xs
xsm
sm
md
lg

นักการทูตเตือน! สหรัฐฯ ขวางมติ UNSC จี้ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ หยุดยิงทำทั่วโลกเอือมระอา-เสี่ยงกระทบถึง ‘ยูเครน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักการทูตหลายคนเตือนสหรัฐฯ อาจสูญเสียความน่าเชื่อถือในการระดมความช่วยเหลือแก่ยูเครน หลังจากอเมริกา “วีโต” คัดค้านมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักให้แก่เสียงวิจารณ์โลกตะวันตกของฝ่ายรัสเซีย จีน และชาติกำลังพัฒนาบางประเทศ และอาจบั่นทอนความสามารถของสหรัฐฯ ในการอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมมาโน้มน้าวชาติอื่น

ย้อนไปเมือปี 2017 และ 2018 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยใช้สิทธิวีโตเพื่อปกป้องอิสราเอลมาแล้ว 2 ครั้ง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อแผนของวอชิงตันในการปฏิรูปคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น และต่อมาสหรัฐฯ ต้องล้มเลิกแผนดังกล่าวไปเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ

ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ใช้สิทธิวีโตร่างมติเรียกร้องการหยุดยิงระหว่างยิว-ปาเลสไตน์เมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) โดยให้เหตุผลต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นว่า จำเป็นต้องให้เวลาต่อความพยายามเจรจาทางการทูตมากกว่านี้ เนื่องจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างเยือนตะวันออกกลางเพื่อเจรจาขอเปิดเส้นทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสู่พลเรือนในกาซา และบีบให้ฮามาสปลดปล่อยตัวประกัน

เนต อีแวนส์ โฆษกของคณะผู้แทนสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ให้สัมภาษณ์วานนี้ (20) ว่าสหรัฐฯ “มีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความจำเป็นด้านมนุษยธรรมให้แก่พลเรือนในกาซา ตามที่ประธานาธิบดี ไบเดน และรัฐมนตรี บลิงเคน ได้เน้นย้ำระหว่างเดินทางเยือนตะวันออกกลาง”

แม้สหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จในการทำให้เวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็น 193 ประเทศโดดเดี่ยวรัสเซียจากการเปิดสงครามรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 แต่คนในแวดวงการทูตเตือนว่า หลังจากนี้สหรัฐฯ อาจต้องทำงานหนักขึ้นในการที่จะล็อบบี้ชาติอื่นๆ ให้เดินตามยุทธศาสตร์ของอเมริกา

“นานาชาติย่อมจะต้องนึกเปรียบเทียบการวีโตของสหรัฐฯ กับพฤติกรรมที่รัสเซียกระทำต่อยูเครน และเชื่อว่ามอสโกกับปักกิ่งจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตีสหรัฐฯ ทุกครั้งที่มีโอกาสแน่นอน”
ริชาร์ด โกวาน ผู้อำนวยการองค์กร International Crisis Group ให้ความเห็น

“ทุกคนทราบดีว่าอิสราเอลคือ ‘เคสพิเศษ’ สำหรับสหรัฐฯ แต่ครั้งนี้อเมริกาปัดตกร่างมติซึ่งมีเนื้อหาละมุนละม่อม และเน้นไปที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจริงๆ”
โกวาน กล่าว


ร่างมติดังกล่าวเรียกร้องให้อิสราเอลและฮามาสยุติความรุนแรง เปิดเส้นทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสู่ฉนวนกาซา และขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

โธมัส-กรีนฟิลด์ อ้างว่าสหรัฐฯ รู้สึก “ผิดหวัง” ที่ร่างมตินี้ไม่ได้เอ่ยถึงสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล และแม้จะยังเปิดกว้างสำหรับการลงมติในครั้งต่อๆ ไป แต่เธอย้ำว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ “จะต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกต้อง”

หลุยส์ ชาร์บอนโน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำยูเอ็น ระบุว่า “หากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต้องการทำให้ทั่วโลกเชื่อว่าพวกเขาจริงจังกับหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายสงคราม ซึ่งเป็นหลักการที่พวกเขายกมาอ้างอย่างถูกต้องกับกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนและฮามาสโจมตีอิสราเอล พวกเขาก็จะต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกันนี้กับกรณีที่อิสราเอลยิงโจมตีกาซาแบบไม่สนใจชีวิตพลเรือนด้วย"

เจฟฟรีย์ เฟลต์แมน อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ และยูเอ็นซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ของสถาบันบรุกกิงส์ ระบุว่า แม้ต้นตอของสงครามในยูเครนกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะ “มีข้อแตกต่างกันอยู่พอสมควร” แต่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการเปรียบเทียบ

“ในการตอกย้ำมุมมองของกลุ่มชาติ Global South เรื่องความ 2 มาตรฐานของอเมริกา จะมีอะไรดียิ่งไปกว่าการเปรียบเทียบเรื่องที่สหรัฐฯ ประณามรัสเซียว่าทำลายถิ่นฐานบ้านเรือนชาวยูเครน กับการที่อเมริกานิ่งเฉยเมื่อเห็นอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในกาซา?” เฟลต์แมน ตั้งข้อสังเกต

นักการทูตอาวุโสทั้งในแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง ต่างแสดงความกังวลคล้ายๆ กันที่สหรัฐฯ สำแดงความ 2 มาตรฐานออกมาอย่างชัดเจนด้วยการวีโตร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นในสัปดาห์นี้ และทั้งหมดขอที่จะให้ความเห็นแบบไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“พวกเขาสูญเสียความน่าเชื่อถือไปเยอะจากการวีโตครั้งนี้ สิ่งที่ดีสำหรับยูเครน แต่กลับไม่ดีสำหรับปาเลสไตน์ การวีโตของสหรัฐฯ กำลังบอกให้เรารู้ว่าชีวิตชาวยูเครนมีค่ามากกว่าชีวิตคนปาเลสไตน์” นักการทูตแอฟริกันคนหนึ่งให้ความเห็น

นักการทูตอาหรับอีกคนชี้ว่า กฎหมายระหว่างประเทศดูเหมือนกำลังถูก “เลือกใช้เป็นกรณีๆ ไป” โดยพวกชาติมหาอำนาจ

“เราไม่ควรที่จะออกมาเรียกร้องการปฏิบัติตามกฎบัตรยูเอ็นเพื่อปกป้องยูเครน แต่กลับละเลยเพิกเฉยกับกรณีปาเลสไตน์” นักการทูตผู้นี้กล่าว

“ความ 2 มาตรฐานแบบนี้ไม่เพียงไม่ยุติธรรม แต่จะทำให้โลกกลายเป็นสถานที่ที่อันตรายมากขึ้นด้วย”

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น