ฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับโครงการเปิดสำนักงานประสานงานของนาโต (องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ในญี่ปุ่น โดยชี้ว่าทางพันธมิตรทหารกลุ่มนี้ไม่ควรขยายขอบเขตออกมาไกลเกินกว่าแอตแลนติกเหนือ ตามรายงานของโพลิติโก เว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯ อ้างอิงคำบอกเล่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของทำเนียบประธานาธิบดีแดนน้ำหอม
"นาโตหมายถึงองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ" เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวบอกกับสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ (7ก.ค.) ตามรายงานของโพลิติโก ในช่วงสุดสัปดาห์ พร้อมส่งเสียงเตือนคัดค้านการทำให้เส้นกั้นดังกล่าวจางลง และเน้นย้ำว่าแม้กระทั่งมาตรการ 5 ในสนธิสัญญาของกลุ่ม ก็อ้างอิงอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของพื้นที่แอตแลนติกเหนือ
ในเดือนพฤษภาคม โคจิ โทมิตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐฯ เปิดเผยว่าญี่ปุ่นกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดสำนักงานประสานงานของนาโตในกรุงโตเกียว ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์ประสานงานแห่งแรกของพันธมิตรทหารแห่งนี้ในเอเชีย โครงการนี้มีการหารือเป็นระยะๆ มาตั้งแต่ปี 2007 ครั้งที่ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นเดินทางเยือนสำนักงานใหญ่ของนาโต และเรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
"เราไม่เห็นด้วย เนื่องจากมันเป็นประเด็นของหลักการ" เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสระบุ "ในเรื่องเกี่ยวกับสำนักงานประสานงานที่ว่านี้ ทางพวกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเองก็ได้บอกเราด้วยตัวเองว่า ไม่ได้ยึดติดอะไรเกี่ยวกับมันมากนัก"
อ้างอิงจากรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เชื่อเป็นการส่วนตัวว่ากฎบัตรของนาโตได้กำหนดข้อจำกัดต่างๆ ด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งห้ามนาโตจากการขยายขอบเขตไปยังเอเชีย
โตเกียวเพิ่มความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทหารแห่งนี้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และได้เปิดสำนักงานสาขาประจำนาโตแห่งแรกในบรัสเซลส์ ปี 2018
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอ คิชิดะ กลายเป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่เข้าร่วมประชุมซัมมิตนาโตเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ญี่ปุ่น เช่นเดียวกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมซัมมิตประจำปี 2023 เช่นกัน ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเมืองหลวงของลิทัวเนีย ระหว่างวันที่ 11 และ 12 กรกฎาคมนี้
คำเชิญดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ส่งสัญญาณแสดงความสนใจในอินโด-แปซิฟิก เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จีนคัดค้านการขยายขอบเขตของนาโต อ้างว่าทางกลุ่มควรจำกัดวงอยู่ในขอบเขตอิทธิพลของตนเอง และไม่ควรหาทางยกระดับการปรากฏตัวในเอเชีย โดยระบุว่าภูมิภาคแถบนี้ "ไม่ต้อนรับกลุ่มแห่งการเผชิญหน้าหรือกลุ่มพันธมิตรทหารใดๆ"
รัสเซียซึ่งคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อการขยายขอบเขตในยุโรปตะวันออกของนาโต ก็วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรทหารแห่งนี้ที่พยายามยกระดับความเคลื่อนไหวต่างๆ ในเอเชีย โดยเมื่อเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บอกว่าความพยายามผลักดันก่อตั้งสิ่งที่เขาเรียกว่า "นาโตโลก" ของสหรัฐฯและพันธมิตร ย้อนให้นึกถึงการกระทำของนาซีเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษ 1930 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้น
(ที่มา : โพลิติโก/อาร์ทีนิวส์)