ฟิทช์ หนึ่งในสถาบันเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่ระดับโลก ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จากท็อปสุดคือ ‘AAA’ ลง 1 ขั้น สู่ระดับ 'AA+' ในวันอังคาร (1 ส.ค.) โดยหยิกยกเรื่องที่รัฐบาลกลางอเมริกันมีภาระหนี้สินหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเกิด “ความเสื่อมทรุดด้านธรรมาภิบาล” ที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งระหว่างเกิดการเผชิญหน้ากันในหมู่นักการเมืองสหรัฐฯ เกี่ยวกับข้อจำกัดด้านหนี้สินของประเทศ
การตัดสินใจของฟิทช์คราวนี้ เรียกเสียงคัดค้านอย่างเดือดดาลจากทำเนียบขาว โดย คารีน ฌอง-ปิแอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชน บอกว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวที่สวนทางกับความเป็นจริง ส่วนเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุในการแถลงแยกต่างหาก เน้นย้ำว่าเธอไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับฟิทช์เช่นกัน และเรียกความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็นการทำตามอำเภอใจและอิงอยู่กับข้อมูลเก่าล้าสมัย
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ทศวรรษ ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อรายหลักรายหนึ่งของโลก ประกาศปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ ปัญหาความชะงักงันในการขยายเพดานหนี้ของอเมริกาเมื่อปี 2011 ได้ทำให้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อ AAA ของวอชิงตันมาแล้ว เรียกเสียงเดือดดาลจากทั้งทางพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน กระนั้น เอสแอนด์พี ยังคงยืนเรตติ้งของสหรัฐฯ อยู่ที่ AA+ มาจนถึงเวลานี้
"อันดับความน่าเชื่อที่ถูกปรับลดของสหรัฐฯ สะท้อนความคาดหมายที่ว่าจะเกิดภาวะทรุดถอยทางการคลังในระยะ 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ภาระหนี้สินของรัฐบาลจะอยู่ในระดับสูงและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเกิดความเสื่อมถอยมากขึ้นในธรรมาภิบาล” เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน ฟิทช์ เรตติ้งระบุในคำแถลงที่เผยแพร่ในวันอังคาร (1)
ทางด้านเยลเลน โต้แย้งว่าโมเดลเรตติ้งเชิงปริมาณของฟิทช์ แสดงให้เห็นความเสื่อมถอยในช่วงปี 2018 ถึงปี 2020 แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้กลับเพิ่งแถลงปรับลดอันดับในตอนนี้ ทั้งๆ ที่มีเครื่องบ่งชี้ต่างๆ แสดงถึงการกระเตื้องขึ้นแล้ว นอกจากนี้ เธอยังอ้างอีกว่า "พันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องอย่างโดดเด่นเหนือใครๆ รวมทั้งเศรษฐกิจอเมริกามีความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับรากฐาน"
อันที่จริง ฟิทช์เรตติ้งได้ส่งสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้นำเครดิตเรตติ้งของสหรัฐฯ เข้าสู่เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative) เพื่อสะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่กำลังมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจขยายเพดานหนี้ ขณะที่เส้นตายที่สหรัฐฯ อาจตกอยู่ในภาวะผิดนัดชำระหน้ากำลังคืบคลานเข้ามา
แม้ต่อมา 2 พรรคใหญ่ในรัฐสภาอเมริกันสามารถทำข้อตกลงกันได้ และหลีกเลี่ยงความหายนะจากการผิดนัดชำระหนี้ แต่ฟิทช์ยังคงสถานะสหรัฐฯ ในเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบเอาไว้
"ในมุมมองของฟิทช์ มีความเสื่อมทรามลงอย่างต่อเนื่องในมาตรฐานของธรรมาภิบาลตลอดช่วง 20 ปีหลังสุด ในนั้นรวมถึงประเด็นทางการคลังและหนี้สินด้วย" สถาบันแห่งนี้ระบุ "การเผชิญหน้าทางการเมืองเกี่ยวกับเพดานหนี้ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการออกจากปัญหาในนาทีสุดท้ายได้กัดเซาะความเชื่อมั่นในเรื่องการบริหารจัดการทางการคลัง" ของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ คำแถลงนี้ของฟิทช์ยังอ้างถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ปราศจากกรอบการทำงานด้านการคลังในระยะกลาง และมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมและโปรแกรมประกันสุขภาพของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรก็สูงวัยขึ้นเช่นกัน
สำหรับปฏิกิริยาของพวกนักวิเคราะห์ตลอดจนนักลงทุน หลายๆ คนเห็นด้วยว่าเรื่องหนี้สินของสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องที่จะปล่อยเอาไว้ไม่ได้ เป็นต้นว่า สตีเวน ริชชิอูโต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ของมิซูโฮ ซีเคียวริตีส์ ยูเอสเอ บอกว่า ความเคลื่อนไหวคราวนี้ของ ฟิทช์ “บอกกับคุณว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นเป็นปัญหา”
ทว่าส่วนใหญ่แล้วไม่คิดว่าความเคลื่อนไหวของฟิทช์จะส่งผลกระทบในระยะยาวอะไรนัก
“ผมไม่คิดว่าคุณกำลังจะได้เห็นพวกนักลงทุนจำนวนมากมายเลย โดยเฉพาะพวกที่ใช้ยุทธศาสตร์การลงทุนแบบมองระยะยาว จะออกมาบอกว่าผมควรต้องขายหุ้น (ในสหรัฐฯ) ได้แล้ว เพราะฟิทช์ ลดเรตติ้งพวกเราจาก AAA ลงมาเหลือ AA+” นี่เป็นความเห็นของเจสัน แวร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ แอลเบียน ไฟแนนเชียล กรุ๊ป
เช่นเดียวกับ เรย์มอนด์ เจมส์ นักวิเคราะห์แห่ง เอด มิลส์ ที่กล่าวว่า ไม่คาดหมายว่าตลาดจะแสดงปฏิกิริยาอย่างสำคัญอะไรนักต่อข่าวนี้
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)