xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ คาดหวังซัมมิตครั้งแรกในรอบปีกับ ‘สีจิ้นผิง’ ฟื้นการสื่อสาร-ยันไม่คิดตัดขาดเศรษฐกิจจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ขณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก ของนครซานฟรานซิสโก, สหรัฐฯ ในวันอังคาร (14 พ.ย.) เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่มเอเปก โดยมีกำหนดเจรจาหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในวันพุธ (15)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พบกับผู้นำจีน สี จิ้นผิง เป็นครั้งแรกในช่วงเวลา 1 ปีเมื่อวันพุธ (15 พ.ย.) เพื่อเจรจาหารือกันซึ่งอาจผ่อนคลายความไม่ลงรอยกันระหว่างอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นปรปักษ์กัน 2 รายนี้ ทั้งในด้านความขัดแย้งทางทหาร การค้ายาเสพติด และปัญญาประดิษฐ์ อย่างไรก็ดี ความแตกต่างกันที่มีอยู่อย่างมากมายของทั้งคู่น่าจะยังไม่มีการสมาน หรือลดทอนลงอย่างสำคัญใดๆ

พวกเจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความคาดหวังเอาไว้ต่ำ ขณะที่ไบเดนกับสีมีกำหนดเจรจาหารือกันทั้งเรื่องไต้หวัน ทะเลจีนใต้ สงครามอิสราเอล-ฮามาส สงครามยูเครน เกาหลีเหนือ และเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยในแต่ละหัวข้อเหล่านี้ผู้นำของทั้งสองประเทศไม่สามารถที่จะแก้ไขคลี่คลายความคิดเห็นที่ไปกันคนละทางมานานแล้ว

ไบเดน และสี ต่างเดินทางถึงนครซานฟรานซิสโกในวันอังคาร (14) อันเป็นสถานที่ซึ่งทั้งคู่กำหนดพบปะเจรจากันข้างเคียงการประชุมซัมมิตของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก)

ถึงแม้สถานที่พบหารือกันคราวนี้ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า จะมีขึ้นที่คฤหาสน์ฟิโลลี ในเมืองวูดไซด์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครซานฟรานซิสโกไปทางใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร โดยสถานที่นี้ได้รับการเลือกเฟ้นมาอย่างรัดกุม เนื่องจากมีบรรยากาศอันร่มรื่น ห่างไกลชุมชน และสะดวกในการรักษาความปลอดภัย

การประชุมสุดยอดระหว่างสีกับไบเดนคราวนี้ ซึ่งคาดหมายกันว่าอาจจะกินเวลาหลายชั่วโมง ถือเป็นการพบปะกันแบบตัวเป็นๆ ครั้งแรกระหว่างผู้นำสองชาติในรอบหนึ่งปี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่สีจะเดินทางถึงซานฟรานซิสโกที่มีเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง และนิโคลัส เบิร์นส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง ไปรอต้อนรับที่สนามบินไม่กี่ชั่วโมงนั้น ทางด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งปราศรัยกับบรรดารัฐมนตรีสมาชิกเอเปก ได้กล่าวย้ำว่า อเมริกาเชื่อมั่นในภูมิภาคที่ประเทศต่างๆ มีเสรีภาพในการเลือกเส้นทางของตนเอง มีการไหลเวียนของสินค้า แนวคิด และผู้คนอย่างถูกกฎหมายและเสรี

บลิงเคนไม่ได้เอ่ยชื่อจีนตรงๆ แต่ถ้อยคำที่ใช้สะท้อนจุดยืนของอเมริกาในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่วอชิงตันกล่าวหาจีนรังแกประเทศเล็กกว่าในภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯ พยายามเรียกเสียใหม่ว่าอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งพยายามบ่อนทำลายสิ่งที่อเมริกาและพันธมิตรเรียกว่า “ระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา” ขณะที่ปักกิ่งระบุว่าเป็นความพยายามที่จะรักษาฐานะความเป็นเจ้าเหนือกว่าใครๆ ในโลกเอาไว้ของอเมริกา

ด้าน แคเทอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่กล่าวในระหว่างเปิดประชุมรัฐมนตรีเอเปกเช่นเดียวกับบลิงเคน สำทับว่า การประชุมนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนและความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก และตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานเปราะบาง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง

ก่อนหน้านี้ ไบเดนกล่าวว่า ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์และฟื้นการสื่อสารระดับปกติกับจีน ซึ่งรวมถึงการติดต่อระหว่างกองทัพ

จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ไบเดนและสีจะหารือเกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งในกาซา รวมถึงความพยายามของอเมริกาในการสนับสนุนยูเครนในการสู้รบกับกองทัพรัสเซียด้วย

แต่เศรษฐกิจจะเป็นประเด็นสำคัญในการหารือ โดยไบเดนกล่าวว่า อเมริกาไม่ต้องการตัดขาดจากจีน แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ คณะบริหารของสหรัฐฯ ได้ผลักดัน “การตัดความเสี่ยง” ของห่วงโซ่อุปทานสำคัญของอเมริกาจากจีนขณะที่สองประเทศแข่งขันกันทางเศรษฐกิจและการทหารมากขึ้น

สำหรับสีที่เล็งใช้เวทีเอเปกชักชวนต่างชาติเข้าลงทุนในจีนนั้น มีกำหนดพบกับผู้บริหารธุรกิจของอเมริการะหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำวันพุธ

ในทางกลับกัน ธุรกิจอเมริกันต้องการใช้โอกาสนี้รับฟังความคิดเห็นจากผู้นำจีนโดยตรง เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีดำเนินการในจีนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลงและความไม่แน่นอนจากการที่จีนออกกฎด้านความมั่นคงเพิ่ม

อนึ่ง ไบเดนนั้นระมัดระวังอย่างมากในการยืนยันกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงจีน ว่าอเมริกาไม่ต้องการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นแนวคิดที่สร้างความกังวลในหมู่หุ้นส่วนและพันธมิตรของอเมริกาว่าอาจบ่อนทำลายเศรษฐกิจโลก

จีนตัดการสื่อสารระหว่างกองทัพกับอเมริกา หลังจากแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ ในขณะนั้น เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

การฟื้นการติดต่อเป็นเป้าหมายหลักของอเมริกาเพื่อหลีกเลี่ยงการคำนวณผิดพลาดของกองทัพสองประเทศ

วอชิงตันยังหวังว่า จะยกระดับความร่วมมือกับปักกิ่งในการปราบปรามการผลิตยาเฟนทานิล ซึ่งเป็นยาบรรเทาปวดในกลุ่มโอปิออยด์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น และระบาดในอเมริกาโดยเฉพาะซานฟรานซิสโก

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น