 คน
โรงงานแห่งนี้ไม่ได้มีการใช้ระบบอัตโนมัติ กระนั้นก็ตาม โรงงานมีการใช้หุ่นยนต์เป็นบางส่วนเพื่อให้ทำภารกิจที่มีอันตรายมากที่สุดบางอย่าง เป็นต้นว่า การขนย้ายพวกเศษโลหะร้อนจัดที่เหลือจากการผลิตกระสุนไปวางไว้ที่อื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง นอกเหนือจากนี้แล้ว โรงงานแห่งนี้ยังคงมีสภาพเหมือนกับสมัยเมื่อหลายๆ ปีก่อนเป็นอย่างมาก
โรงงานเครื่องกระสุนสแครนตัน
โรงงานใหญ่อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเมืองสแครนตัน (Scranton) รัฐเพนซิลเวเนีย โรงงานแห่งนี้ –สร้างขึ้นเพื่อให้รับกับเส้นทางรถไฟสายเดลาแวร์ แลคคาวันนา และเวสเทิร์น เรลโรด (Delaware, Lackawanna and Western Railroad) ในช่วงหลังปี 1900 เล็กน้อย— ทำหน้าที่ผลิตพวกเครื่องกระสุนสำหรับใช้ทางการทหารซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ โดยมีผลงานสามารถย้อนหลังกลับไปได้จนถึงยุคสงครามเกาหลี ขณะนี้โรงงานแห่งนี้ได้รับเงิน 120 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในการขยายการผลิต ทว่ายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จนกว่าจะถึงปี 2025 เป็นอย่างเร็วที่สุด ทางด้านการดำเนินงานก็อยู่ในลักษณะรัฐบาลเป็นเจ้าของ-ผู้รับเหมาเป็นคนดำเนินงาน (government-owned-contractor-operated หรือ GOCO) แบบเดียวกับโรงงานไอโอวา
โรงงานเครื่องกระสุนสแครนตัน ( Scranton Ammunition Plant หรือ SCAAP) [9] นี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 1953 และมีบริษัท ฮอฟฟ์แมน แมชีนเนอรี คอร์เปอเรชั่น (Hoffman Machinery Corporation) ของสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินงานจนกระทั่งถึงปี 1963 เมื่อบริษัทแชมเบอร์เลน แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์เปอเรชั่น (Chamberlain Manufacturing Corporation) เข้ามาแทนที่ในการเป็นคู่สัญญาผู้ดำเนินงาน หลังจากนั้น เจเนอรัล ไดมานิกส์ – ออดแนนซ์ แอนด์ แทคทิคอล ซิสเตมส์ (General Dynamics – Ordnance and Tactical Systems หรือ GD-OTS) ได้เข้ารับภารกิจผู้ดำเนินงานของโรงงานแห่งนี้ต่อจากแชมเบอร์เลน ตั้งแต่ปี 2006 และยังคงเป็นคู่สัญญาผู้ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน
เหมือนกับโรงงานเครื่องกระสุนของกองทัพบกแห่งไอโอวา เครื่องจักรการผลิตส่วนใหญ่ของที่นี่ก็เก่าแก่ล้าสมัย
ขณะที่กองทัพบกสหรัฐฯ ใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งช่วยปลุกเร้ากิจการการผลิตกระสุนให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีก ทว่ากลับไม่มีการดำเนินความพยายามอย่างจริงจังใดๆ เพื่อปรับปรุงยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของโรงงานเหล่านี้ให้ทันสมัย แม้กระทั่งสำนักงานโครงการวิจัยชั้นสูงด้านกลาโหม (Defense Advanced Research Project Agency หรือ DARPA) ของเพนตากอน ก็ไม่แสดงอาการตอบรับอะไรเมื่อได้รับคำแนะนำด้านเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำมาใช้กับโรงงานเหล่านี้
เป้าหมายด้านเครื่องกระสุนของสหรัฐฯ และนาโตยังไม่เพียงพอสำหรับการป้องปรามรัสเซีย
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มความสามารถในการผลิตกระสุนขนาด 155 มม. ขึ้นมาเป็น 80,000 นัดต่อเดือนภายในปี 2028 ขณะที่แผนการของทางฝั่งยุโรปมีความชัดเจนน้อยกว่า โดยระบุเพียงแค่ความหวังที่จะผลิตให้ได้ระหว่าง 20,000 ถึง 55,000 นัดต่อเดือน “ในอนาคตข้างหน้า”
เป้าหมายการผลิตของนาโตนั้นยึดโยงอยู่กับตัวเลขต่างๆ ของสงครามยูเครน ทว่าในกรณีที่เกิดสงครามในยุโรปในวงกว้างยิ่งขึ้นกว่านั้น หรือเกิดการสู้รบในที่อื่นๆ (เป็นต้นว่าคาบสมุทรเกาหลี จีน ไต้หวัน อิสราเอล) ตัวเลขเหล่านี้จะคงจะต้องมีการปรับสูงพุ่งพรวดพราด
การที่สหรัฐฯ และเหล่าชาติพันธมิตรนาโตของสหรัฐฯ กำลังจัดหาจัดส่งเครื่องกระสุนและฮาร์ดแวร์นับล้านๆ ตันไปให้แก่ยูเครน มีลักษณะประหลาดๆ ประการหนึ่งซึ่งสร้างความอัศจรรย์ใจขึ้นมาเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ พวกพันธมิตรเหล่านี้แทบไม่ให้ความใส่ใจกันเลยว่ามันอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดหมายใดๆ ขึ้นมา ดังนั้นพวกเขาจึงพากันบุกเข้าไปช่วงชิงสิ่งที่เก็บเอาไว้ในคลังแสงต่างๆ ออกมาตามใจชอบ ทั้งๆ ที่อาวุธและเครื่องกระสุนเหล่านั้นถูกเก็บเอาไว้ที่นั่นก็ด้วยวัตถุประสงค์สำหรับสนองความจำเป็นด้านกลาโหมเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และนาโตแท้ๆ
เรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม.นี้ กลายเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนยิ่งขึ้นอีกในกรณีของพวกอาวุธความแม่นยำสูงทั้งหลาย ซึ่งซัปพลายก็ถูกสูบออกไปจนเหือดแห้งเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ถ้าหากต้องใช้เวลา 3 วันในการผลิตกระสุนปืนใหญ่ 155 มม.แบบพื้นฐานสักนัดหนึ่ง มันก็ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้นอีกสำหรับการผลิตอาวุธอัจฉริยะทั้งหลาย
แนวความคิดที่จะให้ขยายนาโตเข้าไปปกป้องคุ้มครองปกป้องยูเครนด้วย จึงอาจจะกลายเป็นแรงขับดันให้ประดาหุ้นส่วนทั้งหลายของนาโตเข้าสู่อนาคตที่มีความเสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล เพราะแน่ใจได้เลยว่ามันจะบ่อนทำลายพลังอำนาจในการป้องปรามของนาโต ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัสเซียและฝ่ายจีนต้องไม่ยอมพลาดและเข้าฉวยคว้าเอาไว้หาประโยชน์อย่างแน่นอน
สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute
ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
เชิงอรรถ
[1] https://substack.com/redirect/62b02b58-9c19-4dd8-9ea8-de2944d72290?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[2] https://substack.com/redirect/a18f7d5a-69c1-48cc-a9e9-b9b776b595ef?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[3] https://substack.com/redirect/51bb5397-1dbb-4b3b-a504-f6d961f41fe4?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[4] https://substack.com/redirect/546c6267-7ae9-4109-b02c-05c285dc65f4?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[5] https://substack.com/redirect/ac805489-0510-41f9-93b8-f55b48f80070?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[6] https://substack.com/redirect/44899f8e-d911-412b-b6ab-804035fcf943?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[7] https://substack.com/redirect/1def8ca6-2ba3-4296-9ae6-0a909d85c2d2?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[8] https://substack.com/redirect/2737ef2e-6b16-435b-ba6d-d686e6a91f94?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[9] https://substack.com/redirect/adb5434f-74d4-46c6-b812-a52551806f00?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw