xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวถล่มต่อ!? สหรัฐฯ กดดัน UN หนุนอิสราเอลป้องกันตนเอง หลังขวางมติเรียกร้องหยุดยิงในกาซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ในวันเสาร์ (21 ต.ค.) เสนอร่างมติต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่า อิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตนเอง และเรียกร้องอิหร่านหยุดส่งออกอาวุธไปให้พวกนักรบก่อการร้ายที่กำลังคุกคามสันติภาพและความมั่นคงทั่วภูมิภาค หลังจากเมื่อช่วงกลางสัปดาห์อเมริกาเพิ่งขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้หยุดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์ไปหมาดๆ

เนื้อหาของร่างดังกล่าวที่พบเห็นโดยรอยเตอร์ เรียกร้องให้ปกป้องชีวิตพลเรือน ในนั้นรวมถึงพวกที่พยายามหลบหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัย เน้นว่ารัฐต่างๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ครั้งที่เป็นการตอบโต้ "การโจมตีก่อการร้าย" และเร่งเร้าให้ "เดินหน้าส่งมอบความช่วยเหลือไปยังฉนวนกาซาอย่างพอเพียงและไม่ติดขัดใดๆ"

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ มีแผนจะผลักดันร่างนี้เข้าสู่การโหวตหรือไม่ และเมื่อไหร่ แต่ทั้งนี้ เพื่อให้ผ่านความเห็นชอบ มติหนึ่งๆ จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างน้อย 9 เสียง และไม่ถูกวีโต้จากรัสเซีย จีน สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) สหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต้ขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้หยุดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์ เพื่อเปิดทางไหลบ่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา

ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ อ้างความชอบธรรมเกี่ยวกับการใช้สิทธิวีโต้ในวันพุธ (18 ต.ค.) โดยบอกกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าต้องการเวลาเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการด้านการทูตในภาคสนาม ในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ เดินทางเยือนภูมิภาคดังกล่าว มุ่งเน้นเป็นคนกลางเจรจาเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าสู่ฉนวนกาซา และพยายามปล่อยตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป

ฮามาสปล่อยตัวประกันชาวสหรัฐฯ 2 รายในวันศุกร์ (20 ต.ค.) และขบวนรถบรรทุกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขบวนแรกเดินทางจากอียิปต์ถึงฉนวนกาซาแล้วในวันเสาร์ (21 ต.ค.)

อิสราเอล ประกาศกำจัดพวกนักรบฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซา หลังจากกลุ่มมือปืนของฮามาส ทะลวงข้ามแนวกั้นที่ล้อมรอบฉนวนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม บุกโจมตีอาละวาดตามเมืองต่างๆ ของอิสราเอล สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 1,400 ราย และลักพาตัวไปอีกนับร้อยชีวิต

นับตั้งแต่นั้น อิสราเอลก็เปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มฉนวนกาซา ปิดล้อมและกำลังเตรียมการยกพลบุกทางภาคพื้น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์เปิดเผยว่ามีประชาชนในฉนวนแห่งนี้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 4,000 คน ขณะที่สหประชาชาติคาดการณ์ว่ามีผู้คนต้องไร้ที่อยู่อาศัยไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคน

ร่างของสหรัฐฯ ไม่ได้เรียกร้องให้หยุดหรือขอให้มีข้อตกลงหยุดยิงใดๆ ในการสู้รบ โดยเพียงแต่ขอให้ทุกประเทศพยายามจำกัดวงความรุนแรงในฉนวนกาซา ไม่ให้ล้นทะลักออกมาหรือลุกลามสู่พื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค ในนั้นรวมถึงเรียกร้องให้พวกฮิซบอลเลาะห์และกลุ่มติดอาวุธอื่นหยุดการโจมตีทั้งหมด

พวกฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มนักรบติดอาวุธหนักในเลบานอน ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ได้เปิดฉากปะทะกับอิสราเอลหลายต่อหลายครั้งข้ามชายแดนเลบานอน นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา

ในมติในร่างโดยสหรัฐฯ เรียกร้องอิหร่านให้หยุดส่งออกอาวุธแก่กลุ่มต่างๆ ที่คุกคามสันติภาพและความมั่นคงทั่วภูมิภาค ในนั้นรวมถึงกลุ่มฮามาส ขณะที่คณะผู้แทนของอิหร่านประจำสหประชาชาติในนิวยอร์ก ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

อิหร่านให้การสนับสนุนฮามาสอย่างเปิดเผย โดยป้อนอาวุธและเงินทุนแก่นักรบกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มฮิสลามิก ญิฮาด องค์กรติดอาวุธปาเลสไตน์อีกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้แทนอิหร่านประจำสหประชาชาติ ยืนยันเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ว่าเตหะรานไม่เกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีอิสราเอล หนึ่งวันก่อนหน้านั้น

โธมัส-กรีนฟิลด์ บอกเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) ว่าสหรัฐฯ รู้สึกผิดหวังที่ร่างของบราซิล ไม่ได้พาดถิงสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล ส่วนร่างของสหรัฐฯ นั้น เน้นย้ำว่า อิสราเอลมีสิทธิดังกล่าวภายใต้มาตรา 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

มาตรการ 51 ครอบคลุมสิทธิของแต่ละรัฐและรัฐต่างๆ ร่วมกันในการปกป้องตนเองจากการโจมตีติดอาวุธ และรัฐต่างๆ เหล่านั้นจำเป็นต้องแจ้ง 15 ชาติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในทันที ต่อความเคลื่อนไหวใดๆ ที่ใช้ในการป้องกันตนเองจากการโจมตีติดอาวุธ

ในหนังสือที่ส่งถึงสหประชาชาติ ในวันเดียวกับที่ถูกฮามาสโจมตี ทางอิสราเอลแจ้งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าพวกเขาจะดำเนินการในแนวทางที่จำเป็นใดๆ เพื่อปกป้องพลเรือนและอธิปไตยจากการโจมตีก่อการร้ายที่มีต้นทางจากฉนวนกาซา "แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ขอใช้มาตรา 51 อย่างเป็นทางการ" คณะทูตระบุ

บรรดาชาติอาหรับโต้แย้งว่าจากการกระทำต่างๆ อิสราเอลไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในฐานะป้องกันตนเองได้ "ฉนวนกาซาคือดินแดนยึดครอง" เอกอัครราชทูตจอร์แดนประจำสหประชาชาติกล่าว อ้างถึงความเห็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศปี 2004 ต่อกำแพงกั้นของอิสราเอลที่สร้างรอบเขตเวสต์แบงก์ "เราขอย้อนความเห็นให้คำปรึกษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจากสิ่งนี้ อิสราเอลไม่มีสิทธิป้องกันตนเองภายในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง" เขากล่าวโดยพูดในนามของกลุ่มอาหรับ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น