xs
xsm
sm
md
lg

ความหายนะจากคำปราศรัยของ ‘โจ ไบเดน’ ที่ยูเอ็น เมื่อเขายืนกรานไม่ยอมประนีประนอมและไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆ ในเรื่องยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ขณะกล่าวปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ของยูเอ็น ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Biden UN speech: no Ukraine compromise, negotiation
By STEPHEN BRYEN
22/09/2023

ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า โจ ไบเดน จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งก็คือจะได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งหรือไม่ จากการยืนยันนโยบายที่แข็งกร้าวเกี่ยวกับยูเครน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไปกล่าวปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา คำปราศรัยดังกล่าวคือความหายนะ ยังไม่ต้องว่ากันถึงการพูดอ้อแอ้ไม่ชัดถ้อยชัดคำของท่านประธานาธิบดี แต่ข้อความที่ไบเดนต้องการป่าวประกาศก็คือว่า เมื่อเป็นเรื่องยูเครนแล้ว เขาจะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น

ต่อไปนี้คือสิ่งที่เขาพูดออกมา:

รัสเซียเชื่อว่าโลกจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ และจะยินยอมให้พวกเขากระทำกับยูเครนอย่างโหดร้ายทารุณโดยที่ไม่มีผลพวงต่อเนื่องใดๆ แต่ผมขอถามพวกคุณอย่างนี้ครับ: ถ้าหากพวกเราทอดทิ้งประดาหลักการที่เป็นแกนกลางของกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อประจบเอาใจผู้รุกรานรายหนึ่งแล้ว จะมีรัฐสมาชิกใดหรือไม่ที่สามารถรู้สึกมั่นอกมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง? ถ้าเราอนุญาตให้ยูเครนถูกตัดเฉือนแล้ว จะมีเอกราชของชาติใดบ้างที่ยังคงมีความมั่นคง?

คำตอบก็คือไม่มี พวกเราต้องยืนหยัดต่อสู้กับการก้าวร้าวรุกรานอย่างล่อนจ้อนเช่นนี้ของวันนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผู้ที่จะกลายเป็นผู้รุกรานขึ้นมาในวันพรุ่งนี้

นี่คือเหตุผลที่ทำไมสหรัฐฯ พร้อมกับเหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราตลอดทั่วโลก จะยังคงยืนหยัดอยู่กับประชาชนผู้กล้าหาญของยูเครนต่อไป ในขณะที่พวกเขาพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของพวกเขา –และเสรีภาพของพวกเขา


ด้วยการพูดบอกว่า สหรัฐฯ จะ “ไม่อนุญาตให้ยูเครนถูกตัดเฉือน” นี่ย่อมเท่ากับไบเดนกำลังประกาศว่าไม่มีทางที่จะมีการประนีประนอมในเรื่องดินแดนใดๆ ได้เลยเมื่อเป็นกรณีของยูเครน

ในความเป็นจริงแล้ว แผนสันติภาพทุกๆ แผนซึ่งเสนอกันออกมาจากฝ่ายต่างๆ จำนวนมาก ต่างมีการมองเอาไว้ล่วงหน้าว่าการประนีประนอมในเรื่องเกี่ยวกับดินแดนคือหนทางเพียงประการเดียวที่จะทำให้สามารถค้นพบทางออกเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทกันได้ แม้กระทั่งในข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Agreement) ทั้ง 2 ฉบับที่ยูเครนลงนามรับรองในปี 2014 และอีกครั้งหนึ่งในปี 2015 ก็ยังเปิดทางให้มีการประนีประนอมในเรื่องดินแดน

การปฏิเสธไม่ยินยอมให้มีการประนีประนอมในเรื่องดินแดน อันที่จริงก็เป็นข้อความที่รัสเซียเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีอยู่แล้ว รัสเซียกำลังสู้รบในสงครามยูเครนเวลานี้ ก็เนื่องจากว่า –ในทัศนะของพวกเขาแล้ว—พวกเขาต้องต้องการที่จะ (ก) พิทักษ์ปกป้องประชากรที่พูดภาษารัสเซียของยูเครน และ (ข) ขัดขวางไม่ให้นาโตเข้ามายุ่มย่าม

การที่นาโตจะมาปรากฏตัวอยู่ในยูเครน คือเรื่องที่ฝ่ายรัสเซียถือเป็นเส้นสีแดงอันตรายที่จะไม่ยินยอมให้บังเกิดขึ้น

ในเรื่องเกี่ยวกับข้อแรก นั่นคือ การพิทักษ์ปกป้องประชากรที่พูดภาษารัสเซีย นี่ย่อมครอบคลุมถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของยูเครนที่รัสเซียเพิ่งประกาศผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตนไปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ แคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริซเซีย และเคียร์ซอน สำหรับไครเมียนั้น รัสเซียได้ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่ามันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย และได้จัดให้มีการลงประชามติเพื่อรับรองการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแดนหมีขาว

หากพิจารณากันในทางปฏิบัติแล้ว มันไม่มีโอกาสเอาเลยที่ยูเครนจะมีความสามารถใดๆ ในการช่วงชิงส่วนสำคัญใดๆ ของพวกพื้นที่ซึ่งถูกประกาศผนวกแล้วเหล่านี้กลับคืนไป การสู้รบแทบทั้งหมดตามแนวเส้นปะทะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ยูเครนเริ่มเปิดการรุกตอบโต้ (เมื่อเดือนมิถุนายน) เป็นต้นมา อยู่ในลักษณะของการที่ฝ่ายยูเครนพยายามเจาะทำลายแนวป้องกันแนวแรกของรัสเซียซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์ป้องกันดินแดนเหล่านี้นั่นเอง ทุกวันนี้มีฉันทมติขึ้นมาแล้วว่า การรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนกำลังประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่มีความหมายใดๆ ได้เลย นอกหนือจากการเข่นฆ่าชาวยูเครนล้มตายไปเป็นหมื่นๆ คน และบดเคี้ยวความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ที่ได้มาจากฝ่ายตะวันตก

ไบเดน ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับนาโตและการเข้าเป็นสมาชิกของยูเครน ถึงแม้สำหรับรัสเซียแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวนี่คือเส้นสีแดงอันตรายที่จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นมา และมันเป็นเพราะการที่นาโตสร้างกองกำลังอาวุธของยูเครนนั่นแหละซึ่งจุดชนวนให้รัสเซียตัดสินใจเข้ารุกรานในตอนแรกสุด ฝ่ายรัสเซียนั้นได้ออกคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าถึงสหรัฐฯ และนาโตในเรื่องอันตรายของการปรากฏตัวของนาโตในยูเครน จวบจนกระทั่งในครั้งท้ายๆ ก็คือก่อนที่กองทัพรัสเซียจะเคลื่อนพลข้ามเข้าสู่ดินแดนของยูเครนเพียงแค่เดือนเศษๆ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ และนาโตเอาแต่ปฏิเสธไม่ยอมหารือใดๆ กับรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้

ยูเครนยังไม่ได้ถูกบรรจุเข้าไปในนาโตอย่างเป็นทางการ เหตุผลสำคัญที่สุดก็เนื่องจากยังมีรัฐสมาชิกนาโตบางรายคัดค้านแนวความคิดเช่นนี้ –โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี พวกเขาคัดค้านเพราะมองเห็นว่าถ้ายูเครนถูกใส่เข้าไปในนาโต รัสเซียก็จะเข้าโจมตีนาโตโดยตรงเลย มองข้ามไม่สนใจพวกยูเครนที่น่ารำคาญ และนี่ย่อมหมายถึงการเกิดสงครามขึ้นมาในยุโรป

ไบเดน ไม่ได้อภิปรายถึงกระบวนการสันติภาพใดๆ เลยนอกเหนือจากบอกว่ารัสเซียสามารถกระทำตามสิ่งที่ เซเลนสกี เรียกร้อง ซึ่งได้แก่การถอนตัวออกไปจากดินแดนของยูเครน และยอมรับให้พวกผู้นำทางทหารและพลเรือนของตนถูกลงโทษแต่โดยดีในข้อหาประกอบอาชญกรรมสงคราม

เวลาเดียวกันนั้น สหรัฐฯ และพวกพันธมิตรก็กำลังทำงานอย่างชนิดล่วงเวลาเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัสเซีย ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการโจมตีจากยูเครนเข้าใส่ดินแดนของรัสเซีย การลอบสังหารและการก่อเหตุระเบิดในรัสเซีย ตลอดจนการก่อวินาศกรรมภายในดินแดนรัสเซีย มาตรการเหล่านี้จุดชนวนให้มีเสียงเรียกร้องขึ้นภายในรัสเซียให้ใช้ระเบิดนิวเคลียร์เสียเลยเพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการปิดฉากสงครามยูเครนและลบยูเครนให้หายไปจากแผนที่

เวลานี้รัสเซียยังคงสร้างสมกำลังทหารของตนต่อไป โดยรวมถึงการขยายกองทัพและการผลิตอาวุธตลอดจนเครื่องกระสุนเพิ่มมากขึ้น การที่นาโต และสหรัฐฯ ให้ความสนับสนุนอย่างมโหฬารแก่ยูเครนได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ในยุโรป จากทัศนะมุมมองของฝ่ายรัสเซียแล้ว พวกเขาเห็นว่ารัสเซียกำลังเกี่ยวข้องพัวพันทำสงครามกับนาโต โดยที่นาโตกำลังใช้ยูเครนเป็นตัวแทน

โชคร้ายอยู่ตรงที่ว่า มันมีวันซึ่งไปถึงจุดที่ว่าตัวแทนทำงานล้มเหลว และพวกที่คอยหนุนหลังการทำสงครามอยู่ ตัดสินใจกรีฑาทหารของพวกเขาเองเข้าสู่แนวหน้า เวลานี้มี “ที่ปรึกษา” ชาวนาโตอยู่ในยูเครนเรียบร้อยแล้ว แบบเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยมี “ที่ปรึกษา” ชาวสหรัฐฯ อยู่ในเวียดนามก่อนที่สหรัฐฯ จะส่งนาวิกโยธินและกองทัพบกเข้าไปอย่างเต็มตัว

ถ้าหาก ไบเดน ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง มันก็แทบจะเป็นเรื่องแน่นอนทีเดียวที่เขาจะจัดส่งกองทหารสหรัฐฯ เข้าไป เพื่อพยายามและ “รักษา” ยูเครนให้อยู่รอด ทว่าการกระทำเช่นนี้ย่อมจะหมายถึงสงครามในยุโรป

ยานเกราะจำนวนมากที่ว่ากันว่าเป็นอาวุธที่กองทัพยูเครนเพิ่งได้รับจากฝ่ายตะวันตกมาหมาดๆ ถูกทำลายยับเยิน ณ สถานที่ซึ่งไม่มีการระบุชัดเจน ทางภาคใต้ของแคว้นโดเนตสก์ ในภาพนิ่งถ่ายจากคลิปซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2023 โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย
สถานการณ์ในยูเครนเวลานี้มีความเสี่ยงสูงมาก ยูเครนตอนแรกพ่ายแพ้ต้องสูญเสียเมืองบัคมุต แล้วเวลานี้พวกเขายังกำลังพ่ายแพ้ในการรุกตอบโต้ของพวกเขา ยูเครนเวลานี้กำลังนำเอามาตรการเข้มๆ โหดๆ มาใช้ เพื่อกะเกณฑ์ชาย (และหญิง) ให้เข้าเป็นทหารทำหน้าที่สู้รบ ทว่าก็มีแรงต่อต้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ถ้าหากรัสเซียตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดการรุกใหญ่ของพวกเขาเองขึ้นมา ยูเครนก็จะต้องพังครืน

บางทีฝ่ายรัสเซียอาจจะอยู่ระหว่างการคำนวณว่า พวกเขายังจำเป็นต้องเปิดการปฏิบัติการรุกขนาดใหญ่ใดๆ อีกหรือไม่ นอกเหนือจากการป้องกันอย่างแข็งขันที่พวกเขากำลังดำเนินการอยู่ ส่วนหนึ่งของการคำนวณนี้ก็คือการพิจารณาความเข้มแข็งที่ยังเหลืออยู่ของกองทัพยูเครน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการคำนวณทางการเมือง ถ้าหากไบเดนประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปีหน้า ประตูก็อาจจะเปิดกว้างออกมาสำหรับการเข้าเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายรัสเซียบอกว่าพวกเขาต้องการ

สำหรับในเฉพาะหน้านี้ หนึ่งในคำถามที่ยังไม่มีคำตอบก็คือว่า รัสเซียสามารถยอมรับให้ดินแดนของตนเองถูกโจมตีไปได้อีกนานแค่ไหน การโจมตีเหล่านี้มีแง่มุมซึ่งเป็นประโยชน์แก่ปูติน เพราะมันช่วยเหลือเขาในทางการเมือง ทำให้ได้รับความสนับสนุนจากชาวรัสเซียสำหรับ “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน สหรัฐฯ นั้นต้องการให้ยกระดับการโจมตีเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีก อย่างที่ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ซึ่งปัจจุบันครองตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ พูดเอาไว้อย่างชัดเจน แต่มาตรการเหล่านี้จะไม่สามารถปราบปรามชาวรัสเซียให้เชื่องเชื่อ ตรงกันข้าม ฝ่ายรัสเซียกระทั่งจะยิ่งกดดันใส่ยูเครนเพิ่มมากขึ้น และอาจจะเริ่มโจมตีทรัพย์สินของสหรัฐฯ และของนาโตในที่อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ยูเครน

เป็นโชคร้ายที่คำปราศรัยของไบเดนคือความหายนะ เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองซึ่งต้องการค้นหาหนทางออกอย่างสันติให้แก่ยูเครน บางทีคำปราศรัยนี้มีความตั้งใจที่จะพึ่งพาอาศัยมันมาช่วยเหลือการลงรับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งของเขา ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในการใช้จุดยืนแบบพวกสายแข็งกร้าวในเรื่องยูเครน

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น