xs
xsm
sm
md
lg

หนาวๆ ร้อนๆ! อดีต CIA เตือนเป็นไปได้ กองทัพยูเครนก่อรัฐประหารโค่นอำนาจเซเลนสกี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความล้มเหลวในสมรภูมิรบอาจผลักดันให้กองทัพยูเครน เคลื่อนไหวก่อรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี จากความเห็นของ แลร์รี จอห์นสัน อดีตนักวิเคราะห์ของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ)

จอห์นสัน ให้สัมภาษณ์กับพิธีกร เคลย์ตัน มอร์ริส ผ่านช่องยูทูบ Redacted ที่โพสต์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกว่า "มีความเป็นไปได้ที่ เซเลนสกีอาจถูกขับไล่ในการรัฐประหารภายใน 3 หรือ 4 สัปดาห์ข้างหน้า เพราะว่ามีความไม่พอใจอย่างรุนแรงในหมู่นายทหารในแนวหน้าทางตะวันออก"

กองทหารยูเครนที่ได้รับการฝึกฝนจากตะวันตก รวมถึงยานเกราะและรถถังที่ได้รับมอบจากนาโต ได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ในแคว้นซาโปริซเซีย มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน แต่ยังคงล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายฝ่าแนวป้องกันใดๆ และเวลานี้มันอยู่ในจุดที่สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรแสดงออกถึงความผิดหวังอย่างเปิดเผยต่อกลยุทธ์ของยูเครน

จอห์นสัน ไม่ใช่นักวิเคราะห์อเมริกันรายแรกที่คาดเดาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่กองทัพยูเครนจะหันหลังให้เซเลนสกี โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน สกอตต์ ริตเตอร์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ บอกว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละครั้งที่กองทหารของยูเครนถูกทำลาย

"เราอาจไปถึงช่วงเวลาแบบเดียวกับเมื่อครั้ง เคเรนสกี 1917 จุดที่กองทัพบอกว่า เราจบแล้ว" ริตเตอร์กล่าวกับ จอร์จ กัลโลเวย์ พิธีกรผ่านช่องยูทูบ ซึ่งความคิดเห็นของเขาถูกนำไปรายงานบนเว็บไซต์ข่าวชื่อดังอย่างโพลิติโกเช่นกัน ในขณะที่โพลิติโกคาดการณ์ไปถึงขั้นที่ว่าใครจะก้าวมาบริหารยูเครน หากว่ารัสเซียลอบสังหารเซเลนสกี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ริตเตอร์ มองว่ารัสเซียไม่น่าจะมีความตั้งใจไล่ล่าเซเลนกสี และผู้นำรายนี้อาจโดนยึดอำนาจโดยกองทัพ และถูกแทนที่ด้วยใครบางคนที่มีแนวคิดแข็งกร้าวมากกว่าเดิม

จอห์นสัน แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยในทิศทางความขัดแย้งที่กำลังเป็นไป ความอยู่รอดของยูเครนในฐานะประเทศหนึ่ง "กำลังอยู่ภายใต้ความสงสัยใหญ่หลวง" เคียฟต้องพึ่งพิงตะวันตกหมดทุกอย่าง และความต้องการของพวกเขามีแต่จะมากขึ้น เนื่องจากศักยภาพต่างๆ ของพวกเขาจะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ

อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอระบุต่อว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในความขัดแย้งนี้คือล่อรัสเซียเข้าสู่สงครามที่ไม่สามารถเอาชนะได้ และชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในมอสโก ทว่า "มันกลับเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนแทน" และวอชิงตันจะต้องคิดคำนวณหาทางล่าถอยออกจากความขัดแย้งนี้ เพราะว่าพวกเขาประเมินความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางการทหารของรัสเซียต่ำเกินไป

เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เคยหยิบยกเหตุผลคล้ายกันเมื่อช่วงต้นเดือน โดยให้สัมภาษณ์ว่าพวกนายหัวตะวันตกของยูเครน ต่อหน้าสาธารณะแล้วรับปากจะสู้จนเหลือชาวยูเครนคนสุดท้าย แต่หากดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พวกเขามักทอดทิ้งเหล่าพันธมิตรและตัวแทนอยู่ตลอด ไล่ตั้งแต่เวียดนามใต้ ไปจนถึงรัฐบาลของอัสราฟ กานี ในอัฟกานิสถาน ปี 2021

ท่ามกลางความกังวลของตะวันตกเกี่ยวกับความชอบธรรมของผู้นำยูเครน หากว่าเขายกเลิกศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ทาง เซเลนสกี เสนอเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง แต่มีเงื่อนไขที่ว่าตะวันตกต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

ผู้นำยูเครนยังส่งเสียงแสดงความกังวลหากตนเองอาจถูกทอดทิ้งโดยตะวันตก หากว่ายูเครนทำเลยเถิดในการโจมตีรัสเซีย ทว่านับตั้งแต่นั้นผู้ช่วยรายหนึ่งของเขาออกมาโต้แย้งว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรให้การสนับสนุนพวกเขาสำหรับโจมตีดินแดนต่างๆ ที่ถูกยึดครอง ได้แก่ แคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริซเซียและเคียร์ซอน และรวมถึงแคว้นไครเมีย ที่ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014 ด้วย

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น