xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนยกหูคุยพันธมิตร พยายามยืนยันช่วยยูเครนต่อ เครมลินเยาะดรามาวอชิงตันทำตะวันตกถอดใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไบเดนยืนยันกับพวกชาติพันธมิตรสำคัญ อเมริกาจะยังคงสนับสนุนยูเครนต่อ แม้ดรามาการเมืองในวอชิงตันกำลังทำให้อนาคตความช่วยเหลือทางทหารล็อตใหม่ไร้ความแน่นอนก็ตาม ด้านเครมลินฉวยโอกาสฟันธงตะวันตกจะยิ่งเหนื่อยล้าจากสงครามเพิ่มมากขึ้นอีก

วันอังคาร (3 ต.ค.) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับเหล่าผู้นำชาติตะวันตกหลายคน เพื่อปลอบให้คลายความกังวล หลังจากงบความช่วยเหลือก้อนใหม่สำหรับยูเครนถูกตัดทิ้งจากข้อตกลงประนีประนอมในรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อช่วยให้รัฐบาลรอดพ้นจากการชัตดาวน์เมื่อวันเสาร์ (30 ก.ย.)

ทว่า ความหวังของไบเดนในการผลักดันให้สภาเร่งผ่านร่างกฎหมายช่วยยูเครนเป็นการเฉพาะ กลับริบหรี่ลงอย่างรวดเร็ว หลังจากเมื่อวันอังคาร ส.ส.สายแข็งของรีพับลิกันกลุ่มเดียวกับที่คัดค้านการให้เงินช่วยเหลือยูเครน ได้ร่วมกับฝ่ายเดโมแครตโหวตปลด เควิน แมคคาร์ธี พ้นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

เหตุการณ์วุ่นวายนี้ซึ่งจะทำให้งานนิติบัญญัติยิ่งล่าช้า ไบเดนได้แถลงเรียกร้องให้สภาล่างเร่งเลือกประธานคนใหม่โดยเร็ว เพื่อจัดการความท้าทายเร่งด่วนที่อเมริกากำลังเผชิญอยู่

ก่อนหน้านั้นผู้นำสหรัฐฯ โทรศัพท์คุยกับผู้นำประเทศพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น โปแลนด์ โรมาเนีย สหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส

ทำเนียบขาวแถลงว่า ไบเดนยืนยันความมุ่งมั่นของอเมริกาในการให้การสนับสนุนยูเครนไม่ว่านานเพียงใดก็ตาม ขณะที่ผู้นำชาติพันธมิตรแสดงความมุ่งมั่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวตอกย้ำสถานการณ์เร่งด่วนในเรื่องนี้ โดย จอห์น เคอร์บี้ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ เตือนว่า หากรัฐสภาสหรัฐฯ ยังไม่มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ เงินที่เหลืออยู่ขณะนี้สามารถช่วยยูเครนรบกับกองทัพรัสเซียได้อีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

เขายังสำทับว่า การขาดแคลนเงินช่วยเหลือไม่เพียงส่งผลร้ายต่อยูเครนในสนามรบ แต่ยังทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เชื่อว่า รัสเซียสามารถรอให้ตะวันตกถอดใจจากการช่วยเหลือยูเครนได้

ด้านเพนตากอนขานรับว่า สามารถตอบสนองความต้องการทางทหารของยูเครนนานกว่านั้นเล็กน้อย จากงบช่วยเหลือที่อนุมัติก่อนหน้านี้

หลังได้คุยกับไบเดน ประเทศพันธมิตรต่างออกมาแสดงท่าทีในทิศทางเดียวกับอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือยูเครนรายใหญ่ที่สุด

นับจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 วอชิงตันให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เคียฟแล้วกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์ และคองเกรสอนุมัติความช่วยเหลือทั้งหมดที่รวมถึงด้านมนุษยธรรม 113,000 ล้านดอลลาร์

สำนักงานของนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนีของอิตาลี แถลงว่า ไบเดนยืนยันกับพันธมิตรเกี่ยวกับการช่วยเหลือยูเครนอย่างต่อเนื่องหลังดรามาชัตดาวน์

ทางฝ่ายนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ของอังกฤษ ขอบคุณสำหรับการเป็นผู้นำของไบเดน และเสริมว่า การสนับสนุนของตะวันตกจะคงอยู่ต่อไปไม่ว่านานแค่ไหนก็ตาม

เจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการของนาโต ย้ำความสำคัญของการคงการสนับสนุนยูเครน และสำทับว่า เหล่าชาติสมาชิกแบ่งปันภาระอย่างเท่าเทียม

ด้านเครมลินฉวยจังหวะที่วอชิงตันกำลังวุ่นวาย ฟันธงว่า ตะวันตกจะเหนื่อยล้าจากสงครามมากขึ้นสืบเนื่องจากความไม่แน่นอนในการให้ความช่วยเหลือของอเมริกา

ขณะเดียวกัน ไบเดนโพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า บทบาทของอเมริกาในการเป็นประเทศที่โลกขาดไม่ได้ เวลานี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

ความช่วยเหลือสำหรับยูเครน กำลังกลายเป็นหมากสำหรับการต่อรองกันของฝ่ายต่างๆ ในวงการเมืองของอเมริกาไปแล้ว ขณะที่เหลือเวลาอีกปีกว่าๆ สหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมทั้งเลือกตั้งสภาล่างทั้งสภา และสมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสาม

เวลาเดียวกัน กระแสการคัดค้านความช่วยเหลือยูเครน ยังดูเหมือนแพร่ขยายจากกลุ่มนักการเมืองสายแข็งในรีพับลิกัน ไปถึงชาวอเมริกันจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งอีกด้วย

โดยผลสำรวจที่เอบีซี/วอชิงตัน โพสต์เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ก.ย. พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 41% เห็นว่า อเมริกาทำมากเกินไปแล้วในการสนับสนุนยูเครน เพิ่มขึ้นจาก 33% ในการสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ และ 14% เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

นอกจากนั้น ยังมีความไม่แน่ใจเพิ่มขึ้นในความเป็นเอกภาพของโลกตะวันตก หลังจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวสโลวะเกียเลือกพรรคของ โรเบิร์ต ฟิโก ผู้นำประชานิยมที่ประกาศจะยุติการให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน จนเข้าป้ายอันดับหนึ่งได้สิทธิในการจัดตั้งคณะรัฐบาลผสม

(ที่มา : เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น