ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาพันธมิตรเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งมาร่วมซัมมิต “กลุ่มเอเปก” ที่นครซานฟรานซิสโก อันเป็นสถานที่ซึ่งเขายังจะเข้าประชุมสุดยอดที่มีเดิมพันสูงกับ สี จิ้นผิง ประมุขแดนมังกร ในวันพุธ (15 พ.ย.) อย่างไรก็ตาม ความพยายามของผู้นำอเมริกันในการสร้างภาพลักษณ์ว่าเขาสามารถรวบรวมสร้างพลังสามัคคีเพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขาป่าวร้องว่าเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของแดนมังกร ดูจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จอะไรนัก
ไบเดนเดินทางถึงซานฟรานซิสโกเมื่อวันอังคาร (14 พ.ย.) เพื่อเป็นผู้นำการประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่อเมริการิเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้วภายใต้แนวคิดในการใช้การค้าดึงดูดประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกมาร่วมมือกัน
ทว่าทัศนะมุมมองสวยหรูดังกล่าวได้สูญสลายไปหมดแล้ว จากการก้าวผงาดขึ้นอย่างรวดเร็วของจีน และในช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมา คณะบริหารไบเดนได้ระดมออกมาตรการแซงก์ชันหลายระลอกใส่ปักกิ่ง ซึ่งวอชิงตันเวลานี้มองว่าเป็นผู้ท้าทายรายสำคัญที่สุดต่อตำแหน่งผู้นำโลกของอเมริกา
กระนั้น ทั้งวอชิงตันและปักกิ่งต่างแสดงความหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกันซึ่งมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากโอกาสที่ผู้นำแดนมังกรจะไปเยือนวอชิงตันย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ ในทางการเมือง แถมสหรัฐฯยังกำลังจะเข้าสู่ช่วงว้าวุ่นด้วยการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตลอดช่วง 1 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ เอเปกจึงกลายเป็นโอกาสพิเศษยิ่งสำหรับที่ สี จะพบกับ ไบเดน บนแผ่นดินอเมริกา
การพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองในวันพุธ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับจากซัมมิตจี20 ที่เกาะบาหลีเมื่อปีที่แล้ว ได้รับการคาดหมายว่า จะมีการหารือประเด็นขัดแย้งหลายอย่าง เช่น ไต้หวัน ซึ่งจีนถือมาโดยตลอดว่า เป็นดินแดนของตน และแสดงท่าทีไม่พอใจที่สหรัฐฯทำท่าเหมือนหนุนหลังการประกาศแยกตัวเป็นเอกราชของเกาะแห่งนี้
จูด แบลนเชตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) องค์กรคลังสมองชื่อดังในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า มีความเสี่ยงที่พวกผู้นำคนอื่นๆ ในซานฟรานซิสโก อาจเกิดความรู้สึกว่า เอเปกเป็นเพียง “การแสดงคั่นรายการ” ให้แก่การประชุมไบเดน-สี เท่านั้น
แต่เขาก็สำทับว่า แม้กระทั่งพวกประเทศที่กังวลอย่างมากเกี่ยวกับความก้าวร้าวของจีน ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันลึกซึ้งกับปักกิ่ง และอยากให้ความสัมพันธ์จีน-อเมริกามีเสถียรภาพมากกว่าอยู่ในภาวะสั่นคลอน
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ย.) ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของเอเปก โดยเรียกร้องให้กลุ่มความร่วมมือนี้กลับมามุ่งเน้นความสำคัญทางการคลังระยะยาวภายหลังหยุดชะงักลงจากวิกฤตโควิด-19 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันสำหรับประชาคมเอเชีย-แปซิฟกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติ
ไบเดน ซึ่งพยายามแสดงออกให้เห็นว่า เขานั้นแตกต่างตรงกันข้ามกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนหน้าเขา ที่ทำท่าจะกลายเป็นคู่แข่งชิงเก้าอี้ตัวนี้กับเขาอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2024 โดยขณะที่ทรัมป์เป็นผู้นิยมนโยบายแบบให้อเมริกาบุกหน้าไปคนเดียวแบบโดดเดี่ยว แต่เขามุ่งโฟกัสที่พลังอำนาจอันเกิดจากการจับมือรวมตัวกันกับเหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ชาติพันธมิตรสหรัฐฯที่เข้าร่วมประชุมซัมมิตเอเปกคราวนี้ด้วย มีอาทิ นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานิส ของออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วได้เดินทางไปเยือนทั้งวอชิงตันและปักกิ่ง ตลอดจนนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น และประธานาธิบดียูน ซ็อกยอล ของเกาหลีใต้
ก่อนบินไปซานฟรานซิสโก ไบเดนยังเปิดทำเนียบขาวต้อนรับประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย ขณะที่อเมริกาหาทางแข่งขันกับจีนในการเข้าถึงทรัพยากรนิกเกิลที่จำเป็นสำหรับการผลิตรถไฟฟ้า อันมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในแดนอิเหนา
อย่างไรก็ดี ไบเดนไม่สามารถหยุดพักจากเรื่องตะวันออกกลาง ที่ดูดกลืนเอาเวลาของเขาไปแทบทั้งหมดในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยที่ประธานาธิบดีวิโดโดของอินโดนีเซีย ซึ่งมีฐานะเป็นชาติมุสลิมรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รบเร้าสหรัฐฯให้ใช้ความพยายามมากขึ้นในการหยุดยิงเพื่อความโหดร้ายในกาซา
ในซัมมิตเอเปกครั้งนี้ เรื่องหนึ่งที่เตะตามากเป็นพิเศษได้แก่การที่เรื่องข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งเคยเป็นส่วนสำคัญของนโยบายการทูตของอเมริกา ตอนนี้กลับได้รับความสนใจน้อยมากในวอชิงตัน
ก่อนหน้านี้ ในยุคของทรัมป์ เขานำสหรัฐฯถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนหน้าเขา ขายไอเดียกับพันธมิตรเอเชียเพื่อแสดงความเป็นผู้นำของอเมริกา
มาถึงยุคไบเดน อเมริกาได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (ไอพีอีเอฟ) ที่มุ่งปรับปรุงมาตรฐานธุรกิจ แต่ไม่ครอบคลุมการเปิดช่องทางเข้าถึงตลาดเหมือนกับพวกข้อตกลงการค้าในอดีต
ทว่า จากที่คาดกันว่าในซัมมิตคราวนี้ ไบเดนจะสามารถประกาศความคืบหน้าของไอพีอีเอฟ แต่ล่าสุด เยลเลนแถลงออกตัวว่า ยังมีหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับประเด็นที่มีการถกเถียงมากที่สุดในกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งจะครอบคลุม 3 จาก 5 ชาติที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ อเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย ตลอดจนถึงออสเตรเลีย เกาหลีใต้ รวมทั้งอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่รวมจีน
ทั้งนี้ วุฒิสมาชิกเชอร์ร็อด บราวน์ จากเดโมแครต พรรคเดียวกับไบเดน ซึ่งประสบความลำบากในการหาเสียงให้ได้รับรับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งในปีหน้า ได้เรียกร้องก่อนการประชุมสุดยอดเอเปกว่า ข้อตกลงใดๆ ที่ไม่ได้มีการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานอย่างจริงจัง ถือเป็นข้อตกลงที่ไม่อาจยอมรับได้
(ที่มา: เอเอฟพี, เอเจนซีส์)